Diamond Understanding : 4Cs - Clarity
เนื่องจากลักษณะสำคัญของอัญมณีแท้ตามธรรมชาติ คือ ไม่มีอัญมณีใดที่เหมือนกันทุกประการและไม่มีอัญมณีใดที่มีความสมบูรณ์ (perfect) 100% โดยปราศจากมลทินและตำหนิ clarity จึงใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาจากความชัดเจน ความมากน้อยของตำหนิภายนอก (blemish) เช่นรอยขีดข่วน (scratch) รอยบิ่น (nick) เป็นต้น หรือมลทินที่อยู่ในเพชร (inclusion) ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จะต้องใช้กล้องที่มีกำลังขยาย 10 เท่าเป็นเกณฑ์ ดังนั้นหากเพชรที่มี clarity ในระดับที่มองเห็นได้ยากด้วยกล้องกำลังขยาย 10 เท่า ก็ถือว่าอยู่ในระดับดีเยี่ยม
การแบ่งระดับ clarity ของเพชร GIA ได้กำหนดไว้ 10 ระดับ ดังนี้
Flowless (FL) - เป็นเพชรชั้นยอด ไม่มีตำหนิหรือมลทินใดๆในทั้งเนื้อเพชรและผิวของเพชร
Internally Flawless (IF) - ไม่มีสามารถเห็นมลทินภายในใดๆได้ แต่อาจจะมีตำหนิภายนอกเล็กน้อย
Very Very Small Inclusions (VVS1 / VVS2) - เป็นระดับของเพชรที่มีมลทินในเนื้อเพชรและตำหนิภายนอกที่เห็นได้ยากมากๆภายใต้กล้องกำลังขยาย 10 เท่า จำแนกออกเป็นระดับ 1 และ 2 ตามลำดับ หากตำหนิน้อยมากจะใช้ VVS1 หากตำหนิที่สามารถเห็นได้ชัดมากขึ้นจะใช้ VVS2
Very Small Inclusions (VS1 / VS2) - เป็นระดับของเพชรที่มีมลทินในเนื้อเพชร เช่น crystal cloud feather เป็นต้น และตำหนิภายนอกที่มองเห็นได้ยากภายใต้กล้องกำลังขยาย 10 เท่า ตำหนิและมลทินสามารถเห็นได้ชัดเจนมากกว่าระดับ VVS และอาจมีสีต่างๆในเนื้อของมลทินที่สามารถมองเห็นได้
Small Inclusions (SI1 / SI2) - เป็นระดับของมลทินที่สามารถมองเห็นได้ทันทีภายใต้กล้องกำลังขยาย 10 เท่าและบางกรณีสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่จะมีขนาดที่เล็กอาจจะต้องสังเกต หรือใช้กระดาษขาวทาบและมองกับแสงไฟจึงเห็นชัดขึ้น ตำหนิภายในที่พบ ได้แก่ cloud feather crystal knot cavities
Inclusion or Imperfect (I1 / I2 / I3) - I1 และ I2 จะสามารถเห็นมลทินได้ชัดเจนภายใต้กล้องกำลังขยาย 10 เท่า และสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ส่วน I3 จะเห็นมลทินที่ชัดเจนมากได้ด้วยตาเปล่า เช่น feather และผลึกขนาดใหญ่
ประโยชน์ของ Inclusion
แม้ว่า inclusion จะทำให้คุณภาพและมูลค่าของเพชรลดลง แต่ inclusion บางชนิดก็มีประโยชน์ในการช่วยจำแนกเพชรแต่ละเม็ด เนื่องจากไม่มีเพชรแท้เม็ดใดในโลกที่จะมีลักษณะเหมือนกันทุกประการ นอกจากนี้ inclusion บางชนิดยังทำให้นักอัญมณีศาสตร์สามารถทราบการเกิดของเพชรเม็ดนั้นๆได้อีกด้วย
อ้างอิง : Universico, GIA
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน 3.0 ประเทศไทย.หากต้องการใช้บทความนี้เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าหรือมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆก็ตาม กรุณาติดต่อ gemclubcmu@gmail.com ค่ะ