พลอยประจำเดือนเกิด ธันวาคม - เทอร์ควอยซ์ (Turquoise)
เทอร์ควอยซ์ หรือ พลอยสีขี้นกการเวก จัดเป็นอัญมณีประเภทหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักและมีการใช้กันอย่างแพร่หลายนับตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ (3000 ก่อนคริสตกาล) เป็นอัญมณีชนิดแรกๆ ของโลกที่มีการทำเหมืองมากว่า 3 พันปี โดยเฉพาะจากเปอร์เซีย หรือประเทศอิหร่าน ที่ในปัจจุบันจัดว่าเป็นเทอร์ควอยซ์ที่มีคุณภาพสูง และถูกนำเข้าสู่ทวีปยุโรปผ่านทางประเทศตุรกี (Turkey) Turquoise จึงมีรากศัพท์มาจากคำว่า "Turkish" นั่นเอง มีความเชื่อว่าผู้ที่สวมใส่เทอร์ควอยซ์จะไม่ถูกสัตว์มีพิษกัด ถ้าผูกเทอร์ควอยซ์ติดกับธนูจะทำให้ล่าสัตว์ได้ดีขึ้น ป้องกันการตกจากหลังม้า และสามารถบำบัดโรคตาได้ ถ้ามอบเทอร์ควอยซ์เป็นของขวัญ พลังอำนาจของเทอร์ควอยซ์จะเพิ่มขึ้น ดลบันดาลให้ผู้รับมีความสุข
ประมาณก่อนสมัยคริสต์ศักราช 5500ปี ชาวอียิปต์นำเทอร์ควอยซ์มาสวมใส่เป็นเครื่องประดับส่วนชาวอินเดียนแดงในอเมริกาได้นำเอาเทอร์ควอยซ์มาเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนและเป็นเครื่องประดับ ตำแหน่งหัวหน้าเผ่าอินเดียนแดงที่ยิ่งใหญ่เป็นผู้มีอำนาจมากก็จะประดับเทอร์ควอยซ์ที่มีคุณภาพสูง และยังมีความเชื่อถืออีกอย่างของชนเผ่าอินเดียแดงคือ การนำเอาเทอร์ควอยซ์ไปภาวนากับแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์พร้อมกับ โยนเทอร์ควอยซ์ลงในแม่น้ำจะนำฝนมาให้
นอกจากนี้เทอร์ควอยซ์ยังจัดเป็นอัญมณีประจำวันเสาร์ และอัญมณีครบรอบแต่งงานปีที่ 11 ด้วย
สมบัติของเทอร์ควอยซ์
องค์ประกอบทางเคมี CuAl6(PO4)4(OH)8.5H2O สีฟ้านั้นเกิดจากธาตุทองแดง (copper, Cu) ส่วนสีเขียวนั้นเกิดจากธาตุมลทินเหล็ก (iron, Fe) ประกอบกับธาตุทองแดง
ชนิดของเทอร์ควอยซ์ เทอร์ควอยซ์มี 2 ชนิดคือ ชนิดที่มีเมทริก (Matrix) คล้ายใยแมงมุม กับชนิดที่ไม่มีเมทริก (เมทริก คือ เส้นลายหินที่เกิดขึ้นในเทอร์ควอยซ์ เป็นสีน้ำตาลหรือดำ) เทอร์ควอยซ์ที่มีคุณภาพดีที่สุดจะมีสีแจ่มชัด เรียบน้ำเงินปานกลาง และไม่มีเมทริก เทอร์ควอยซ์พบในสายแร่ (Vein)มีทั้ง ชิ้นใหญ่และชิ้นเล็ก ยากที่จะพบในเหมืองร่องน้ำ(Alluvial Deposits) ความร้อนสามารถทำให้พลอยระเบิดหรือเป็นรอยแตกได้ ถ้าใช้เข็มร้อนจี้(Hot point)พลอยจะเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลและแตก ปัจจุบันส่วนใหญ่ จะนำเทอร์ควอยซ์มาใช้ทำลูกปัด สร้อยคอ กำไลมือ แหวน หรือแกะสลักเป็น รูปแบบต่างๆ เทอร์ควอยซ์ที่มีคุณภาพดีจะเหนียว ส่วนชนิดที่มีคุณภาพต่ำจะมี ความเหนียวต่ำ เทอร์ควอยซ์เป็นพลอยประจำราศีเดือนธันวาคมร่วมกับเพทาย (Zircon)
ความแข็ง 5-6 ตามระดับความแข็งของโมห์
ค่าดัชนีหักเห 1.61
ค่าความถ่วงจำเพาะ 2.76
แหล่งกำเนิดเทอร์ควอยซ์
1. เนซาเบอร์อิหร่านเป็นแหล่งกำเนิดเทอร์ควอยซ์ที่มีสีสวยที่สุด เหมืองได้กลายเป็นเหมืองประวัติศาสตร์ เพราะกลายเป็นเมืองร้าง มาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่1
2. ซีไน เพนีซูลาเป็นเหมืองที่เก่าแก่ที่สุดในสมัยก่อนคริสต์ศักราช 5500 ปี เหมืองต่างๆ อยู่ในสภาพขุดหมดไปแล้ว
3. สหรัฐอเมริกาปัจจุบันเป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่รัฐอริโซนา เนวาดา และ นิวเม็กซิโก
แหล่งเทอร์คอยซ์ที่สำคัญในปัจจุบัน ได้แก่ ประเทศอิหร่าน ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศจีน
ขนิดและชื่อทางการค้า
1.เทอร์ควอยซเปอร์เชีย(Persian) เป็นชนิดที่มีคุณภาพดีที่สุด เพราะสีของเทอร์ควอยซ์เปอร์เชียจะเป็นสีฟ้าที่สวยงามมาก เปรียบเทียบสีของไข่นกโรบิน (Robin's Egg Blue) สีฟ้าเข้มปานกลาง ผิวภายนอกขรุขระเป็นรุน้อยที่สุด พื้นสีดูเรียบและเสมอ กึ่งโปร่งใส วาวแบบน้ำมัน อาจมีหรือไม่มีเมทริก (Matrix) เส้นลายหินคล้ายใยแมงมุม
2.เทอร์ควอยซ์อเมริกาหรือเม็กซิกัน (American or Maxican) สีฟ้าอ่อน ฟ้าอมเขีย เขียวอมเทา ชิ้นที่เป็นรูส่วนมากจะเอาขี้ผึ้ง หรือพลาสติกอุดให้เรียบ ทั่วไปจะไม่สามารถขัดให้เงามาก
3.เทอร์ควอยซ์อียิปต์ (Egyptian) สีฟ้าอมเขียว ถึงเขียวอมเหลือง จะมีธาตุ เหล็กมาก และสามารถขัดให้เงาได้ดีกว่า
4.เทอร์ควอยซ์เมทริก (Turquoise Matrix or Turquoise with Matrix) คือ เทอร์ควอยซ์ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับมีลายเส้นหินคล้ายใยแมงมุม หมายเหตุ เทอร์ควอยซ์ทั้งหมดจะเรียกเป็นอเมริกันเทอร์ควอยซ์( American Turquoise) หากมีคุณสมบัติแบบเปอร์เชีย(Persian)
เนื่องจากเทอร์ควอยซ์เป็นอัญมณีที่มีความแข็งไม่สูงและมีความพรุนสูงทำให้เทอร์ควอยซ์ธรรมชาติที่พบจะมีเนื้อร่วนซุยไม่สามารถเจียระไนได้ ดังนั้นเทอร์ควอยซ์ที่ซื้อขายกันในท้องตลาดจึงมักจะผ่านการปรับปรุงคุณภาพมาแล้วแทบทั้งสิ้น การปรับปรุงคุณภาพที่พบได้มาก คือการอัดด้วยสารโพลีเมอร์ ซึ่งอาจจะเป็น แว๊กซ์ หรือ สารเรซิน เข้าไปในเนื้อพลอยเพื่อเพิ่มความคงทนแข็งแรง ทำให้สามารถเจียระไนได้ง่ายขึ้น แต่ก็มีไม่น้อยที่พบว่ามีการย้อมสี หรืออัดด้วยโพลีเมอร์สีร่วมด้วยซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับในตลาด นอกจากเทอร์ควอยซ์ปรับปรุงคุณภาพแล้วยังมีเทอร์ควอยซ์เทียม (imitation turquoise) ปะปนอยู่ในท้องตลาดอีกเป็นจำนวนมาก เช่น แก้ว พลาสติก หรือพลอยชนิดอื่นนำมาย้อมสี ดังนั้นการจะเลือกซื้อเทอร์ควอยซ์นั้นจึงควรอาศัยความระมัดระวังเป็นพิเศษ