พัฒนาเครื่องเจียระไนพลอยอัตโนมัติ เพิ่มกำลังผลิตเครื่องประดับแฟชัน
นายการเกรียงไกร สินธุเดชากุล (ซ้าย) และนายปรัชญา พิพัฒนานนท์ ร่วมกันพัฒนาเครื่องเจียระไนพลอยอัตโนมัติ หวังช่วยเพิ่มกำลังการผลิตให้อุตสาหกรรมเครื่องประดับที่มีความต้องการใช้พลอยเป็นจำนวนมาก
นิสิตวิศวะ จุฬาฯ พัฒนาเครื่องเจียระไนพลอยอัตโนมัติ พร้อมโปรแกรมออกแบบพลอย หวังช่วยเพิ่มกำลังการผลิตให้อุตสาหกรรมเครื่องประดับในไทย ที่กำลังได้รับความนิยมสูง ตัวเครื่องเจียระไนพลอยได้หลายเม็ดพร้อมกัน คุณภาพทัดเทียมฝีมือคน แต่ไม่เหมาะใช้กับอัญมณีราคาแพง
นายการเกรียงไกร สินธุเดชากุล และนายปรัชญา พิพัฒนานนท์ นิสิตปริญญาโท ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับทีมข่าว "วิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์" ว่าได้ร่วมกันพัฒนาเครื่องเจียระไนพลอยอัตโนมัติ สำหรับใช้ทดแทนแรงงานคนในอุตสาหกรรมเครื่องประดับที่ต้องใช้พลอยขนาดสม่ำเสมอและเป็นจำนวนมาก
"อุตสาหกรรมเครื่องประดับ มีความต้องการพลอยสีที่มีรูปแบบและขนาดต่างๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งในปัจจุบันการเจียระไนพลอยยังใช้แรงงานคนเป็นหลัก แต่ละคนสามารถเจียระไนได้ทีละเม็ด เราจึงออกแบบและพัฒนาเครื่องเจียระไนพลอยแบบอัตโนมัติที่สามารถเจียระไนได้พร้อมกันครั้งละหลายเม็ด เพื่อช่วยเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้มากขึ้น" นายปรัชญาอธิบาย
สำหรับหลักการทำงานของเครื่องเจียระไนพลอยนั้น คล้ายกับการใช้แรงงานคนในการเจียระไน แต่เปลี่ยนมาเป็นใช้มอเตอร์ควบคุมการเจียระไนแทน และสามารถออกแบบพลอยให้มีรูปทรงตามที่ต้องการเจียระไนได้โดยใช้โปรแกรม ซียู-โซลิด (CU-SOLID) ช่วยในการออกแบบเหลี่ยมมุมของพลอย เพื่อคำนวณเป็นค่าพารามิเตอร์ 3 ค่า ได้แก่ มุมยก มุมดรรชนี และความลึกในการกัด สำหรับนำมาใช้ในโปรแกรม ซียู เจมส์ (CU Gems) เพื่อควบคุมให้เครื่องจักรเจียระไนพลอยตามที่ออกแบบไว้ โดยพลอยที่จะนำมาเจียระไนนั้นจะต้องผ่านการตัดแต่งรูปทรงเบื้องต้นมาก่อน
เครื่องเจียระไนอัตโนมัติที่พัฒนาขึ้นสามารถเจียระไนพลอยได้พร้อมกันได้ไม่ต่ำกว่า 10 เม็ด ขณะที่หากเป็นช่างเจียระไนจะทำได้เพียงครั้งละ 1 เม็ดเท่านั้น ส่วนพลอยเจียระไนที่ได้นั้นมีคุณภาพทัดเทียมกัน ทั้งนี้พวกเขามีโครงการจะพัฒนาต่อเพื่อให้เครื่องจักรมีขนาดเล็กลง และเจียระไนพลอยได้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี นายการเกรียงไกร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เครื่องเจียระไนพลอยอัตโนมัตินี้เหมาะสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับหรืออัญมณีที่มีความต้องการมากและราคาไม่สูงมาก ซึ่งต้องใช้พลอยเจียระไนที่มีรูปทรง ขนาด และคุณภาพระดับเดียวกันเป็นจำนวนมาก เช่น เครื่องประดับรูปแบบต่างๆ หรือพลอยสำหรับประดับตกแต่งเสื้อผ้า นาฬิกา กระเป๋า รองเท้า เป็นต้น อีกทั้งยังใช้เจียระไนแก้วหรือกระจกก็ได้ แต่หากเป็นอุตสาหกรรมอัญมณีราคาแพงนั้นคงยังต้องพึ่งพาแรงงานคนเป็นหลักเช่นเดิม เพราะต้องการความปราณีตและสวยงามมากกว่า