ครั้งแรกของการผลิตมุกเลี้ยงจากหอยสังข์
Conch pearl เป็นมุกที่ได้จากหอยสังข์ซึ่งได้ยากมาก โดยปกติแล้วจากหอยสังข์ 10,000 ตัว จะพบหอยที่มีมุกเพียง 1 ตัวเท่านั้น และเพียงแต่ 1 ใน 100 เม็ดที่พบจะมีคุณภาพระดับที่ใช้เป็นอัญมณีได้ หอยสังข์จะโตเต็มที่เมื่ออายุได้ 3 ปี และมีอายุอยู่ได้ราว 40 ปี
นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยทางทะเลของมหาวิทยาลัยฟลอริดาแอตแลนติค ได้เปิดเผยถึงความสำเร็จในการผลิตมุกเลี้ยงจากหอยสังข์ (queen conch) หลักการคือ ใช้วิธีการในปัจจุบันที่ใช้ในการเลี้ยงหอยมุกเพื่อผลิตมุก 2 รูปแบบ คือ nucleated และ non-nucleated โดย nucleated จะใส่ชิ้นส่วนของหอยและเปลือกหอยที่เจียรให้กลมลงไปในตัวหอยสังข์ที่ต้องการให้ผลิตมุก ส่วน non-nucleated จะใส่เพียงแค่ชิ้นส่วนของหอยลงไปเท่านั้น
มุกที่ได้จะมีชั้นมุกที่เรียกว่า flame structure ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของ conch pearl ผิวจะคล้ายกับ porcelain และมี luster แบบเดียวกับเปลือกหอยสังข์ด้านใน สีที่ได้จะมีตั้งแต่ ขาว แดง ชมพู ส้ม เหลือง และน้ำตาล
ขนาดของมุกที่ได้ขึ้นกับขนาดของชิ้นเปลือกหอยที่ใส่เข้าไปในตอนแรก และระยะเวลาที่ใช้ในการเลี้ยง โดยช่วงเวลาเหมาะสมที่จะทำการเก็บมุก จะอยู่ระหว่าง 6 – 12 เดือน แต่ยิ่งเวลามากขึ้นเท่าไหร่ ขนาดของมุกก็น่าจะใหญ่ชึ้นตามไปด้วย
เป็นเวลากว่า 25 ปีแล้ว ที่ได้มีการทดลองผลิตมุกเลี้ยง จากหอยสังข์ที่เรียกว่า Strombus gigas ในฟลอริดา, บาฮามัส, เบอร์มิวดา, ทะเลแคริบเบียน และบริเวณชายฝั่งอเมริกากลางและอเมริกาใต้ แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันฯได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการทดลองในอดีตที่ไม่ประสบผลสำเร็จ อาจมีสาเหตุมาจาก หอยสังข์มีความอ่อนไหวต่อวิธีการที่ใช้ในการผลิตมุกเลี้ยง และเนื่องจากลักษณะของเปลือกหอยที่เป็นเกลียว ทำให้ยากต่อการใส่ชิ้นส่วนของหอยลงไปยังบริเวณที่ต้องการ แต่การวิจัยล่าสุดนี้ใช้เวลาไม่ถึง 2 ปี ก็สามารถผลิต conch pearl ได้มากกว่า 200 เม็ดแล้ว และเมื่อนำไปวิเคราะห์โดย Gemological Institute of America (GIA) ก็พบว่าส่วนใหญ่ของมุกที่นำมาตรวจสอบนั้นเป็นอัญมณีชั้นดี
สิ่งที่น่าทึ่งของงานวิจัยนี้ก็คือ การผลิตมุกเลี้ยง conch pearl นั้นไม่ทำให้หอยตายจากการเก็บมุกออกจากตัวหอย ทำให้หอยสามารถผลิตมุกได้อีก ซึ่งนับเป็นประโยชน์ทั้งด้านทางการค้าและสิ่งแวดล้อม
ข้อมูล Nationaljeweler
ภาพประกอบ pearl-guide.com, yourgemologist