อำพัน (Amber)
อำพัน (Amber) แปลตามพจนานุกรมว่า หินสีเหลืองใสเป็นเงา เป็นอัญมณีที่ก่อกำเนิดมาจาก “ยางของต้นสน” เมื่อต้นสนจำนวนมากมาตายทับถมกันเป็นเวลานานนับหลายสิบล้านปียางของต้นสนจำนวนมากเหล่านี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพและแข็งตัวกลายเป็นหิน มีสีสันสวยงามมาก
อำพันส่วนใหญ่จะมีสีเหลืองทั้งเหลืองอ่อน เหลืองทอง เหลืองอมส้ม น้ำตาลแดง ฯลฯ และบางครั้งอาจพบสีเขียวอมน้ำเงิน หรือม่วงซึ่งพบน้อยได้เช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของต้นสนและยางสน จำนวนฟองอากาศ โดยเมื่อรวมทุกสีและทุกระดับความอ่อนแก่ของสีด้วยแล้วปรากฎว่าสีของอำพันนั้นมีไม่น้อยกว่า 200 ชนิดเลยทีเดียว
อำพันมีหลายชนิด เช่น ค้นพบในทะเลเรียกว่า อำพันทะเล ส่วนอำพันบ่อค้นพบด้วยการขุดลงไปในดิน โดยส่วนมากจะพบอำพันในบริเวณทะเลบอลติก ซึ่งในอำพันมีส่วนผสมของยางสนหลายชนิดกับกรดซักซินิกและหัวน้ำมัน (Volatile Oil) และภายในอำพันนั้นมักจะมีแมลงต่างๆตายติดอยู่ภายในด้วยเช่น แมลงปอ แมงป่อง ฯลฯ หรือเศษเปลือกไม้ ใบไม้ ฟองอากาศ เป็นต้น แมลงต่างๆเมื่อติดกับความเหนียวของยางสนก็จะพยายามตะเกียกตะกายเอาชีวิตรอดจนกระทั่งตายไป เมื่อถูกยางสนทับถมมากขึ้นก็จะถูกฝังอยู่ภายในเป็นการรักษารูปร่างของสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นไว้ได้อย่างสมบูรณ์และมีประโยชน์มากที่สุด ทำให้คนในยุคปัจจุบันได้ใช้ศึกษาและเปรียบเทียบถึงการพัฒนาโครงสร้างของสัตว์ต่างๆเมื่อหลายสิบล้านปีมาแล้วกับปัจจุบัน แต่มีอำพันจำนวนมากอีกเช่นกันที่มีเนื้อใสสะอาดไม่มีสิ่งแปลกปลอมแทรกอยู่ ซึ่งอำพันชนิดนี้จะมีราคาสูงและเป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่า โดยเฉพาะกับตลาดอัญมณีในสหรัฐอเมริกา ส่วนชนิดที่มีสิ่งแปลกปลอมแทรกอยู่เช่น เศษใบไม้ ฟองอากาศ ฯลฯ จะมีราคาถูกยกเว้นพบพวกซากสัตว์ต่างๆจะมีราคาสูง
ตำนานเกี่ยวกับอำพัน
ในนิยายกรีกโบราณมีอยู่ว่า อำพันเกิดจากน้ำตาของบรรดาน้องสาวเฟตัน เฟตันเป็นลูกชายของเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ชอบนั่งรถสองล้อของบิดา ได้พลัดตกลงมาจากสวรรค์ตาย ศพของเฟตันถูกนำไปฝังไว้ที่แม่น้ำเอริตานุส บรรดาน้องสาวเฟตันที่ได้ร่วมพิธีฝังศพต่างเศร้าโศกยิ่งจนกลายเป็นต้นไม้ น้ำตาที่ไหลออกมาก็กลายเป็นอำพันไป อำพันเป็นที่นิยมมากในสมัยจักรพรรติเนโรแห่งโรม โดยมีค่าใช้แลกทาสได้
คุณสมบัติทางอัญมณี
อำพันมีความแข็ง 2-2.5 โมห์สเกล มีความวาวแบบยางสน เนื่องจากอำพันมีระดับความแข็งที่ต่ำมากจึงเกิดริ้วรอยขูดขีดได้ง่ายแม้แต่เล็บก็สามารถขูดอำพันให้เป็นรอยได้ และมีดธรรมดาก็สามารถตัดอำพันให้ขาดเป็นท่อนๆได้เช่นกัน นอกจากนี้ฝุ่นละอองของแร่ควอร์ตซ์ (quartz) ในอากาศก็สามารถทำให้ผิวของอำพันลดความมันวาวลงไปได้เรื่อยๆแม้ว่าเจ้าของจะพยายามใช้สอยอำพันอย่างทะนุถนอมและระมัดระวังเพียงใดก็ตาม ดังนั้นจึงต้องเก็บอำพันแยกจากอัญมณีอื่นๆ
ตัวอย่างของอำพันจากทะเลบอลติก (Baltic Amber)
ที่มา andzia's amber jewelry
แหล่งที่ค้นพบและความนิยม
อำพันถูกค้นพบครั้งแรกที่บริเวณแนวชายฝั่งทะเลบอลติกและในปัจจุบันแถบชายฝั่งทะเลบอลติกก็ยังคงเป็นแหล่งอำพันที่ใหญ่มากอยู่เช่นเดิม ถือว่าเป็นแหล่งที่มีคุณภาพดีที่สุด และมีราคาสูงกว่าแหล่งอื่นๆ แหล่งที่สำคัญอื่นๆได้แก่ โปแลนด์ รัสเซีย ลิทัวเนีย แลตเวีย ถึงจะพูดได้ว่าอำพันที่มีคุณภาพดีจะมีราคาสูงแต่เมื่อเปรียบเทียบกับอัญมณีอื่นๆแล้วราคาของอำพันก็ยังจัดว่าอยู่ในกลุ่มค่อนข้างถูกอยู่ดีทั้งนี้เพราะคุณสมบัติทางด้านความแข็ง ความวาว ฯลฯ ที่ค่อนข้างด้อยคุณภาพนั่นเอง
นอกจากอำพันจะเป็นที่นิยมของตลาดยุโรป อเมริกา และแอฟริกาแล้ว ยังเป็นอัญมณียอดนิยมของญี่ปุ่นอีกด้วย โดยความนิยมนั้นมีมากถึงขนาดเรียกขานอำพันว่า “Kokaku” อันหมายถึง สิ่งที่สามารถเร่งเร้าหัวใจให้บังเกิดความรู้สึกสดชื่นมีชีวิตชีวาและบังเกิดจินตนาการอันหลากหลายมากมาย ในประเทศญี่ปุ่นเคยค้นพบอำพันตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 แต่ก็มีปริมาณไม่มากนักจึงได้นำเข้าจาก รัสเซียและแหล่งอื่นๆเป็นจำนวนมาก
รูปแบบการเจียระไน
นิยมเจียระไนอำพันเป็นลูกปัดแบบต่างๆร้อยเป็นสายสร้อยหรือเจียระไนเป็นหลังเบี้ยทำเป็นหัวแหวน ต่างหู จี้ กำไล ฯลฯ หรือ เจียระไนตามเค้าโครงรูปก้อนเดิม อันเป็นการคงความงามไว้ตามธรรมชาติ
อำพันเลียนแบบ
ยางของต้นไม้ชนิดต่างๆอาจนำมาเลียนแบบเป็นอำพัน เช่น ยางสนอายุต่ำที่เรียกว่า โคปอล (Copal ) พลาสติก
การปรับปรุงคุณภาพอำพัน
มนุษย์มีความพยายามในการปรับปรุงลักษณะภายนอกของอำพันให้ดูสวยงามยิ่งขึ้นโดยการต้มอำพันในน้ำมัน ( Heating in oil ) เพื่อทำให้เนื้อในดูโปร่งใสขึ้นแต่การต้มจะทำให้เนื้อในเกิดเป็นรอยแตกเป็นแผ่นเรียกว่า “ซันสแปงเกิล” (Sun Spangles) เป็นตำหนิที่มีลักษณะคล้ายแผ่นใบไม้นั่นเอง และยังมีการเผาเพื่อย้อมสี เป็นการทำเพื่อเปลี่ยนสีไปตามความนิยม รวมทั้งการทำเอมเบอรอยด์ (Amberoid) ซึ่งเป็นการทำชิ้นส่วนของอำพันให้เป็นชิ้นใหญ่ขึ้น โดยการนำเอาอำพันชิ้นเล็กๆมาเผาหลอมเข้ารวมเป็นก้อนเดียวกัน
วิธีตรวจสอบ
อำพันแท้มีความถ่วงจำเพาะต่ำมาก จึงสามารถลอยอยู่ในน้ำทะเลได้เราสามารถตรวจสอบอย่างง่ายๆโดยการนำอำพันไปลอยในแก้วน้ำเกลือถ้าอำพันจมน้ำก็แปลว่าเป็นของปลอม
อีกวิธีหนึ่งก็คือการทดสอบด้วยแรงดูดจากอำนาจไฟฟ้าโดยการนำอำพันไปถูกับผ้าขนสัตว์และจะเกิดอำนาจทางไฟฟ้าขึ้นภายในแท่งอำพันนั้นทำให้สามารถดูดวัตถุชิ้นเล็กๆที่อยู่ใกล้ๆได้ทำการเปรียบเทียบกับแท่งแก้วหรือพลาสติกหากอำพันมีระยะดูดวัตถุที่ไกลกว่าแสดงว่าอำพันนั้นเป็นของแท้ ด้วยคุณสมบัติของอำพันที่เมื่อเสียดสีจะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้า และยังเป็นฉนวนไฟฟ้าได้ดี จึงนำไปใช้ทำเครื่องมือทางฟิสิกส์ด้วย ชาวกรีกถึงกับตั้งชื่อให้ว่า “อีเล็กทรอส” (Elektros) เนื่องมาจากความมีลักษณะที่พิเศษนี้ ซึ่งความหมายของคำว่า elektros ในภาษาอังกฤษ ก็คือ Amber นั่นเอง
อย่างไรก็ตามอาจมีแท่งแก้วหรือพลาสติกบางชนิดที่สามารถเกิดแรงดูดมากพอๆกับอำพันก็เป็นได้จึงจำเป็นต้องใช้วิธีอื่นประกอบในการตรวจสอบด้วยเพื่อให้เกิดความแน่นอนและแม่นยำขึ้น
อำพันที่เป็นอัญมณีกับอำพันที่ใช้ทำยาคือชนิดเดียวกันหรือไม่?
อำพันที่เป็นเครื่องยานั้นมี 2 ชนิด คือ อำพันทองและอำพันขี้ปลา
อำพันทองได้จากเมือกมันกามคุณของปลาวาฬที่มีมากอย่างชะมดเช็ด ลอยอยู่ในมหาสมุทรนานเข้าก็ลอยไปติดตามเกาะ สีดำเป็นเงาคล้ายตับเป็ด แข็งแต่เบา ลอยน้ำได้
อำพันขี้ปลาได้จากอุจจาระปลาวาฬ ถ่ายครั้งแรกกลิ่นเหม็นมาก จนถึงอุจจาระครั้งสุดท้ายสีจะเหลืองนวล กลิ่นก็หมดไป จึงนำมาใช้เป็นยา มีขายตามร้านขายยาแผนโบราณ
อำพันที่เป็นเครื่องยานี้มีรสเอียน คาว แก้ลม แก้เสมหะทำให้มีกำลัง ใช้แทรกกระสายยา ราคาแพง มักใช้กับคนไข้หนักไม่มีกำลัง เป็นยาบำรุงกำหนัด นอกจากนั้นยังใช้ใส่น้ำหอมเพื่อตรึงกลิ่นเช่นเดียวกับชะมดเช็ด
ข้อมูลจาก : สารานุกรมไทยของอุทัย สินธุสาร , อาจารย์จักรกฤษณ์ ศิริรักษ์ (วิทยาลัยอัญมณี มหาวิทยาลัยบูรพา)
อ่า เพิ่งรู้ว่ามี อำพันทองและอำพันขี้ปลา
พออ่านดูแล้ว หุหุ คนหนอคนเรา เอาแม้กระทั้ง อึปลามาทำยา
เอ แล้ว มันจะเอามาได้ไงหว่า ในทะเล ออกจะกว้าง พอ มันอึออกมาแล้ว ไม่ล่องลอย
หรือละลายหายไปไหนเหรอ
อดีตนักทำใบเซอร์แห่งชาติ
เพิ่งรู้ว่าสามารถ ใช้ google group ยืนยันตัวได้ด้วย