Loading
250x250 Free Watch

สมัครสมาชิกเพื่อรับข่าวสารทางอีเมล์:

กรุณาตรวจสอบอีเมล์เพื่อยืนยันหลังจากทำการสมัคร

โพสล่าสุด

แบ่งปัน
|

Titanium

titanium_jewelry ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เครื่องประดับถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของความเลอค่า ความสวยงาม ความร่ำรวย หลายชนชาติหลากวัฒนธรรมนิยมใช้เครื่องประดับในพิธีต่างๆ อย่างแพร่หลาย เช่น ประเทศฝั่งตะวันตกใช้ในพิธีแต่งงาน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความผูกพันระหว่างคนสองคน จึงนับได้ว่าเครื่องประดับเปรียบเสมือนชิ้นงานที่สามารถบันทึกวัฒนธรรมของคนในสังคมนั้นๆ ได้ จากวัสดุ ลวดลาย การออกแบบ และกรรมวิธีการผลิต หรือเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่าศิลปะการทำเครื่องประดับ เป็นสิ่งที่สามารถบันทึกวัฒนธรรม และความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้

ศิลปะการทำเครื่องประดับเงินและทองคำนั้น มีวิธีการในการสร้างชิ้นงานออกมาได้หลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีนั้นผู้สร้างจำเป็นต้องมีความชำนาญ และความเชี่ยวชาญเป็นอย่างมาก แต่ด้วยวิทยาการและเทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถเพิ่มวิธีและเครื่องมือการทำเครื่องประดับออกมา เพื่อให้เป็นทางเลือกแก่นักออกแบบและช่างฝีมือได้สร้างสรรค์ผลงานให้มีคุณค่าและมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่วิธีการสร้างลวดลายบนพื้นผิวเท่านั้นที่เป็นที่นิยมในการสร้างสรรค์เครื่องประดับ เมื่อเวลาผ่านไปการผลิตศิลปะชิ้นเอกอย่างเครื่องประดับได้มีการปรับเปลี่ยนการออกแบบ การผลิตและวัสดุที่ใช้ไปตามสมัย จนกลายเป็นแฟชั่นที่ได้รับความนิยม ถึงแม้อัญมณี เงิน และทองคำจะได้รับความนิยมตลอดมา แต่ด้วยภาวะทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้อัญมณี เงิน และทองคำมีราคาสูงขึ้น นักออกแบบต่างๆ จึงได้ค้นหาวัสดุต่างๆ และประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมาสร้างสรรค์ผลิตชิ้นงานเครื่องประดับต่างๆ ออกมาเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคอย่างการใช้วัสดุจาก ไทเทเนียม (Titanium)

ไทเทเนียมเป็นธาตุชนิดหนึ่งในธรรมชาติที่พบได้ทั่วไป ซึ่งมักจะเกิดอยู่พร้อมกับเพื่อนแร่ต่างๆ ถูกค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์ที่ชื่อว่า William Gregor ซึ่งค้นพบธาตุนี้อยู่รวมกับธาตุเหล็กในปี 1791 และ 3 ปี หลังจากนั้น นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันที่ชื่อว่า Martin Heinrich Klaproth ก็ได้ทำการทดลองและพบธาตุนี้อยู่ร่วมกับแร่รูไทล์ และนักวิทยาศาสตร์ท่านนี้นี่เอง เป็นคนให้ชื่อกับแร่ที่ค้นพบว่า “ไทเทเนียม” และหลังจากนั้น 36 ปี จึงมีการนำไทเทเนียมเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น

ในระยะเริ่มแรกนั้น การนำไทเทเนียมมาใช้นั้นนิยมใช้ในวงการยาและการประดิษฐ์นวัตกรรมเทคโนโยลีใหม่ๆ มากกว่าเนื่องจากคุณสมบัติของธาตุที่มีความพิเศษกว่าแร่ตัวอื่นๆ แต่ระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการนำไทเทเนียมมาใช้ในแวดวงอุตสาหกรรมอัญมณีมากขึ้น เนื่องจากภาวะของเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และความคิดการดีไซน์ที่แหวกแนว ดึงเอาคุณสมบัติที่โดดเด่นของไทเทเนียมที่มีความแวววาว สวยงาม ไม่ต่างจากอะลูมิเนียม เงิน และโลหะมีค่าอื่นๆ ที่มีสีสันคล้ายกัน แต่คุณสมบัติที่พิเศษของมันคือการที่ไม่ทำให้ผู้ใส่ระคายเคืองและไม่เกิดอาการแพ้ (ผู้ที่มีอาการแพ้จากไทเทเนียมมีค่อนข้างน้อยมาก)

 
การนำไทเทเนียมมาเป็นเครื่องประดับในช่วงแรกนั้น นิยมนำมาประดิษฐ์ใช้เป็นเครื่องประดับสำหรับคุณผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกา กระดุม เข็มกลัดเนกไท และด้วยการดีไซน์ที่กล้าหาญของดีไซเนอร์ชาวอเมริกัน ท่านหนึ่งที่ลองนำไทเทเนียมมาดีไซน์เครื่องประดับสำหรับสุภาพสตรี จึงทำให้ไทเทเนียมเริ่มเตะตาสาวกผู้รักแฟชั่นมากขึ้นในฐานะน้องใหม่ในวงการ แต่เนื่องจากไทเทเนียมที่นำมาใช้ในช่วงแรกนั้น มีสีที่ใกล้เคียงกับเงินและอะลูมิเนียม จึงมีช่างทำจิวเวลรีชาวอเมริกันท่านหนึ่งลองนำไทเทเนียมมาผ่านกระบวนการ Oxidite และทำให้พบว่าไทเทเนียมสามารถเปลี่ยนสีได้ตามที่ต้องการ ซึ่งวิธีที่เปลี่ยนสีผิวของโลหะนี้มีชื่อว่า กระบวนการ Anodizing


ส่วนไทเทเนียมที่ผ่านกระบวนการ Anodizing ได้รับความนิยมในการทำเครื่องประดับมากในปัจจุบัน เนื่องจากไทเทเนียมมีความแข็งแรงทนต่อการกัดกร่อนและมีน้ำหนักเบา และเมื่อโลหะไทเทเนียมผ่านกระบวนการ Anodizing ก็จะได้ผลที่แตกต่างกันออกไป คือ สามารถเกิดสีบนโลหะได้หลายสี ซึ่งการเกิดสีดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการย้อมสีหรือเติมเม็ดสีลงไปแต่อย่างใด แต่เกิดจากการทำปฏิกิริยาทางเคมีในกระบวนการ Anodizing

 
Anodized Titanium จึงเป็นเครื่องประดับรูปแบบใหม่ที่ได้รับความนิยมมากในฝั่งทวีปยุโรป เพราะมีความสวยงามและน้ำหนักเบา แต่สำหรับในประเทศไทยนั้นเครื่องประดับประเภทนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เพราะประเทศไทยยังไม่มีโรงงานที่สามารถผลิตไทเทเนียมให้บริสุทธิ์ อีกทั้งช่างฝีมือในประเทศเองไม่มีความชำนาญในการทำเครื่องประดับด้วยไทเทเนียม แต่อย่างไรก็ตามในหลายๆ ประเทศอย่าง ฮ่องกง หรือมาเก๊า ก็มีแบรนด์ดังๆ เริ่มนำไทเทเนียมเข้ามาใช้ในจิวเวลรีของตนเองมากขึ้น ดังนั้นสำหรับผู้ที่ต้องการทางเลือกใหม่ของเครื่องประดับที่แตกต่าง ไทเทเนียมก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ

 
ศิลปะในการทำเครื่องประดับนั้น นับวันยิ่งพัฒนาและปรับปรุงวิธีการ และวัสดุในการสร้างสรรค์ชิ้นงานออกมาให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ถึงแม้วัสดุที่ใช้อาจไม่ได้เป็นโลหะมีค่า หรืออัญมณี แต่คุณค่าของเครื่องประดับนั้นก็ไม่ได้ลดน้อยลงไป มีแต่จะเพิ่มคุณค่ามากยิ่งขึ้น


ข้อมูลจาก สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ภาพประกอบ uniqe aksesoris, All About Titanium

Posted by NonNY~* on 1/19/2552. Filed under , , , , . You can follow any responses to this entry through the RSS 2.0. Feel free to leave a response

2 comments for "Titanium"

  1. ไม่ระบุชื่อ

    ขอบคุณคับสำหรับ ความรู้ที่ให้มา

  2. ไม่ระบุชื่อ

    ขอบคุณมากนะครับ สำหรับบทความ

Leave a reply

เชิญร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ความคิดเห็นล่าสุด

บทความล่าสุด