Loading
250x250 Free Watch

สมัครสมาชิกเพื่อรับข่าวสารทางอีเมล์:

กรุณาตรวจสอบอีเมล์เพื่อยืนยันหลังจากทำการสมัคร

โพสล่าสุด

แบ่งปัน
|

กฎ 10 ข้อก่อนลงสนามลงทุน..โกลด์ ฟิวเจอร์ส

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ภาพจาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
การลงทุนในโกลด์ ฟิวเจอร์ส (Gold Futures) ทั้งซับซ้อนและมีแง่มุมอันหลากหลายให้คุณต้องทำการบ้านอย่างหนัก ก่อนจะตัดสินใจเดินลงสนาม แน่นอนว่า ด้านหนึ่งคือ "โอกาส" ที่แทรกตัวขึ้นกลางวิกฤติ  หากแต่อีกด้านหนึ่งของโกลด์ ฟิวเจอร์ส คือ "ความเสี่ยง" ที่หากไม่รู้จักดีพอก็อาจจะบาดเจ็บได้ 10 ข้อเหล่านี้ คือคำถามที่คุณจำเป็นต้องถามตัวเองก่อนที่จะเข้าไปลงทุนในโกลด์ ฟิวเจอร์ส


1. คุณเป็นนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้แค่ไหน
นั่นเป็นคำถามแรกที่ควรถามตัวเอง  เรื่องนี้ “อติ อติกุล” ผู้อำนวยการฝ่ายตราสารอนุพันธ์ บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) บอกว่า นักลงทุนที่ลงทุนในโกลด์ ฟิวเจอร์สต้องตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นว่าเมื่อลงทุนในโกลด์ ฟิวเจอร์ส 1 สัญญาเปรียบเสมือนได้ลงทุนในราคาของทองคำแท่งความบริสุทธิ์ 96.5% น้ำหนักจำนวน 50 บาทของทอง  ผู้ลงทุนใน 1 สัญญาต้องสามารถยอมรับความเสี่ยงจากความผันผวนของทองคำมูลค่าน้ำหนัก 50 บาทได้

“กิดาการ สุวรรณธรรมา” ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจอนุพันธ์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ให้ทัศนะว่า การลงทุนในสินค้าจริงกับการลงทุนในอนุพันธ์นั้นไม่เหมือนกัน หากซื้อทองคำจากร้านทอง สามารถนำมาเก็บชื่นชมหรือสวมใส่ได้ และเวลาซื้อมาแล้วเรามักจะไม่ค่อยได้สนใจว่าราคาทองจะไปทางไหน เพราะซื้อเพื่อใส่หรือเพื่อเก็บสะสมไปเรื่อยๆ ราคาทองจะขึ้นจะลง ความผันผวนของราคาทองมากน้อยขนาดไหนก็ไม่รู้สึกเดือดร้อน แต่การซื้อทองคำล่วงหน้านั้นความผันผวนของราคาอาจทำให้เดือดร้อนได้ เนื่องจากหากราคาโกลด์ ฟิวเจอร์สเคลื่อนไหวจนทำให้ขาดทุนเกิน 400 บาท ต่อทองคำน้ำหนัก 1 บาท จะต้องวางหลักประกันเพิ่ม เพราะมีการขาดทุนในหลักประกันของเราไปแล้วไม่น้อยกว่า 19,950 บาท “ก่อนที่จะเข้ามาซื้อขายโกลด์ ฟิวเจอร์สในตลาดอนุพันธ์ฯ นักลงทุนควรรู้จักตัวเองก่อนว่ามีวัตถุประสงค์ในการลงทุนเป็นแบบไหน เช่น ลงทุนเพื่อการเก็งกำไร หรือลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยงเป็นหลัก และประการสำคัญคือ ต้องรู้จักตัวเองก่อนว่ายอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน วิธีการง่ายๆ ที่จะรู้จักตนเองว่ายอมรับความเสี่ยงได้แค่ไหน เพียงแค่นักลงทุนยอมเสียเวลาเพียงเล็กน้อยทำแบบทดสอบระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ หรือ Risk Profile Questionnaire ที่จัดทำขึ้นโดยโบรกเกอร์ หรืออาจจะเข้าไปทำแบบสอบถาม TSI Risk Profile Questionnaire ที่จัดทำขึ้นโดยเว็บไซต์ของ TSI” ผู้เชี่ยวชาญในตลาดอนุพันธ์อีกรายหนึ่งให้ทัศนะ

2. คุณรู้จักตลาดอนุพันธ์ดีแค่ไหน
กิดาการ บอกว่า สินค้าในตลาดอนุพันธ์ทุกชนิดเป็นสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะตัว ผู้ที่จะก้าวเข้ามาลงทุนในตลาดอนุพันธ์ควรมีความรู้เรื่องการลงทุนในสินค้าอ้างอิงจริงๆก่อนระดับหนึ่ง เช่น สนใจซื้อขายอนุพันธ์ในหุ้น ก็ควรจะมีประสบการณ์ลงทุนในหุ้นมาก่อน หรือสนใจซื้อขายอนุพันธ์ในทองคำ ก็ควรจะมีประสบการณ์ลงทุนในทองคำจริงๆ มาก่อน

ส่วนอติเสริมว่า การลงทุนในตราสารอนุพันธ์ ผู้ลงทุนต้องเข้าใจก่อนว่าต้องเปิดบัญชีอนุพันธ์ ซึ่งแยกจากบัญชีหุ้น การลงทุนในอนุพันธ์ของลูกค้าบุคคลต้องมีการวางหลักประกันเป็นเงินสดก่อนส่งคำสั่งซื้อขาย
ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุพันธ์รายเดิมบอกว่า นักลงทุนที่ต้องการซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์สในตลาดอนุพันธ์ ต้องเข้าใจด้วยว่าสามารถทำการสั่งซื้อหรือขายโกลด์ฟิวเจอร์สโดยผ่าน โบรกเกอร์ที่เป็นสมาชิกของตลาดอนุพันธ์ เมื่อนักลงทุนส่งคำสั่งซื้อขายผ่านบริษัทโบรกเกอร์แล้ว จะส่งคำสั่งซื้อขายเข้าไปยังระบบการซื้อขายของตลาดอนุพันธ์ โดยตลาดอนุพันธ์จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการจับคู่คำสั่งซื้อขายด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ วิธีการจับคู่คำสั่งซื้อขายจะใช้หลักการของราคาและเวลาที่ดีที่สุด

ภาพจาก บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 3. คุณเป็นนักลงทุนระยะสั้นหรือระยะยาว
จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องถามตัวเองก่อนว่าคุณเป็นนักลงทุนระยะสั้นหรือระยะยาว เพราะการลงทุนสัญญาโกลด์ ฟิวเจอร์ส ในตลาดอนุพันธ์ฯ นักลงทุนมี 2 ทางเลือกคือ
1. ถือสัญญาโกลด์ฟิวเจอร์สไว้จนถึงวันที่สัญญาสิ้นสุดอายุแล้วรับรู้ผลกำไรขาดทุนในวันทำการที่ซื้อขายได้เป็นวันสุดท้ายหรือ last trading day
2. ซื้อขายเก็งกำไรและปิดฐานะก่อนที่สัญญาจะสิ้นสุดอายุ
หากคุณเป็นนักลงทุนในระยะสั้นก็ควรซื้อขายสัญญาและปิดฐานะการลงทุนก่อนที่สัญญาจะสิ้นสุดอายุ แต่หากคุณเป็นนักลงทุนระยะยาวก็สามารถถือสัญญาไว้จนสัญญาสิ้นสุดอายุและรับรู้ผลกำไรขาดทุน หรือหากต้องการถือสัญญาไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยงในระยะยาว นักลงทุนอาจทำการต่ออายุสัญญา (roll over) โดยการปิดฐานะสัญญารุ่นเดือนที่กำลังจะสิ้นสุดอายุ และทำการเปิดฐานะสัญญาในรุ่นเดือนถัดไปก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการลงทุน

กิดาการมองว่า ในความเป็นจริงแล้วอนุพันธ์ไม่ใช่การลงทุน แต่อนุพันธ์มักถูกนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงของการบริหารความเสี่ยงหรือการเก็งกำไรมากกว่า สำหรับโกลด์ ฟิวเจอร์สนั้น สามารถถือสัญญาได้นานที่สุดไม่เกิน 6 เดือน หากในรอบการลงทุนปกติของคุณคุ้นเคยกับการลงทุนแล้วถือเกิน 6 -12 เดือนเสมอ หมายความว่าคุณน่าจะเป็นนักลงทุนระยะยาว  การซื้อขายอนุพันธ์จึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบเนื่องจาก
1.นี่ไม่ใช่การลงทุน และ
2. การที่สามารถถือครองได้ไม่นานย่อมหมายความว่าต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อขายจากถือยาวเป็นถือสั้นลง ซึ่งบางทีอาจไม่ใช่ความถนัดของคุณ

ส่วนอติมองว่าหากผู้ลงทุนต้องการลงทุนในราคาของทองคำแท่งระยะสั้นเพื่อทำกำไรเป็นรอบๆ หรือต้องการบริหารความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนในทองคำเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน การลงทุนในโกลด์ ฟิวเจอร์สจะมีความคล่องตัวมากกว่าการซื้อๆ ขายๆ ทองคำแท่งจริง  โดยที่โกลด์ ฟิวเจอร์นั้นเป็นตราสารอนุพันธ์ที่มีอายุจำกัด และในแต่ละช่วงเวลาจะมีโกลด์ ฟิวเจอร์ให้เลือกลงทุนอยู่ 3 สัญญา ซึ่งแต่ละสัญญาจะหมดอายุในเดือนเลขคู่ที่ใกล้สุดนับจากปัจจุบัน เช่น ปัจจุบันเป็นเดือนกุมภาพันธ์ ก็จะมี 3 สัญญาให้เลือกลงทุน คือ ดีลที่สิ้นอายุเดือนกุมภาพันธ์, เมษายน และมิถุนายน ตามลำดับ  ส่วนการลงทุนในทองคำแท่งโดยตรงนั้นเหมาะกับการถือลงทุนระยะยาว

4. คุณรู้หรือไม่ว่าโกลด์ ฟิวเจอร์สเสี่ยงกว่าทองคำ
การลงทุนซื้อขายสัญญาโกลด์ ฟิวเจอร์สนั้น นักลงทุนควรที่จะรู้จักกับความเสี่ยงในการลงทุนเสียก่อนว่ามีความเสี่ยงสูงกว่าการลงทุนซื้อทองคำ เนื่องจากการลงทุนในสัญญาโกลด์ ฟิวเจอร์ส นักลงทุนเพียงแค่วางเงินหลักประกันเพียงบางส่วนคือประมาณ 10% ของมูลค่าเต็มของสินค้าก็สามารถซื้อทองคำที่มีมูลค่าเต็มสูงถึงประมาณ 750,000 บาทได้
ดังนั้น หากราคาทองคำเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงกันข้ามกับที่นักลงทุนคาดการณ์ไว้ นักลงทุนอาจขาดทุนมากกว่าเงินหลักประกันเริ่มต้นก็ได้ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของการซื้อขายสัญญาโกลด์ ฟิวเจอร์สที่สิ้นสุดอายุในเดือนที่ไกลออกไปจะมีสภาพคล่องน้อยกว่าสัญญาที่สิ้นสุดอายุในเดือนที่ใกล้กว่า

กิดาการขยายความว่า ความเสี่ยงของโกลด์ ฟิวเจอร์สในปัจจุบันได้แก่ สภาพคล่องที่ยังน้อยอาจทำให้ต้องซื้อขายในราคาที่ไม่อยากได้จริงๆ สภาพคล่องที่ยังน้อยอาจทำให้ปิดสถานะได้ลำบากกรณีที่มีสถานะมากๆ และราคาของโกลด์ ฟิวเจอร์แกว่งขึ้นลงได้ทั้งวัน ในขณะที่ราคาของสมาคมค้าทองคำประกาศวันละไม่กี่หนและไม่แกว่งมาก  ซึ่งถ้าหากซื้อทองคำจริงไม่ต้องกังวลเรื่องการถูกเรียกหลักประกันเพิ่มหรือถูกบังคับปิดสถานะ

ฝ่ายอติย้ำว่าการลงทุนในโกลด์ ฟิวเจอร์สมีความเสี่ยงแตกต่างกันกับการลงทุนในทองคำแท่งจริง  โดยสามารถมีผลกำไรมากหรือขาดทุนมากกว่าการลงทุนในทองคำแท่งหลายเท่าตัว   เนื่องจากการลงทุนในโกลด์ ฟิวเจอร์ใช้เงินลงทุนวางเป็นหลักประกันไม่ถึง 10% ของมูลค่าทองคำ ทว่าหากลงทุนในทองคำแท่งต้องใช้เงินเต็มจำนวน 
  
5. คุณรู้หรือไม่ว่ากำไรหรือขาดทุนจากโกลด์ ฟิวเจอร์สเกิดจากอะไร
เนื่องจากการลงทุนในสัญญาโกลด์ ฟิวเจอร์ส นักลงทุนต้องวางเงินหลักประกันก่อนส่งคำสั่งซื้อขาย และทุกสิ้นวันทำการสำนักหักบัญชีจะทำการคำนวณผลกำไรขาดทุนของพอร์ตการลงทุน เพื่อให้สะท้อนกับราคาปัจจุบัน หรือเรียกว่าการ mark-to-market นั่นเอง
ดังนั้น หากนักลงทุนซื้อขายสัญญาโกลด์ ฟิวเจอร์สในระยะยาวนักลงทุนก็จะมีความเสี่ยงจากการแกว่งตัวของราคาตลาดทองคำสูงกว่าการลงทุนในระยะสั้น เนื่องจากราคาตลาดของทองคำเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงกันข้ามกับที่นักลงทุนคาดการณ์ไว้ นักลงทุนจะมีความเสี่ยงจากการถูกเรียกเงินประกันเพิ่มหรือเรียกว่า call margin

หากนักลงทุนเป็นนักเก็งกำไรในระยะสั้นๆ ภายในวันทำการนักลงทุนสามารถรับรู้กำไรขาดทุนได้จากส่วนต่างของราคาที่ซื้อ ขาย เช่น ถ้านักลงทุนเปิดฐานะขายสัญญาโกลด์ ฟิวเจอร์สไว้ เนื่องจากคาดการณ์ว่าแนวโน้มราคาทองคำจะลดลง นักลงทุนสามารถปิดฐานะการลงทุนโดยการซื้อสัญญาโกลด์ ฟิวเจอร์สในจำนวนที่เท่ากัน และเดือนที่สิ้นสุดสัญญาเดือนเดียวกันกับที่ขายไว้ หากราคาทองคำลดลงตามที่คาดการณ์ไว้นักลงทุนจะได้รับผลกำไร แต่ถ้าหากราคาทองคำสูงขึ้นนักลงทุนจะขาดทุน นี่คือประเด็นที่คุณจำเป็นต้องรู้ก่อนลงทุน

กิดาการอธิบายเพิ่มเติมว่า กำไรขาดทุนจากโกลด์ ฟิวเจอร์สขึ้นอยู่กับระดับราคาที่เข้าไปเปิดสถานะ และทิศทางความเคลื่อนไหวหลังจากนั้น เวลาซื้อของเราย่อมคาดให้สินค้านั้นราคาขึ้นไปอีก เพื่อให้ได้กำไร ในทางตรงข้ามเวลาตัดสินในขายอะไร เราย่อมคาดว่าสินค้านั้นราคาจะไม่ขึ้นไปอีกแล้ว เพราะถ้าคาดว่าราคาจะขึ้นต่อคงจะถือรอไปก่อน โกลด์ ฟิวเจอร์สก็เช่นกัน ถ้าซื้อแล้วราคาตลาดต้องสูงกว่าต้นทุนของเราจึงจะได้กำไร หรือหากเป็นการขายล่วงหน้า หลังจากนั้นราคาจะต้องลงไปถึงจะได้กำไร แต่ถ้าซื้อแล้วลงหรือขายแล้วขึ้นก็จะกลายเป็นขาดทุน

“ในการซื้อขาย 1 สัญญา หากราคาล่วงหน้าขยับไป ทุก 10 บาท หมายถึงกำไร/ขาดที่เกิดขึ้นจริง 500 บาท จะเป็นกำไรหรือขาดทุนอยู่ที่ เราคาดการณ์ราคาถูกทิศทางหรือไม่”

6. คุณจะใช้โกลด์ ฟิวเจอร์สเพื่อป้องกันความเสี่ยงหรือเก็งกำไร
กิดาการบอกว่าอนุพันธ์มีประโยชน์ที่หลากหลายขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การนำไปใช้ แต่จะใช้เพื่ออะไรก็ควรมีการศึกษาให้ดีก่อน ในขั้นต้นควรทดลองทำการซื้อขายในกระดาษก่อนเพื่อให้ทราบว่า เครื่องมือชนิดนี้เหมาะกับเราหรือไม่ สามารถทำประโยชน์ให้เราได้จริงหรือไม่  หากพบว่าอนุพันธ์ให้ประโยชน์ได้ ควรเริ่มต้นจากใช้เพื่อป้องกันความเสี่ยงก่อน การเริ่มต้นแบบนี้ปลอดภัยกว่า เนื่องจากสถานะในทรัพย์สินจริงกับสถานะในอนุพันธ์จะถัวความเสี่ยงกันไปในตัวเอง โอกาสกำไรขาดทุนมากๆ จะเกิดได้น้อย  หลังจากใช้เพื่อป้องกันความเสี่ยงจนเกิดความชำนาญจึงค่อยเริ่มใช้ในเชิงเก็งกำไร

ขณะที่ อติมองว่าหากเรามีพอร์ตลงทุนในทองคำแท่ง เช่น เป็นร้านค้าทองหรือผู้ที่ผลิตเครื่องประดับที่ต้องใช้ทองคำเป็นวัตถุดิบ สามารถใช้โกลด์ ฟิวเจอร์สในการบริหารความเสี่ยงได้ แต่หากใช้เพื่อเก็งกำไรในราคาทองขาขึ้นหรือขาลง ผู้ลงทุนต้องหมั่นดูสถานะของพอร์ตการลงทุนอย่างสม่ำเสมอหรืออย่างน้อยทุกสิ้นวัน เพราะราคาโกลด์ ฟิวเจอร์สมีความผันผวน

7. คุณรู้หรือไม่ว่าใช้เงินลงทุนเท่าไหร่
กิดาการแจงว่า โกลด์ ฟิวเจอร์ส 1 สัญญา เทียบเท่ากับ ทองคำน้ำหนัก 50 บาท หากราคาทองคำอยู่ที่ 14,800 บาท การซื้อทองคำน้ำหนัก 50 บาทที่ราคานี้ คุณต้องชำระเงิน 740,000 บาท แต่แทนที่จะซื้อทองคำที่เป็นสินค้าจริง เปลี่ยนมาเป็นซื้อทองคำล่วงหน้า 1 สัญญา ซึ่งเท่ากับทำสัญญาซื้อทองล่วงหน้า น้ำหนัก 50 บาท จะต้องวางเงิน 66,500 บาท แต่คุณมีสิทธิรับรู้กำไรขาดทุนเสมือนการถือครองทองคำน้ำหนัก 50 บาท
ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุพันธ์บอกว่าหลังจากนักลงทุนเปิดบัญชีซื้อขายโกลด์ ฟิวเจอร์สกับโบรกเกอร์ที่เป็นสมาชิกของตลาดอนุพันธ์ฯแล้ว ก่อนที่นักลงทุนจะส่งคำสั่งซื้อขายนักลงทุนต้องวางเงินหลักประกันเริ่มต้น (Initial Margin) 66,500 บาท ต่อ 1 สัญญาจึงสามารถส่งคำสั่งซื้อขายได้ แต่เนื่องจากเมื่อราคาเปลี่ยนแปลงไปนักลงทุนอาจเกิดผลขาดทุนจากการลงทุนจนทำให้ถูกเรียกหลักประกันเพิ่มได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการถูกเรียกหลักประกันเพิ่ม นักลงทุนจึงควรวางหลักประกันก่อนการซื้อขายเป็น 2 เท่าของเงินหลักประกันเริ่มต้น หรือประมาณ 130,000 บาทต่อ 1 สัญญา และสิ่งสำคัญคือ เงินที่จะนำมาลงทุนในสัญญาโกลด์ ฟิวเจอร์ส ควรเป็นเงินลงทุนที่แบ่งไว้สำหรับการลงทุนที่มีความเสี่ยงโดยเฉพาะ และเมื่อเกิดการขาดทุนจากเงินลงทุนก้อนนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันปกติ

8. คุณรู้หรือไม่ว่ามีปัจจัยอะไรที่มีผลต่อราคาทอง
สิ่ง สำคัญก่อนจะลงทุนในโกลด์ ฟิวเจอร์ คุณควรจะรู้ว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลกระทบกับความเคลื่อนไหวของราคาทองคำ  ซึ่งโดยปกติปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อราคาทองคำในประเทศไทย อติแจงว่ามี 5 ปัจจัยหลัก คือ
1. ค่าเงินสหรัฐ 
2. ความกลัวเงินเฟ้อ
3. ความไม่มั่นใจในระบบสถาบันการเงินหรือตลาดทุน
4. ความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์การเมืองหรือสงคราม
5. Demand และ Supply ของทองคำในตลาดโลก
นอกจากนี้ราคาทองในเมืองไทยยังมีปัจจัยอีก 2 อย่างเพิ่มเติมนอกเหนือจากปัจจัย 5 ข้อข้างต้น คือ
1. ค่าเงินไทยบาทเทียบกับค่าเงินสหรัฐ  และ
2. ผลของฤดูกาล เช่น ก่อนตรุษจีน หรือก่อนเปิดเทอม

9. คุณรู้หรือยังว่าโกลด์ ฟิวเจอร์สซื้อขายได้ที่ใดบ้าง
อติบอกว่านักลงทุนสามารถซื้อขายโกลด์ ฟิวเจอร์สได้ที่โบรกเกอร์อนุพันธ์ทั้ง 36 ราย และต้นเดือนมีนาคม 2552 จะมีโบรกเกอร์เพิ่มขึ้นมาให้บริการอีก 4 ถึง 5 ราย

กิดาการเสริมว่า กรณีที่คุณมีเงินออมในต่างประเทศ สามารถซื้อขายโกลด์ ฟิวเจอร์สในตลาดอนุพันธ์ในต่างประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง และอื่นๆ ได้อีกด้วย

10. ควรจะลงทุนในทองหรือโกลด์ ฟิวเจอร์สกี่เปอร์เซ็นต์ของพอร์ต
จากการวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พบว่าราคาทองคำในไทยมีการเคลื่อนไหว สัมพันธ์กันกับสินค้าโภคภัณฑ์อื่นได้แต่ราคาทองคำในประเทศไทยแทบจะไม่มีความ สัมพันธ์กับสินทรัพย์การลงทุนอื่น เช่น หุ้น อสังหาริมทรัพย์ หรือเงินฝาก
ดังนั้น หากนักลงทุนเพิ่มทองคำเข้าไปในพอร์ตการลงทุนก็จะได้รับประโยชน์จากการช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนลงได้ และควรกระจายความเสี่ยงไปไว้ในทองคำประมาณ 10%

ข้อนี้ กิดาการแนะว่ากรณีของการบริหารความเสี่ยงขึ้นอยู่กับปริมาณทองคำที่ลงทุนระยะยาว เช่น หากถือทองคำน้ำหนัก 100 บาท ก็ควรลงทุนโกลด์ ฟิวเจอร์ 2 สัญญา สำหรับคนที่ต้องการเก็งกำไร ควรค่อยๆ เริ่มต้นที่ระดับ 6-7% เช่น พอร์ตการลงทุน 1,000,000 บาท เริ่มต้นลงทุนด้วยโกลด์ ฟิวเจอร์ส 1 สัญญา ก็ถือเป็นระดับที่ไม่เสี่ยงจนเกินไป จนกระทั่งท่านมีความชำนาญเพิ่มขึ้นจนค่อยๆ เพิ่มขนาดของสถานะ

ส่วนอติมองว่า การลงทุนในโกลด์ ฟิวเจอร์จำนวนเท่าใดในพอร์ตการลงทุนนั้น ขึ้นอยู่กับการจัดสรรทรัพย์สินในพอร์ตลงทุนซึ่งขึ้นกับ อายุของผู้ลงทุน การกระจายความเสี่ยงของทรัพย์สินหลายประเภท  ความชำนาญในการคาดการณ์ราคาทองคำ ฯลฯ ผู้ลงทุนอาจพิจารณาลงทุนในทองคำ 5-15% ของสินทรัพย์ลงทุน

นี่เป็น 10 ข้อที่คุณจำเป็นต้องถามตัวเอง ก่อนที่จะเข้าไปลงทุนในโกลด์ ฟิวเจอร์  หากมีแม้แต่ข้อเดียวที่ยังไม่กระจ่าง  อย่าเพิ่งลงทุนเด็ดขาด

ภาพจาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ , YLG BULLION INTERNATIONAL

Posted by NonNY~* on 2/27/2552. Filed under , , , , , . You can follow any responses to this entry through the RSS 2.0. Feel free to leave a response

1 comments for "กฎ 10 ข้อก่อนลงสนามลงทุน..โกลด์ ฟิวเจอร์ส"

  1. ไม่ระบุชื่อ

    ขอบคุณมากนะครับสำหรับบทความ

Leave a reply

เชิญร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ความคิดเห็นล่าสุด

บทความล่าสุด