พลอยประจำเดือนเกิด กุมภาพันธ์ - แอเมทิสต์ (Amethyst)
แอเมทิสต์ (Amethyst) มาจากคำว่า "Amethystos" ในภาษากรีก แปลว่า การมีสติ ไม่มึนเมา จึงเชื่อกันว่าแอเมทิสต์มีคุณสมบัติทำให้ไม่เมา ชาวโรมันเชื่อว่าหากดื่มเหล้าจากจอกแอเมทิสต์ หรือแช่อัญมณีชนิดนี้ไว้ในเหล้าจะช่วยให้ไม่ให้เมา ในปัจจุบันถ้วยไวน์ในบางแห่งจึงยังคงแกะสลักจากแอเมทิสต์ แอเมทิสต์เป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่เมื่อ 5,000 ปีที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะอัญมณีศักดิ์สิทธิ์สำหรับการสักการะ ชาวอียิปต์โบราณนับถือแอเมทิสต์มาก มีการฝังแอเมทิสต์ทรงหัวใจไว้ในสุสานของฟาโรห์จำนวนมากตามคำสอนในคัมภีร์แห่งความตาย (The Book of the Dead) ส่วนทางด้านศิลปะ ชาวอียิปต์ได้สลักรูปแมลงจากอัญมณีสีม่วงนี้
ในคัมภีร์ไบเบิ้ล ได้กล่าวถึงแอเมทิสต์ว่าเป็น 1 ในอัญมณี 12 ชนิดที่ประดับลงบนจีวรของพระชั้นผู้ใหญ่ ดังนั้น ต่อมา แอเมทิสต์จึงกลายเป็นอัญมณีที่ใช้แสดงฐานะพระชั้นผู้ใหญ่ของคริสตจักร สังเกตได้จากแหวนของพระสันตปาปาและแหวนของพระที่มีบรรดาศักดิ์สูง แหวนของพระเหล่านี้ประดับด้วยแอเมทิสต์ทั้งสิ้น ส่วนบนเสื้อพิธีของบาทหลวงก็ประดับแอเมทิสต์ลงไป จนปัจจุบันนี้ แอเมทิสต์กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของบาทหลวง นอกจากนี้ โบสถ์ในยุคกลางก็ประดับประดาไปด้วยแอเมทิสต์เช่นกัน (และเพราะเชื่อกันว่าสีม่วงเป็นสีแห่งความศรัทธาในศาสนา)
แอเมทิสต์เป็นอัญมณีสีม่วงคราม - ม่วงแดง สำหรับอะมีทิสต์สีอ่อน เรียกว่า Rose de France ส่วนสีเข้ม เรียกว่า ม่วงดอกตะแบก มีลักษณะเป็นผลึกเดี่ยว (Crystalline Varieties) อยู่ในประเภทควอตซ์ (Quartz Species) มีองค์ประกอบทางเคมี คือ SiO2 สีม่วงเกิดจากธาตุเหล็ก (Fe) ที่เป็นธาตุร่องรอย (Trace elements) ในโครงสร้างผลึก มีความแข็งเท่ากับ 7 ตามโมห์สเกล (Mohs' Scale of Hardness) แอเมทิสต์ที่มีความใสสะอาดนิยมนำมาเจียระไนแบบต่างๆ ส่วนแอเมทิสต์ที่มีลักษณะขุ่น มีความใสน้อยหรือค่อนข้างทึบแสงนิยมนำมาแกะสลัก นอกจากนี้เนื่องจากมีลักษณะผลึกที่สวยงามตามธรรมชาติจึงสามารถใช้วางเป็นของประดับตกแต่งได้โดยไม่จำเป็นต้องเจียระไน
สมบัติของแอเมทิสต์
สูตรเคมี (Chemical composition) SiO2
ระบบผลึก (Crystal system) Rhombohedral
ผลึกแฝด (Twinning) Dauphine law, Brazil law, Japan law
ค่าดัชนีหักเห (RI) nω = 1.543–1.553 nε = 1.552–1.554
ค่าไบรีฟรินเจนซ์ (Birefringence) +0.009
ลักษณะทางแสง (Optical nature) Uniaxial
ความวาว (Luster) วาวแบบแก้ว (Vitreous)
แนวแตก (Cleavage) ไม่มี
รอยแตก (Fracture) แบบก้นหอย (Conchoidal)
ความแข็ง (Hardness) 7
ความถ่วงจำเพาะ (SG) 2.65
แอเมทิสต์ สามารถนำมาเผาที่อุณหภูมิประมาณ 470 - 750 องศาเซลเซียส จะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลอมเหลืองหรือเหลือง หรือน้ำตาลอมแดง และเป็นการเปลี่ยนสีถาวร มีชื่อเรียกว่า ซิทริน (Citrine)
แหล่งที่พบแอเมทิสต์ที่มีคุณภาพ ได้แก่ ในประเทศบราซิล, มาร์ดากัสการ์, แซมเบีย, อุรุกวัย, พม่า, อินเดีย, แคนาดา, แมกซิโก, นามีเบีย, รัสเซีย, ศรีลังกา และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
แอเมทิสต์สังเคราะห์ในปัจจุบันมีความคล้ายคลึงกับแอเมทิสต์ธรรมชาติมากทั้งส่วนประกอบทางเคมีและทางกายภาพ แต่ก็สามารถตรวจสอบได้โดยดูจาก Brazil law twinning ซึ่งเป็นลักษณะของผลึกแฝดที่พบในแร่ตระกูลควอตซ์ (Quartz)
แอเมทิสต์กับความเชื่อ
นอกจากจะเป็นอัญมณีประจำเดือนเกิดสำหรับเดือนกุมภาพันธ์แล้ว ปัจจุบันแอเมทิสต์ได้กลายมาเป็นอัญมณีที่คู่รักนิยมมอบให้กันในวันครบรอบการแต่งงานในปีที่ 4, 6 และปีที่ 17 อีกด้วย และมีความเชื่อกันว่าผู้ที่สวมใส่แอเมทิสต์จะสามารถควบคุมความคิดของศัตรูได้ และยังช่วยให้เจ้าของธุรกิจประสบความสำเร็จ บางตำราก็กล่าวว่าจะบ่งบอกว่าเป็นผู้ที่สุภาพ อัธยาศัยดี นอกจากนั้นอัญมณีชนิดนี้ยังช่วยในเรื่องของความรัก ความกล้าหาญ ป้องกันอันตราย และนำพาความสุขมาสู่ผู้สวมใส่อีกด้วย
ทางด้านการบำบัด อะมีทิสต์เป็นอัญมณีสีม่วงซึ่งเป็นสีแห่งจิตวิญญาณ จึงมีพลังช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัส ช่วยขจัดความคิดที่ชั่วร้ายและชำระล้างจิตใจให้บริสุทธิ์ ก่อให้เกิดสมาธิและการเรียนรู้ สำหรับผู้ที่เป็นโรคนอนไม่หลับ หากวางอัญมณีชนิดนี้ไว้ใต้หมอนจะช่วยให้หลับง่ายขึ้น หรือหากวางไว้บนหน้าผากจะช่วยรักษาอาการปวดศีรษะด้วย แอเมทิสต์ยังมีพลังช่วยในการฟอกเลือด หรือสร้างเม็ดเลือดได้ ดังนั้นจึงเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับเลือด
ทางด้านความรัก คนโบราณเชื่อกันว่า ถ้านำอะมีทิสต์รูปหัวใจประดับบนเรือนทองคำหรือเงิน และบ่าวสาวมอบให้แก่กันและกัน ทั้งคู่จะมีชีวิตรักที่มีความสุขตลอดไป อะมีทิสต์ (Amethyst)ตำนานเกิดอะมีทิสต์
ตำนานของแอเมทิสต์
ตำนานการเกิดของอะมีทิสต์เกิดขึ้นเมื่อวันหนึ่ง เทพไดโอนิซุส (Dionysius) เทพเจ้าแห่งเมรัยทรงกริ้วที่มนุษย์ไม่สนใจพระองค์ จึงสาปแช่งให้มนุษย์คนต่อไปที่เดินผ่านมาถูกเสือฆ่า แต่ผู้ที่เดินผ่านมา คือ สาวน้อยชื่ออะมีทิสต์ (Amethyst) ซึ่งกำลังเดินทางไปสักการะเทพธิดาไดอานา (Diana) เมื่ออะมีทิสต์ เห็นเสือเข้ามาใกล้จึงร้องขอให้เทพธิดาไดอานาช่วย เทพธิดาไดอานาจึงเสกให้อะมีทิสต์กลายเป็นผลึกแก้วควอทซ์ เมื่อเทพไดโอนิซุสทรงทราบถึงเจตนาของอะมีทิสต์ก็รู้สึกละอายพระทัย จึงทรงเทเหล้าองุ่นลงบนร่างของอะมีทิสต์เพื่อเป็นการไถ่โทษ ทำให้ร่างของเธอกลายเป็นสีม่วง และกลายมาเป็นอัญมณีสีม่วงนี้ที่เรารู้จักกัน
ข้อมูล git.or.th, SGS
ภาพประกอบจาก Emily Gems