ไขรหัสลับ “ปริศนาลูกปัด” แดนใต้
มนุษย์ทุกคนทุกยุคทุกสมัยทุกประเทศในโลกต่างชอบความสวยความงามด้วยกันทั้งสิ้น นอกจากเครื่องประดับที่ทำจากเพชร พลอยต่างๆ จะได้รับความนิยมสนใจจากมนุษย์ปุถุชน โดยเฉพาะเหล่าสุภาพสตรีทั้งหลายแล้ว ยังมีเครื่องประดับอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน นั่นก็คือ “ลูกปัด”
“ลูกปัด” เป็นหนึ่งในเครื่องประดับที่มนุษย์นิยมคลั่งไคล้ อาจจะเนื่องด้วยลูกปัดเป็นเครื่องประดับที่มีสีสันสวยงาม หาซื้อได้ง่าย ราคาไม่แพงมากนัก และลูกปัดในปัจจุบันก็มีให้เลือกเยอะแยะมากมาย ทั้งที่ทำจากหิน พลาสติก แก้ว ที่สำคัญคือ สามารถใส่ได้ทุกโอกาส แต่จะมีใครสักกี่คนที่สนใจใคร่รู้เรื่องราวความเป็นมาของเจ้าเครื่องประดับนาม ว่า “ลูกปัด” นี้อย่างถ่องแท้ ใครจะรู้ว้าเจ้าลูกปัดลูกเล็กๆ เม็ดหนึ่งสามารถเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ การค้า วัฒนธรรมของมนุษย์ในหลายพันปีที่แล้วได้ และโดยเฉพาะลูกปัดที่พบในคราบสมุทรภาคใต้ของไทย ที่ถือได้ว่าเป็นแหล่งใหญ่และสำคัญอีกแหล่งหนึ่งของลูกปัดในประเทศ
***เล่าขานประวัติศาสตร์ลูกปัด
นพ.บัญชา พงษ์พานิช จากสุธีรัตนามูลนิธิ จ.นครศรีธรรมราช และหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เล่าให้ฟังเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของลูกปัด ว่า มนุษย์ชอบประดับชอบความสวยงาม เพื่อแสดงความแตกต่างแสดงถึงสถานะของตน โดยเฉพาะลูกปัดในสมัยโบราณจะผลิตจากธรรมชาติที่อยู่ใกล้ตัวมนุษย์ ตั้งแต่เริ่มจากใช้ดอกไม้ ใบไม้ เมล็ดพืช ต่อมาก็ผลิตจากหอย กระดูก จนกระทั่งมนุษย์รู้จักการเจาะหินและใช้หินมาทำเป็นลูกปัด ซึ่งต่อมามีการพัฒนาการค้าแลกเปลี่ยน รวมถึงมีการผลิตจากลูกปัดหินมาเป็นลูกปัดทอง ลูกปัดแก้ว
ในโลกนี้ลูกปัดที่ถูกค้นพบมีอายุประมาณ 40,000 ปี ของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ และถ้ามองกระแสการนิยมลูกปัดทั่วโลก อียิปต์ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้นำด้านนี้ นอกจากนี้ในโลกนี้ยังมีอัก 2 ดินแดนที่มีคามนิยมไม่แพ้กัน คือ เปอร์เซีย เมโสโปเตเมีย, อัฟกานิสถาน( ลุ่มน้ำสินธุ)
เมื่อย้อนอดีต....ในประเทศไทยลูกปัดเริ่มพัฒนาและสามารถหาร่องรอยความเป็นมาได้ โดยเริ่มที่โคกพนมดี จ.ชลบุรี อายุประมาณ 4,000 ปี ที่มีหลักฐานการทำลูกปัดเปลือกหอย และได้พบสายสร้อยที่ทำจากลูกปัดจำนวน 150,000 เม็ด ที่ศพของนางพญาโคกพนมดี ต่อจากนั้นในภาคเหนือและภาคอีสานก็มีการพบลูกปัดหินคาร์เนเลี่ยน ลูกปัดหินอะเกต แต่ที่เด่นที่สุดคือ การพบลูกปัดแก้วสีฟ้าที่บ้านเชียง ซึ่งมีอายุ 2,000 ปี ที่ได้มีการบันทึกในสาระบบโลก สำหรับร่องรอยลูกปัดในภาคใต้นั้น นพ.บัญชา บอกว่า คนในภาคใต้ก็นิยมใช้ลูกปัดเป็นจำนวนมากเช่นกันแต่จู่ๆ ก็เกิดการสูญหายไป
“ถ้าศึกษาลูกปัดภาคใต้ทั้งหมดจะเข้าใจประวัติศาสตร์พัฒนาการลูกปัดโลกผ่านลูกปัดในภาคใต้ได้ จะเห็นได้จากในสมัยนั้นมีการผลิตขนาดใหญ่ในภาคใต้ แต่ในช่วงตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 4 ต่อเนื่องมา 2,000 ปีหรือ 1,500 ปี ลูกปัดเริ่มหายไป สาเหตุที่หายไปของลูกปัดเมื่อ 1,000ปีที่แล้ว ได้แก่ การเกิดภัยสงครามใน พ.ศ.1565-1568 การเกิดโรระบาด เกิดภัยธรรมชาติ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเส้นทางการค้าข้ามทวีป และการโยกย้ายถิ่นฐานบ้านเมือง”
ทั้งนี้ ลูกปัดที่พบในภาคใต้สามารถแบ่งได้ 3 ยุคด้วยกัน คือ ช่วงพุทธศตวรรษที่ 4 เป็นต้นมา สามารถพบได้ที่ เขาสามแก้ว ท่าชนะ ภูเขาทอง พุทธศตวรรษที่ 5-6 ที่ท่าชนะ บางกล้วย คลองท่อม และช่วงที่พบที่ทุ่งตึก เกาะคอเขา แหลมโพธิ์ ไชยา
***ลูกปัดกับแหล่งโบราณคดีแดนใต้
ร.อ.บุญยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ นักโบราณคดี กรมศิลปากร อธิบายว่า จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ได้จากการขุดค้นในพื้นที่แถบภาคใต้พบว่า ในดินแดนแถบนี้มีมนุษย์มาอยู่อาศัย 37, 000 ปีมาแล้ว นั่นแสดงให้เห็นว่าในพื้นที่ประเทศไทยมีมนุษย์อยู่อาศัยมานาน แต่ด้วยเหตุที่มนุษย์มีการเดินทาง อพยพโยกย้ายอยู่ตลอดเวลาจึงทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างมนุษย์ที่มีอยู่เดิมคือ คนที่อยู่ 30,000ปี กับคนที่อพยพเข้ามาใหม่
“คนแต่ละช่วงสมัยมีการอพยพโยกย้ายตลอดเวลา อาจจะต้องถามว่าในช่วงนั้นเป็นคนกลุ่มไหน เช่น ชายฝั่งอันดามัน แยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนที่อยู่ดั้งเดิมที่อยู่ตามถ้ำ เพิงผาต่างๆ แยกออกจากกลุ่มคนที่อยู่ตามชายฝั่งทะเล คนที่อยู่ตามแถบชายฝั่งทะเลอันดามันเป็นกลุ่มคนที่เชื่อว่า เป็นกลุ่มคนที่มีเชื้อสายใกล้ชิดกับคนอินเดียค่อนข้างมาก ซึ่งเข้ามาใหม่ 1,000 ปีเศษ ดังนั้น ชาติพันธุ์ทางมานุษยวิทยาคนภาคใต้บางคนเหมือนกับคนอินเดียหรือคนภาคใต้ที่ได้รับเชื้อสายจากจีนที่เพิ่งเข้ามา”
นอกจากนี้ ร.อ.บุณยฤทธิ์ ยังยกตัวอย่างพร้อมอธิบายเกี่ยวกับโบราณคดี “ทุ่งตึก” หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เหมืองทอง” ว่า เป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญที่เจอหลักฐานของการติดต่อการค้าที่เป็นการค้าทางทะเลที่มากที่สุดในประเทศไทยในเวลานี้ เพราะได้มีการขุดเจอเครื่องถ้วยชามสมัยราชวงศ์ถังจำนวนมาก เครื่องแก้ว เศษแก้ว เครื่องถ้วยเปอร์เซีย จากหลักฐานชุมชนทุ่งตึกแห่งนี้มีอายุ 1,000-1,300 ปีมาแล้ว
***จากนักขุดเป็นนักอนุรักษ์
สมจิตร ทองแดง อายุ 48 ปี อาชีพขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และสื่อมวลชนท้องถิ่น จ.พังงา หนึ่งในผู้ที่เก็บสะสมลูกปัด เล่าให้ฟังว่า เคยเป็นนักขุดหาลูกปัดแล้วนำไปขาย แต่ด้วยความผูกพัน จึงทำให้เห็นคุณค่าของลูกปัดมากขึ้นจึงเก็บไว้ไม่ขุดขายอีกแล้ว “ตอนนี้อยากเก็บไว้ ไม่ขายแล้ว ที่ใส่เพราะด้วยใจเรารัก ชอบของเก่า ไม่ได้ใส่เพราะว่าทำให้ถูกหวยหรือรวยขึ้น”
นอกจากนี้ “สมจิตร” ยังชี้และอธิบายลูกปัดที่ใส่ติดตัวให้ฟังว่า ตอนนี้ที่ใส่อยู่จะมีสร้อยลูกปัดและโดยเฉพาะแหวนที่มีหัวแหวนทำจากลูกปัดแก้วมีตา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ลูกยอ” โดยลูกยอนั้นมีนักสะสมของโบราณต้องการมากเนื่องจากชื่อดีมีความหมาย หายากจะเจอในพื้นที่ จ.พังงา ราคาซื้อขายจะมีการนับเป็นตา ตาละ 1,000 บาท
เช่นเดียวกับ วรสิทธิ์ พิมพ์บุญมา อาจารย์โรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูล จ.กระบี่ เล่าให้ฟังว่า เป็นคนในพื้นที่จึงมีความคุ้นเคยกับลูกปัดมาตั้งแต่เด็กและเคยเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ขุดลูกปัดไปขาย แต่ตอนนี้ไม่ได้ทำแล้วและหันมาสะสมและอนุรักษ์ลูกปัดแทน “ไม่ว่าลูกปัดชิ้นนั้นจะสวยหรือไม่สวยแต่ทุกชิ้นล้วนมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เท่าที่เก็บได้คิดว่าควรที่จะอยู่กระบี่ ควรจะเก็บไว้ให้คนกระบี่ดูบ้าง”
***การก่อเกิดนิทรรศการ “ปริศนาแห่งลูกปัด”
“พี่จี๊ด” จิระนันท์ พิตรปรีชา ที่ปรึกษาสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) นักเขียนกวีซีไรต์ กล่าวว่า สังคมมนุษย์มีจุดเด่นในเรื่องของลูกปัด เพราะลูกปัดสามารถสะท้อนได้หลายอย่าง เช่น วิถีชีวิตของมนุษย์ ภาษา การค้า ลูกปัดเป็นวัตถุที่คงทนถาวร มีอายุยืนยาวมีก่อนระบบเงินตรา ซึ่งลูกปัดก็ยังอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่เงินพดด้วง เหรียญ หอยได้หายสาบสูญไปแล้ว
“การก่อเกิดของสังคมมนุษย์ในสุวรรณภูมิโดยเฉพาะทางใต้ มีการผสมผสานอยู่ตลอดเวลา ลูกปัดหรือวัตถุในสมัยประวัติศาสตร์หลายๆ ชิ้น จะสะท้อนเครือข่ายและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในสุวรรณภูมิ ไม่มีการแบ่งแยก อาจจะมีการใช้ภาษาต่างกัน แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องมารบราฆ่าฟัน สำหรับนิทรรศการลูกปัดที่จัดขึ้นมาจากองค์ความรู้ที่นักวิชาการไทยเริ่มขึ้นมา เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความมาของสังคมมนุษย์ผ่านลูกปัด”
อย่างไรก็ตาม หากสนใจและพร้อมที่จะเรียนรู้ประวัติศาสตร์ให้มากขึ้นโดยมี “ลูกปัด”เป็นตัวเดินเรื่อง สามารถเรียนรู้และศึกษาได้ที่ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ซึ่งตอนนี้มีนิทรรศการหมุนเวียนเรื่อง “ปริศนาแห่งลูกปัด” โดยบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์แห่งโลกการค้า วัฒนธรรม การผลิต มนุษย์เชิงลึกและร่วมค้นหาความเร้นลับของดินแดนสุวรรณภูมิผ่านลูกปัดโบราณที่หายากนับพันปี เข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2552 เวลา 10.00-18.00 น.ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ ณ อาคารนิทรรศการหมุนเวียน สอบถามได้ที่ 02-225-2777 หรือ www.ndmi.or.th
ข้อมูลและภาพประกอบ ASTVผู้จัดการออนไลน์