พาเที่ยวพิพิธภัณฑ์เปลือกหอย
เมืองไทยเรามีพิพิธภัณฑ์ดีๆอยู่หลายแห่ง ซึ่งพิพิธภัณฑ์เปลือกหอยทั้ง 2 แห่งนี้เป็นสถานที่ที่แนะนำให้แวะเข้าไปชมหากมีโอกาส
พิพิธภัณฑ์เปลือกหอยกรุงเทพฯ
โดย หนุ่มลูกทุ่ง ASTVผู้จัดการออนไลน์เกิดขึ้นจากความรัก ความรอบรู้ และ ความเชี่ยวชาญในเปลือกหอยของ คุณจอม สมหวัง ปัทมคันธิน สุดยอดแฟนพันธุ์แท้เปลือกหอย 2 สมัย (ปี 2007 และปี 2008) ผู้คว้ารางวัลคะแนนโหวตสูงสุดปี 2008 ทายาทของคุณสมนึก ปัทมคันธิน เจ้าของพิพิธภัณฑ์เปลือกหอยที่หาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต เพิ่งเปิดตัวสดๆร้อนๆเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้เอง ตัวพิพิธภัณฑ์ได้ทำเลดีอยู่ตรงหัวมุมถนนสีลม 23 มองเห็นได้ชัดเพราะมีสัญลักษณ์รูปเปลือกหอยอันใหญ่อยู่บนตัวตึก ก่อนจะเข้าไปชมภายในพิพิธภัณฑ์ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมกันก่อน ตอนนี้ค่าเข้าชมสำหรับคนไทยในช่วงโปรโมชั่นเปิดพิพิธภัณฑ์อยู่ที่ 100 บาทขาดตัว แต่หลังจากนี้อีกสักหน่อยก็คงจะมีการปรับเปลี่ยนราคาแล้ว เพราะฉะนั้นหากใครอยากชมในราคาโปรโมชั่นนี้ก็ต้องรีบมากัน
ภายในอาคารนั้นแบ่งเป็นสามชั้นด้วยกัน รวบรวมเปลือกหอยจากทั่วโลกไว้มากกว่า 600 ชนิด แต่จำนวนเปลือกหอยที่นำมาจัดแสดงนั้นมีเป็นหมื่นๆ ชิ้นแบ่งกลุ่มตามชนิดของหอย เพียงเข้าไปที่ชั้นแรกก็รู้สึกได้ถึงความอลังการ เพราะมีเปลือกหอยหน้าตาแปลกๆทั้งเล็กทั้งใหญ่วางเรียงกันเป็นแถว มีคำอธิบายไว้เพียบพร้อม ที่ชั้นนี้มีหอยประเภทวงศ์หอยจุกพราหมณ์ หรือหอยสังข์ทะนาน ที่เรียกว่าหอยจุกพราหมณ์นั้นก็เพราะเกลียวที่ก้นหอยนั้นบิดเป็นเกลียวกลมคล้ายมวยผมของพราหมณ์ มีวงศ์หอยสังข์บิด หอยสังข์แตร หอยสังข์กบ และวงศ์หอยมือเสือ หอยมือแมว สำหรับหอยมือเสือนี้เป็นหอยสองฝาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกรองจากหมึกกล้วยยักษ์ และยังเป็นหอยที่มีสองเพศในตัวเดียว จะเรียกว่าเป็นหอยกระเทยก็คงได้ โดยในพิพิธภัณฑ์นี้มีหอยมือเสือขนาดยักษ์ที่พบอยู่ตามแนวปะการังน้ำตื้นชายฝั่งเขตอินโด-แปซิฟิคมาโชว์ให้ดูด้วย
นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีวงศ์หอยมะเฟือง วงศ์หอยโข่งทะเล หอยโข่งบาง โข่งเปลือกบาง วงศ์หอยรังนก วงศ์หอยตีนช้าง หอยกระต่าย แต่ที่ฉันเห็นว่าน่ารักที่สุดก็คงเป็นสิ่งที่อยู่ในตู้กระจกตรงกลางที่จัดแสดงเม่นทะเล อย่างเม่นยักษ์อังกฤษได้จากประเทศแคนาดา เม่นม่วงจากภูเก็ต เม่นระเบิดหนามใหญ่จากภูเก็ต เม่นบอลจากภูเก็ต เม่นจิ๋วน้ำลึกจากเกาะไต้หวัน เม่นเหล่านี้หน้าตาน่ารัก ตัวกลมๆป้อมๆแถมมีสีสันสวยงาม โดยเฉพาะเม่นระเบิดหนามใหญ่นั้นมีลวดลายสวยอย่างกับวาดเอาเลยทีเดียว
คราวนี้ขึ้นมาที่ชั้นสองกันบ้าง ที่ชั้นนี้มีหอยสีสันสดใส หน้าตาสวยงามแปลกประหลาดมากมาย ที่สวยโดดเด่นที่สุดฉันขอยกให้กับวงศ์หอยแสงอาทิตย์ หอยแต่งตัว หอยพระอาทิตย์ ที่จะเอาเศษหิน เศษปะการัง หรือเศษเปลือกหอยต่างๆมาเชื่อมติดกับเปลือกกระจายเป็นวงแผ่รัศมีโดยรอบคล้ายพระอาทิตย์
และหอยที่สีสันสดใสที่สุดขอยกให้กับหอยเชลล์หลากขนาดและหลากสีสัน ส่วนหอยที่น่ารักหวานแหววที่สุดก็ต้องหอยหัวใจ หรือหอยแครงหัวใจ หอยสองฝาที่เมื่อฝาทั้งสองประกบกันแล้วจะกลายเป็นรูปหัวใจสวยงาม บางอันมีสีขาวอมเหลือง บางอันสีเหลืองสดใส บางอันออกสีส้มอ่อนๆ บางอันก็เป็นสีชมพูปิ๊งน่ารักมากทีเดียว
ที่ชั้นสองนี้ยังมีฟอสซิลหอยขนาดใหญ่ที่ถูกค้นพบอย่างบังเอิญขณะขุดเจาะชั้นหินเพื่อสร้างถนนในประเทศเยอรมัน มีอายุอยู่ในยุคจูราสสิคตอนต้น หรือช่วง 180 ล้านปีก่อนนั่นเอง นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีหอยงวงช้าง หอยปิ่นขาว หอยปิ่นปักผม หอยเพรียงเจาะหินยักษ์ วงศ์หอยสังข์มงคลที่ไว้ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา และวงศ์หอยสังข์ยักษ์ สังข์จีน สังข์น้ำตาล และหอยอื่นๆอีกมากมาย
ปีนบันไดขึ้นมาดูเปลือกหอยกันต่อบนชั้นสามซึ่งเป็นส่วนจัดแสดงส่วนสุดท้ายกันบ้าง เมื่อขึ้นมาถึงชั้นนี้แล้ว สิ่งแรกที่จะได้เห็นก็คือภาพฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ซึ่งทรงพระราชทานให้แก่ผู้เข้าแข่งขันที่ชนะเลิศจากรายการแฟนพันธุ์แท้ตอนเปลือกหอย ซึ่งเป็นภาพฝีพระหัตถ์ที่งดงามมากทีเดียว
นอกจากนั้นแล้วบนชั้นนี้ยังจัดแสดงซากฟอสซิลฝูงโกเนียไตต์ (กลุ่มหนึ่งของแอมโมไนต์ในยุคโบราณ) พบที่เทือกเขาแอตลาส เมืองไอมูเซอร์ ประเทศโมรอคโค มีอายุกว่า 350 ล้านปีมาแล้ว ส่วนเปลือกหอยชนิดอื่นๆนั้นก็มีวงศ์หอยสังข์ปีก เช่น หอยชักตีน หอยแมงป่อง หอยมือนาง หอยจักรนารายณ์ วงศ์หอยสังข์หนาม ที่มีหน้าตาสวยงามไม่แพ้หอยชนิดอื่นๆ
ที่นี่ฉันยังได้รู้จักกับหอยที่มีเข็มพิษอย่างวงศ์หอยเต้าปูน ซึ่งบางชนิดมีพิษร้ายแรงทำให้คนเสียชีวิตได้ ดังนั้นเมื่อเราดำน้ำอยู่ใต้ทะเลจึงไม่ควรหยิบจับหอยต่างๆที่ไม่ทราบชนิดแน่ชัด เพราะเจ้าหอยตัวนั้นอาจจะเป็นหอยเต้าปูนก็ได้ นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีวงศ์หอยเม็ดขนุน หอยกระดุม วงศ์หอยเบี้ย ซึ่งเราเคยใช้แทนเงินในสมัยอดีต วงศ์หอยเจดีย์ หอยพลูจีบ ซึ่งมีเข็มพิษเช่นเดียวกับหอยเต้าปูน
คราวนี้มาดูหอยจำพวกหอยทากกันบ้าง ฉันได้เห็นหอยที่มีสีสันสวยงามอย่างหอยลูกกวาดคิวบา หรือหอยทากโพลีมิต้า ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นหอยทากบกที่มีสีสันลวดลายแจ่มที่สุดในโลกก็ว่าได้ ชนพื้นเมืองในเกาะคิวบาได้เก็บไปทำสร้อยคอหรือเครื่องประดับ และยังถือว่าเป็นมรดกแห่งชาติของคิวบาอีกด้วย นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีหอยทากอื่นๆเช่น หอยน้ำพริก หอยลุ หอยนกขมิ้น หอยทากต้นไม้ฟลอริด้า หอยทากยักษ์แอฟริกันและอเมริกาใต้ หอยทากทะเลทรายจากประเทศเปรู ซึ่งหาดูไม่ได้ง่ายๆอีกด้วย
บนชั้นสามยังมีมุมพิเศษจัดไว้สำหรับวงศ์หอยนมสาวน้ำลึก หอยนมสาวปากร่อง ที่ถือว่าเป็นหอยที่หายากและเป็นที่นิยมของนักสะสม เพราะอาศัยอยู่ในท้องทะเลลึกหลายร้อยไปจนถึงหลายพันเมตร และมีมุมจัดแสดงเปลือกหอยน้ำจืด เช่น หอยขมหนามจากทะเลสาบแทนแทนยิกา หอยกาบปุ่ม หอยเรือบิน หอยกาบ หอยเดือยไก่ดำ และหอยกาบน้ำจืดยักษ์จากประเทศจีน ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีขนาดเปลือกใหญ่ที่สุดในโลกจัดแสดงไว้ให้ชมกันด้วย
มองไปทางไหนก็เห็นแต่เปลือกหอยสวยงามล้ำค่าละลานตาไปหมด แถมยังไม่ใช่หอยธรรมดาๆ แต่เป็นหอยประเภทที่หายาก มาจากมหาสมุทรน้ำลึกบ้าง มาจากต่างประเทศบ้าง ดังนั้นคนที่ปกติเห็นแต่หอยขม หอยแครง หอยแมลงภู่อย่างฉันจึงต้องตกตะลึง และใช้เวลาอยู่ในพิพิธภัณฑ์เปลือกหอยแห่งนี้อยู่เกือบสองชั่วโมงเลยทีเดียว
พิพิธภัณฑ์หอยกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ที่ 1043 ซอยสีลม 23 บางรัก กรุงเทพฯ 10500 อยู่บริเวณหัวมุมถนนสีลม ซอย 23 เยื้องสี่แยกโรงพยาบาลเลิดสิน
เปิดให้เข้าชม เวลา 10.00-21.00 น. ทุกวัน
ค่าเข้าชม ชาวไทย 100 บาท ชาวต่างประเทศ 200 บาท
การเดินทาง มีรถประจำทางสาย 1, 15 และ 77 ผ่าน และสามารถนั่งรถไฟฟ้ามาลงที่สถานีสุรศักดิ์ หรือสถานีสะพานตากสิน หรือนั่งเรือด่วนเจ้าพระยามาขึ้นที่ท่าสะพานตากสิน แล้วเดินมายังซอยสีลม 23 ได้เช่นกัน
สอบถามรายละเอียด โทร.0-2234-0291
พิพิธภัณฑ์เปลือกหอย จ.ภูเก็ต
โดย นายรอบรู้
ตั้งอยู่ที่เลขที่ 12/2 หมู่ 2 ถ. วิเศษ ต. ราไวย์ ใกล้กับหาดราไวย์ เป็นสถานที่เก็บรวบรวมเปลือกหอยต่าง ๆ ที่พบในท้องทะเลอันดามันและจากท้องทะเลทั่วโลก มีการจัดแสดงเป็นระบบและมีข้อมูลประกอบอย่างน่าสนใจ จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อตั้งโดยคุณสมนึก ปัทมคันธิน ซึ่งสนใจเรื่องหอยมาตั้งแต่เด็ก จึงเริ่มศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง รับซื้อและเเลกเปลี่ยนเปลือกหอยจากคนภูเก็ตและผู้สนใจหอยทั่วไป ทำให้มีเปลือกหอยแปลกใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงคิดสร้างพิพิธภัณฑ์เปลือกหอยขึ้น เพื่อเผยเเพร่ความรู้เรื่องหอยแก่บุคคลทั่วไป เปิดให้เข้าชมตั้งแต่ ธ.ค. 2540
ภายในอาคารได้จัดแสดงเปลือกหอยเป็นหมวดหมู่อย่างสวยงาม ซึ่งจำแนกประเภทใหญ่ ๆ ได้สี่กลุ่ม ได้แก่
หอยเบี้ย เป็นหอยที่คนนิยมสะสมมากที่สุด มีโครงสร้างโค้งมน ผิวเปลือกเป็นมันวาวคล้ายกระเบื้องเคลือบ
หอยเต้าปูน เป็นหอยมีพิษ มีเปลือกเป็นทรงกรวย มีสีสัน ขนาด และลวดลายที่หลากหลายมาก
หอยสังข์หนาม หรือหอยหน้ายักษ์ เป็นหอยทะเลกลุ่มใหญ่ที่สุด เป็นหอยฝาเดี่ยว มีหนามขึ้นเป็นแนวรอบตัว และ
หอยสังข์จุกพราหมณ์ อาศัยอยู่ตามพื้นทรายปนเลนนอกแนวชายฝั่ง พบในประเทศไทยเพียงสองชนิด
หอยแต่ละกลุ่มที่จัดแสดงมีทั้งเปลือกหอยที่พบในน่านน้ำไทย เช่น จากภูเก็ต สตูล กระบี่ ระนอง และเปลือกหอยจากหลายประเทศทั่วโลก เช่น จากทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อ่าวเม็กซิโก แอฟริกาใต้ ฯลฯ มีทั้งเปลือกหอยที่หายากมากและที่พบเฉพาะถิ่น หอยทุกตัวมีป้ายบอกชื่อ ลำดับชั้นทางวิทยาศาสตร์ และคำบรรยายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น ไข่มุกสีทองหนัก 140 กะรัต พบด้านฝั่งตะวันตกของเกาะภูเก็ต ฟอสซิลหอยกาบสองฝาอายุนับร้อยล้านปี หอยสังข์ที่ใช้ในพิธีมงคล ไมโครเชลล์หรือกลุ่มหอยที่ตัวเต็มวัยมีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถแยกได้ด้วยตาเปล่า
เปิดให้เข้าชม 08.00-18.30 ทุกวันค่าเข้าชม คนไทย 100 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท
ติดต่อสอบถามข้อมูล โทร. 0-7638-1274, 0-7638-1888