คุณค่าที่มากกว่าความสวยงาม - ทองคำ
ในยุคโบราณ ทองคำได้นำมาใช้เป็นเครื่องตกแต่งในพิธีกรรมทางศาสนา เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความมีอำนาจ ความสว่าง และความรุ่งเรือง นับเป็นเวลานานหลายศตวรรษที่ผ่านมา ทองคำยังคงสามารถใช้เป็นเงินตราที่มีค่าสูงสุด และเป็นโลหะชนิดเดียวที่ได้รับการยอมรับในทุกหนทุกแห่งในการใช้แลกเปลี่ยนต่างๆ
ซึ่งจริงๆแล้วโลหะมีค่านี้มีการนำมาใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญๆต่างๆมากมาย เนื่องจากคุณสมบัติที่โดดเด่นหลายประการ คือ
1. สามารถตีแผ่ได้ (Mellability)
2. มีความเหนียว (Ductility) สูง
3. ทนการกัดกร่อน (Resistance to corrosion)
4. นำความร้อนและไฟฟ้า (Thermal and electrical conductivity)
5. สะท้อนแสงได้สูง (High reflectivity)
ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ จึงมีการนำทองคำมาใช้ในด้านต่างๆ ซึ่งล้วนแต่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์ทั้งสิ้น เช่น
ด้านอวกาศ (Aerospace)
ทองคำได้นำมาใช้เป็นชุดนักบินอวกาศและแคปซูล เพื่อป้องกันนักบินอวกาศจากรังสีที่มีพลังงานสูง ในขณะอยู่บนดวงจันทร์หรือในอวกาศ นอกจากนี้ทองบริสุทธิ์ยังใช้เคลือบเครื่องยนต์ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ หมวกเหล็ก เกราะบังหน้า โซ่ โดยชั้นทองมีความหนา 0.000006 นิ้ว เพื่อสะท้อนรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นสาเหตุให้การทำงานของอุปกรณ์เหล่านี้เสื่อมประสิทธิภาพ
ด้านทันตกรรม (Dentistry)
ทันตแพทย์ได้ใช้ทองคำเพื่อครอบฟัน (Crown) เชื่อมฟัน (Bridge) เลี่ยมทอง (Gold inlays) และเป็นบางส่วนของฟันปลอม (Partial denture) เนื่องจากทองคำทนต่อการกัดกร่อน ทนต่อการหมองคล้ำ และมีความแข็งแรง ทองคำที่ใช้ในลักษณะนี้ จะอยู่ในรูปทองคำผสมกับธาตุอื่นๆ เช่น ธาตุแพลตตินัม
ด้านอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics)
มีการนำทองคำมาใช้เป็นวัสดุที่ใช้ทำเป็นหน้าสัมผัส (Contact) ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ อาทิ เครื่องคิดเลข ทีวี คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และอื่นๆ เนื่องจากทองคำมีค่าการนำไฟฟ้าสูงและทนต่อการกัดกร่อน ทำให้อุปกรณ์ดังกล่าวมีประสิทธิภาพ และมีอายุใช้งานได้ยาวนาน
นอกจากทองคำแล้ว ยังมีอัญมณีมีค่าอีกชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งจะนำเสนอในครั้งต่อไป…
ข้อมูล สิริพรรณ นิลไพรัช สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาพประกอบ Corbis