ปรากฏการณ์ทางแสง – Gemstone Phenomena
แร่แต่ละชนิดมีคุณสมบัติทางแสงเฉพาะตัว และแร่ที่เป็นอัญมณีคุณสมบัติต่อแสงอย่างพิเศษเฉพาะชนิดของอัญมณีนั้น คุณสมบัติทางแสงที่เกิดกับอัญมณีเป็นผลมาจากคุณลักษณะที่เฉพาะของอัญมณี และ/หรือมลทินแร่ที่ฝังตัวอยู่ในเนื้ออัญมณี
ช่างเจียระไนอัญมณี ตลอดจนถึงผู้ที่สนใจอัญมณีควรรู้ถึงคุณสมบัติทางแสงแบบพิเศษของอัญมณีแต่ละชนิด เพราะอัญมณีแต่ละชนิดได้ซ่อนเร้นความงามของตัวเองไว้ การเลือกอัญมณีและการเจียระไนในทิศทางที่เหมาะสม จะทำให้อัญมณีแสดงความสวยงามเฉพาะตัวที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวอัญมณีออกมา
การเล่นสี (play of colour)
จริงๆ แล้วโอปอล (opal) ไม่มีคุณสมบัติด้านความคงทนที่เหมาะสมที่จะเป็นอัญมณี กล่าวคือ มันมีความแข็ง 5.6-6.5 เปราะและแตกร้าวได้ง่าย การดูแลโอปอล นอกจากต้องระวังเรื่องการกระทบกระแทกแล้ว ยังต้องดูแลไม้ให้โอปอลแห้งจนเกินไป เนื่องมาจากน้ำที่มีอยู่ในสูตรของโอปอลสามารถระเหยออกจากโอปอลได้ ทำให้โอปอลร้าว แต่มีเพียงโอปอลหนึ่งเดียวเท่านั้นที่มีคุณสมบัติการเล่นสีที่สวยที่สุดในบรรดาอัญมณีทั้งหลาย
การเล่นสีของโอปอลมีลักษณะที่สีของโอปอลสามารถเปลี่ยนสีได้ สีต่างๆที่เกิดเป็นจุดเปลี่ยนไป-มาเมื่อเราขยับอัญมณีโอปอลลักษณะเช่นนี้เกิดเนื่องจากรูปแบบโครงสร้างภายใน และปริมาณน้ำที่ไม่เท่ากันในแต่ละส่วนของโอปอล สามารถที่จะหักเหความยาวของคลื่นแสงที่เคลื่อนที่ผ่านเข้าไป และเคลื่อนที่ออกจากเนื้อโอปอลได้ ลักษณะสีคล้ายกับสีที่เห็นจากฟองสบู่
โอปอลขาว (White Opal) จากออสเตรเลียจะเกิดเป็นสาย (vein) แต่ภาษาชาวเหมืองโอปอลเรียกว่าเป็นชั้น (seam) บริเวณด้านข้างของชั้นโอปอลจะเป็นบริเวณที่แสดงการเล่นสีที่ดีที่สุด โอปอลชนิดนี้มักพบว่าเกิดเป็นชั้นที่หนา ในการตัดเพื่อเจียระไนสามารถตัดขวางชั้นของโอปอลได้เลย
โอปอลดำ ( Black Opal) เป็นโอปอลที่มีราคาสูงกว่าโอปอลขาว โอปอลชนิดนี้มีสีน้ำเงินเข้ม สีเทา สีเขียว และสีดำมัน มักเกิดเป็นชั้นบางๆ ทำให้ไม่สามารถเลือกด้านที่ตัดเพื่อให้ได้บริเวณที่เล่นแสงได้ดีที่สุด การใช้เทคนิคและความพิถีพิถันในการตัดและเจียระไน ทำได้โดยการเลือกบริเวณที่ให้การเล่นสีที่สวยและมีพื้นที่กว้างและเจียระไนได้ ตัดด้านของโอปอลด้านนั้นให้เรียบ ขัดจนกระทั่งการเล่นสีของโอปอลปรากฏ ต่อจากนั้นนำเศษโอปอลหรือแร่ชนิดอื่นมาปะติดทับบนหน้าเรียบนั้น (วิธีการนี้เป็นการเพิ่มความหนาเพื่อทำให้เกิดความแข็ง) กลับด้านโอปอลนั้นตัดและเจียระไนให้เป็นแบบนี้เมื่อเจียระไนเสร็จแล้วจะเรียกว่า ดับเบล็ท (doublet)
แชทโตแยนซ์ (chatoyant)
ลักษณะแชทโตแยนซ์ หรือลักษณะประกายตาแมว หรือลักษณะประกายตาเสือ เป็นลักษณะแถบสว่างของแสงที่ปรากฏบนผิวของอัญมณีบางชนิด เมื่อเจียระไนแบบหลังเบี้ยแถบสว่างของแสงที่ต่อเนื่องเกิดขึ้นจากขอบด้านหนึ่งของหลังเบี้ยพาดผ่านจุดยอดไปสู่อีกด้านหนึ่งของหลังเบี้ย ลักษณะของการเกิดประกายเช่นนี้ เกิดเนื่องจากการสะท้อนของแสงที่เคลื่อนที่เข้าไปในผลึกแร่ที่มีรูปร่างเป็นเส้นใยหรือเส้นไฟเบอร์ ได้มีการประมาณว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นไฟเบอร์นี้ มีขนาดซึ่งเปรียบเทียบได้ดังนี้คือ ในระยะทางหนึ่งนิ้วจะผ่านเส้นใยเหล่านี้ถึง 65,000 เส้น
อัญมณีที่ให้ลักษณะของประกายตาแมวที่แท้จริงคือ คริสโซเบริล (chrysoberyl) ซึ่งจัดว่าเป็นอัญมณีที่มีความแข็งเป็นอันดับที่ 3 รองจากเพชรและพลอย กล่าวคือ มีความแข็งเท่ากับ 8.5 มีสีเหลืองน้ำผึ้งและสีเขียวใบตองอ่อน-สีเขียวใบตองแก่ แร่ชนิดอื่นให้ลักษณะแชทโตแยนซ์ได้เช่น ทัวร์มาลีน (tourmaline) และควอทซ์(quartz) เป็นต้น ในเมืองไทยมีชื่อเรียกอัญมณีเหล่านี้ว่า แก้วตาเสือ หรือคตไม้สัก ลักษณะที่กล่าวมาเป็นแร่ควอทซ์ที่เกิดเป็นเส้นใย เข้าไปแทนที่โครงสร้างของแร่เซอร์เพนทีน (serpentine) ซึ่งจะได้เส้นใยไฟเบอร์เป็นสีน้ำตาลทองและสีน้ำเงิน
การตัดเพื่อเจียระไนเพื่อทำให้เกิดลักษณะแชทโตแยนซ์ ทำได้โดยการตัดฐานของรูปหลังเบี้ยให้ขนานกับเส้นไฟเบอร์ ถ้าหลังเบี้ยมีรูปร่างเป็นวงรีหรือรูปไข่เส้นไฟเบอร์ ควรจะวางตัวขนานกับด้านยาวของเส้นผ่าศูนย์กลางด้านที่ยาวของรูปแบบวงรี
แอสเทอริซึม(Asterism) หรือสตาร์ (Star) หรือสาแหรก
ลักษณะของแอสเทอริซึม คือ ลักษณะประกายรูปดาว 4 แฉก หรือ 6 แฉก ที่ปรากฏอยู่บนผิวอัญมณีที่เจียระไนแบบหลังเบี้ย ลักษณะที่เป็นที่นิยมก็คือ จุดศูนย์กลางของรูปดาวควรอยู่บริเวณจุดยอดของหลังเบี้ย (หรือจุดศูนย์กลางของหลังเบี้ย) ขาดาวต้องมีครบ 4 หรือ 6 ขา โดยที่ความยาวไล่จากจุดศูนย์กลางไปจนถึงขอบของหลังเบี้ย และถ้ารูปแบบการเจียระไนเป็นแบบรูปวงรีควรมีขาคู่หนึ่งอยู่ในทิศทางตามเส้นผ่าศูนย์กลางด้านยาวของรูปวงรี
การเกิดคุณสมบัติแอสเทอริซึม เกิดเนื่องจากการที่อัญมณีมีแร่ที่มีรูปร่างเป็นเข็มฝังตัวอยู่ในเนื้ออัญมณีอย่างเป็นระเบียบ ถ้ามีแร่รูปเข็มฝังตัวอยู่ในอัญมณีอยู่ 2 ชุด การเจียระไนที่ถูกต้องจะได้ลักษณะประกายรูปดาว 4 แฉก และถ้ามีรูปเข็มอยู่ 3 ชุดจะได้ประกายดาว 6 แฉก แต่ถ้ามี 1 ชุดลักษณะที่พบจะเป็นแชทโตแยนซ์หรือตาแมว
ในบางครั้งพบว่า ขนาดของประกายรูปดาวมีขนาดไม่เท่ากัน และขาไม่สมบูรณ์ครบ ลักษณะเช่นนี้เกิดเนื่องจากอัญมณีที่นำมาเจียระไนซึ่งมีรูปเข็มฝังตัวอยู่ มีการกระจายตัวอยู่ไม่สม่ำเสมอหรือเป็นเพราะวิธีการเจียระไนไม่ถูกวิธี แต่ในบางครั้งก็สามารถพบลักษณะประกายดาว 4 แฉก 2 ชุด (มี 8 ขา) หรือประกายดาว 6 แฉก 2 ชุด(มี 12 ขา) ลักษณะดังกล่าวนี้เกิดเนื่องจากมาจากวัตถุดิบอัญมณีมีการเปลี่ยนรูป (deformed) โครงสร้างภายในของมันไปจากเดิม โดยขบวนการทางธรรมชาติเช่น ถูกแรงบีบอัด คุณลักษณะพิเศษแบบหลังนี้ทำให้อัญมณีมีคุณค่ามากขึ้น
อัญมณีที่แสดงคุณสมบัติประกายรูปดาวที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ พลอยในตระกูลคอรันดัม (corundum) เช่น ทับทิม (ruby) และไพลิน (blue sapphire) การพิจารณาในการตัดเพื่อเจียระไนที่ทำให้ได้รูปดาวที่สมบูรณ์นั้นทำได้ยาก เพราะรูปเข็มที่ฝังตัวอยู่ในพลอยมีขนาดเล็กมาก และวัตถุดิบพลอยมักแสดงหน้าผลึกไม่สมบูรณ์
วิธีการพิจารณาหาจุดศูนย์กลางของประกายดาว และแนวที่จะตัดวัตถุดิบพลอยมีวิธีการพิจารณาดังนี้ นำวัตถุดิบพลอยมาศึกษาหาแกนทางแร่ที่ยาวที่สุด ในสาขาวิชาผลึกศาสตร์ทางแสง (optical ceystallography) เรียกแกนนี้ว่า แกน C ซึ่งจะเป็นแกนเดียวกันกับค่าดัชนีหักเหของพลอยที่เรียกว่า Ne และทางแกนแสง (optic axis) ตัดหน้าเรียบ และขัดมัน โดยให้หน้าเรียบนี้ตั้งฉากกับแกน C นี้ หรือนำวัตถุดิบพลอยมาพิจารณาหาหน้าที่แสดงการเปลี่ยนสีน้อยที่สุด และให้สีของพลอยเข้มที่สุด (ควรใช้กล้องจุลทรรศน์ที่มีแผ่นโพลารอยด์ในการพิจารณา) ตัดหน้าเรียบของพลอยให้ขนานกับหน้านี้ นำหน้าเรียบของพลอยไปส่องกับไฟ (ใช้ไฟโคมชนิดหลอดไฟไม่เคลือบ) พลิกหน้าเรียบของพลอยไปมาอย่างช้าๆ สังเกตจุดศูนย์กลางของประกายรูปดาว และทำเครื่องหมาย ทำการเจียระไนโดยใช้จุดศูนย์กลางของรูปประกายดาวเป็นจุดศูนย์กลางของรูปหลังเบี้ย
ในบางครั้งการพิจารณาอาจจะเห็นเพียงส่วนขาของประกายดาว การหาจุดศูนย์กลางของประกายดาว ทำได้โดยการลากเส้นตรงจากประกายขาอย่างน้อย 2 ขาไปตัดกัน จุดตัดจะเป็นศูนย์กลางของประกายดาว
อาเวนทูเรสเซนต์ (Aventurescence)
เป็นลักษณะของการสะท้อนแสงของอัญมณีที่ใส ซึ่งภายในเนื้ออัญมณีประกอบด้วยแร่มลทิน (mineral inclusions) ที่เรียงตัวเป็นระนาบ มลทินที่เรียงตัวเป็นระนาบนี้จะสะท้อนแสงให้ประกาย อัญมณีในตระกูลควอทซ์ และเฟลด์สปาร์ จะแสดงการประกายสะท้อนแสงเช่นนี้ การเจียระไนเพื่อทำให้เกิดอาเวนทูเรสเซนต์ ต้องตัดให้ฐานของหลังเบี้ยขนานกับระนาบนี้และระนาบของมลทิน ต้องอยู่ตื้นจากผิวโค้งของหลังเบี้ย
อัญมณีที่แสดงคุณลักษณะเช่นนี้มักมีราคาถูก แต่แร่เฟลด์สปาร์จากนอรเวย์ให้ประกายอาเวนทูเรสเซนต์สีส้มวูบวาบ ซึ่งเป็นที่นิยม เฟลด์สปาร์ที่แสดงลักษณะเช่นนี้มีชื่อเรียกว่า ซันสโตน (sunstone)
ชิลเลอร์ (Schiller)
ลักษณะประกายการสะท้อนแสงคล้ายกับอาเวนทูเรสเซนต์แต่ประกายการสะท้อนแสงนี้ เกิดเนื่องจากตัวอัญมณีมีชุดของแนวระนาบแนวแตก (เป็นแนว cleavage หรือแนว parting) อะมาโซไนต์ (Amazonite) และเฟลด์สปาร์ในชนิดอื่นๆเป็นอัญมณีที่แสดงคุณลักษณะเช่นนี้
อะดูลาเรสเซนต์ (Adularescence)
เป็นชื่อประกายเฉพาะของอะดูลาเรีย(adularia) ซึ่งเป็นแร่ในตระกูลเฟลด์สปาร์ ลักษณะอะดูลาเรสเซนต์คือ ประกายออกสีน้ำเงินนวลอ่อนๆ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของ มุกดาหาร หรือมูนสโตน (moonstone) ประกายอะดูลาเรสเซนต์สามารถเห็นได้ง่ายโดยการนำวัตถุดิบอะดูลาเรียไปจุ่มน้ำ และนำขึ้นมาดูโดยพลิกตัวอย่างไป-มาใต้แสงไฟรูปแบบของเจียระไนต้องตัดฐานของหลังเบี้ย ให้ขนานกับด้านของแร่ที่แสดงประกายมากที่สุด
แลบราโดเรสเซนซ์(Labradorescence)
เป็นลักษณะประกายการเล่นแสงของอัญมณีแลบราโดไรต์ (labradorite) เป็นแร่ชนิดหนึ่งของกลุ่มแร่เฟลด์สปาร์ มีสีดำ เทา ขาวขุ่น เฉพาะแลบราโดไรต์ที่มีประกายเล่นแสงเป็นสีเท่านั้นที่เป็นอัญมณี การเล่นแสงส่วนใหญ่เห็นเป็นสีน้ำเงินแถบกว้างเคลื่อนที่ไป-มาเมื่อขยับ ตัวอย่างประกายการเล่นแสงสีเขียว แดง ส้ม และเหลือง พบได้เช่นกัน
การตัดเพื่อเจียระไน อาศัยหลักการพิจารณาเช่นเดียวกับการพิจารณาวัตถุดิบอัญมณี ที่ต้องการลักษณะของอาเวนทูเรสเซนต์ ชิลเลอร์และอะดูลาเรสเซนซ์ หน้าตัดเรียบของวัตถุดิบควรนำมาทดสอบใต้แสงไฟอีกครั้งหนึ่ง (ควรให้ผิวตัวอย่างเปียก) และอาจจะตบแต่งเพิ่มได้โดยการตัดหน้าที่ทำมุมเพียงเล็กน้อยกับหน้าตัดแรก ซึ่งอาจจะทำให้ได้ลักษณะของการเล่นแสงได้ดียิ่งขึ้น
ไอริดิเซนซ์(lridescence)
เป็นลักษณะประกายที่เกิดขึ้นกับอัญมณีประเภทคาลซิโดนี (chalcedony) บางประเภท ในบางครั้งแถบชั้นวงในก้อนคาลซิโดนี (chalcedony nodules) มักจะมีชั้นบางๆของสนิมเหล็กขึ้นอยู่ แสงเมื่อเคลื่อนที่ผ่านชั้นเหล่านี้จะสะท้อนเกิดเป็นสีหลากสี คล้ายกับสีที่เห็นจากคราบน้ำมันที่ลอยตัวบนผิวน้ำ
การเจียระไนควรตัดวัตถุดิบให้ขนานกับชั้นสนิมเหล็กนี้ ขัดผิวหน้าให้มัน และให้ชั้นสนิทเหล็กอยู่ตื่นมากที่สุด คาลซิโดนีที่แสดงลักษณะเช่นนี้เรียกว่า อะเกตประกายไฟ (fire agate) หรือโมราประกายไฟ
ข้อมูล ตลาดพลอย
ภาพประกอบ gemselect.com, generousgems.com, Jewel for Me, Pacifier.com, Geology.com, Gemsoul.com, Glitzy Stone, Ethan Lord Jewelers, Shay’s Jewelers
หัวข้อที่เกี่ยวข้อง