Loading
250x250 Free Watch

สมัครสมาชิกเพื่อรับข่าวสารทางอีเมล์:

กรุณาตรวจสอบอีเมล์เพื่อยืนยันหลังจากทำการสมัคร

โพสล่าสุด

แบ่งปัน
|

พลอยประจำเดือนเกิด พฤษภาคม – มรกต (Emerald)

มรกต (Emerald) เป็นหนึ่งในประเภทพลอยเบริลที่มีสีเขียว เป็นพลอยที่ไม่ค่อยสะอาด เพราะมีมลทินภายในค่อนข้างมาก แต่เป็นที่นิยมมากกว่าพลอยเบริลชนิดอื่นๆ แต่เนื่องด้วยมีสีเขียวสดที่สวยงามและหาที่มีคุณภาพดียาก จึงทำให้มรกตมีราคาสูงกว่าเบริลชนิดอื่น บางเม็ดที่มีคุณภาพดีราคาอาจใกล้เคียงกับเพชร

มรกตเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ร่ำรวย ร่มเย็น เป็นอัญมณีประจำเดือนพฤษภาคมและครบรอบแต่งงานปีที่ 20 และ 35 มรกตเป็นส่วนหนึ่งในแก้วนพรัตน์ ที่มีความหมายถึงดาวพุธ จึงเป็นพลอยมงคลสำหรับผู้ที่เกิดในวันพุธ ซึ่งจะทำให้ผู้สวมใส่อยู่ยงคงกระพัน สามารถป้องกันอาวุธต่างๆและอุบัติเหตุ ส่วนผู้ที่เกิดในวันเสาร์ควรหลีกเลี่ยงที่จะสวมใส่มรกตเนื่องจากพลอยสีเขียวเป็นกาลกิณี
ในความหมายทางด้านสรีระ มรกตเป็นแร่ธรรมชาติที่ช่วยบำรุงสายตา และในความหมายทางด้านพลังจิต มรกตช่วยส่งเสริมการมองเห็นภาพแห่งอนาคต เชื่อกันว่ารักษาโรคบิดและเป็นยาระบายได้ ขณะสร้างความสัมพันธ์ทางความรักนั้น มรกตเผยถึงความจริงใจในคำมั่นสัญญาที่ชายหนุ่ม-หญิงสาวได้ให้ไว้ต่อกัน มันจะร้าวรานถ้าผิดคำสัญญาที่ได้ให้ไว้ต่อกัน

สมบัติของมรกต
สูตรเคมี : Be3Al2Si6O18
สาเหตุการเกิดสี:
เขียวมรกต - โครเมียมหรือวานาเดียม หรือทั้งคู่
เขียวอมฟ้า - โครเมียมและเหล็ก
ค่าดัชนีหักเห (RI) : ประมาณ 1.568 - 1.590 (ขึ้นอยู่กับแหล่ง)
ไบรีฟรินเจนซ์ (Birefringence) :  ประมาณ 0.005 - 0.009
ลักษณะทางแสง : แสงหักเหคู่ (DR ) uniaxial negative
สีแฝด : เขียวแกมน้ำเงินและเขียวหรือเขียวอ่อนอมเหลืองและเขียวเข้ม
ความโปร่ง : โปร่งใส ถึง ทึบแสง (ขึ้นอยู่กับมลทินภายใน)
ความวาว (Luster) : แบบแก้ว (vitreous)
การเรืองแสง : ส่วนใหญ่จะเฉื่อย (Inert)
ระบบผลึก : ผลึกหกเหลี่ยม (Hexagonal) มีหัวผลึกที่ตัดราบ มีร่องขนานถี่ๆ ตามความยาวของหน้าผลึก ซึ่งแตกต่างจากผลึกควอรตซ์ ตรงที่ควอรตซ์จะมีร่องตามแนวขวางผลึก
ความแข็ง (Hardness) :  7.5 ถึง 8
ความถ่วงจำเพาะ (SG) : ประมาณ 2.68 - 2.80 ( โดยปกติ = 2.72)
รอยแตก : รอยแตกเว้ากึ่งโค้ง (conchoidal)
ลักษณะมลทินภายใน : มลทินของไหล และ มลทินแร่อื่น
รูปทรงผลึก: ที่พบบ่อย คือ ทรงปริซึม หรือเป็นรูปแท่งแบนบาง (Thin tabular) ส่วนมรกตจากโคลัมเบียที่มีลักษณะพิเศษเรียกว่า "Trapiche emerald" ซึ่งมีลักษณะตัดกันเหมือนฟันของล้อเฟือง ชื่อนี้มาจากฟันเฟืองที่อยู่ในโรงงานอ้อยในโคลัมเบียเอง

ภาพจาก AllAboutGemstones.com(ซ้าย) รูปผลึกของมรกตแบบปริซึม (Prism)

 ภาพจาก AllAboutGemstones.com
ลักษณะพิเศษที่เรียกว่า Trapiche Emerald ในมรกตจากโคลัมเบีย

ภาพจาก dkimage.com แหล่งและกระบวนการเกิดมรกต
มรกตมีลักษณะการเกิดที่หลากหลายน่าสนใจ หลายคนคิดว่ามรกตต้องมาจาก โคลัมเบีย แซมเบีย หรือ บราซิล แต่แท้จริงแล้วมรกตมีอยู่ทั่วทุกทวีปแต่ที่ใดจะเป็นแหล่งสำคัญนั้น ขึ้นอยู่กับความสวยงาม ขนาด และปริมาณ ลักษณะการเกิดของมรกตจะขึ้นอยู่กับภูมิประเทศต่างๆ เช่นมรกตของโคลัมเบียพบอยู่ในหินปูน หรือหินดินดานสีเข้ม และอาจพบผลึกมรกตปะปนร่วมกับแร่ไพไรต์ แต่ส่วนใหญ่พบในหินแกรนิตและสายแร่เพกมาไทต์ นอกจากนี้ยังพบในหินแปรจำพวกไมกาชีสต์ ซึ่งมีแร่ดีบุกปนอยู่ด้วย

กระบวนการเกิดมรกตมีลักษณะพิเศษเฉพาะซึ่งต้องอาศัยสภาพแวดล้อมทางธรณีวิทยา และ ทางธรณีเคมีที่เหมาะสมซึ่งจะนำเอาธาตุโครเมียมและ/หรือ วานาเดียม มาพบกับธาตุเบริลเลียม ซึ่งมีเพียงไม่กี่แหล่งในโลกที่เกิดสภาวะแวดล้อมดังกล่าว โดยทั่วไปแล้วหินต้นกำเนิดจะต้องมีความสามารถในการทำให้เกิดการเคลื่อนที่หมุนเวียนของธาตุ ซึ่งเมื่อถูกกระตุ้นด้วยกิจกรรมทางธรณีวิทยา เช่น การเคลื่อนที่ของเปลือกโลก ซึ่งส่งผลให้แผ่นเปลือกโลกเกิดการแตกหัก เกิดรอยเลื่อน เกิดการคดโค้ง โก่งงอ ซึ่งส่งผลให้มีการเคลื่อนที่ของของเหลวในระบบ มาตามแนวรอยแตกซึ่งจะนำพาธาตุต่าง ๆ ที่เหมาะสมในการเกิดมรกตจากหินต้นกำเนิดมาพบกัน


มรกตนั้นสามารถเกิดการตกผลึกได้ในหลายลักษณะทั้งในหินชิสท์ หินไนส์ และ หรือในข่องว่างต่างๆ หรือในควอตซ์เลนส์ ตามแนวรอยแตกและรอยเลื่อนต่าง ๆ เป็นต้น (Petrov and Neumeier, 2002)

การปรับปรุงคุณภาพ
มรกตจัดเป็นพลอยที่มีการปรับปรุงคุณภาพมากที่สุดเนื่องจากมีลักษณะรอยแตกภายในค่อนข้างมาก จึงนิยมใส่สารเพื่อช่วยบดบังรอยแตกนั้นๆ ได้แก่ น้ำมันพืช น้ำมันจากแร่ หรือแม้แต่น้ำมันหล่อลื่น โดยสารพวกนี้จะซึมเข้าไปในรอยแตก นอกจากนี้ยังมีสารที่มาจาก ยางสนธรรมชาติที่เรียกว่า Canada balsam ซึ่งมีค่าดัชนีหักเหใกล้เคียงกับมรกต ส่วน Cedar wood oil และสารจากธรรมชาติอื่นๆที่มีค่าดัชนีหักเหพอๆกันจะมีราคาแพงกว่า เราอาจมองไม่เห็นสารที่ว่านี้แม้ใช้กล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยายสูงๆ

ข้อมูล GIT
ภาพประกอบ Allaboutgemstone.com, dkimage.com

Posted by NonNY~* on 5/12/2552. Filed under . You can follow any responses to this entry through the RSS 2.0. Feel free to leave a response

2 comments for "พลอยประจำเดือนเกิด พฤษภาคม – มรกต (Emerald)"

  1. ถ้ากล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูงๆน่าจะเห็นความแตกต่างนะครับ

  2. กล้องจุลทรรศน์ พลอยสวยมากๆเลยค่ะ

Leave a reply

เชิญร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ความคิดเห็นล่าสุด

บทความล่าสุด