คุณค่าที่มากกว่าความสวยงาม - เพชร
เมื่อพูดถึงเพชร คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงเครื่องประดับที่มีราคาแพง แต่ในแง่ของวัสดุแล้วเพชรถือว่าเป็นวัสดุที่มีความสำคัญมากในระดับหนึ่ง เนื่องจากสมบัติเฉพาะตัวในเชิงความแข็ง เพชรเป็นวัสดุที่แข็งที่สุด จึงถูกนำมาใช้ตั้งแต่ในยุคกรีก คนในยุคนั้นนำเศษเพชรมาทำเป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการแกะหินที่มีค่า ส่วนผงเพชรก็ถูกใช้อย่างกว้างขวางตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 สำหรับการขัดตกแต่งเพชรพลอย
เพชรเกิดจากการจัดตัวของอะตอมคาร์บอน (C) ภายใต้ความดันสูงภายในโลก ลึกลงไปต่ำกว่า 150 กิโลเมตร ซึ่งมีความดันถึงหลายพันบรรยากาศ ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจเลย ที่เพชรจะทนต่อความดันสูงได้ภายในห้องปฏิบัติการ เพชรถูกส่งขึ้นมายังพื้นผิวโลกด้วยไอน้ำและก๊าซอื่นๆ ซึ่งส่งผ่านเพชรมาทางรอยแตก
แม้ว่าเพชรและแกรไฟต์ (Graphite) มีองค์ประกอบพื้นฐานเหมือนกัน คือ เป็นรูปผลึกของคาร์บอนบริสุทธิ์ เพียงแต่การเชื่อมต่อของคาร์บอนอะตอม ในโครงสร้างที่ต่างกัน เพชรมีความสวยงาม เป็นผลึกใส และแข็งกว่าวัสดุใดๆ ในขณะที่แกรไฟต์เป็นวัสดุที่มีสีดำและอ่อน เพชรเป็นฉนวนไฟฟ้าที่ดีมาก แต่แกรไฟต์นำไฟฟ้าได้ในระดับกึ่งโลหะหรือเกือบเท่าโลหะ
ปัจจุบันมนุษย์สามารถนำเพชรไปใช้ประโยชน์ได้ในอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย เนื่องจากเพชรมีสมบัติเด่นๆ หลายประการ อาทิ ใช้ในเรื่องของการตัดและการขัด นอกจากนี้การเคลือบด้วยเพชรยังช่วยป้องกันการสึกกร่อนของส่วนที่มีการเคลื่อนที่ในอุปกรณ์เครื่องกล ซึ่งทำได้โดยการนำเพชรไปทำให้เป็นฟิล์มบาง (Diamond Thin Film) นอกจากคุณค่าในเชิงกลเรื่องความแข็งของเพชรแล้ว เพชรยังมีค่าคงที่ไดอิเล็กทริกสูง ซึ่งให้ผลดีในการหยุดการรั่วไหลของประจุ สิ่งนี้ทำให้เพชรมีคุณค่าอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิก เช่น เป็นฉนวนกั้นระหว่างชั้นของตัวเก็บประจุ ส่วนสมบัติทางแสงนั้น เพชรที่มีความบริสุทธิ์สูงมีการส่งผ่านแสงที่มองเห็นด้วยตาไปถึงแสงสีแดง ประโยชน์ของเพชรยังมีอีกหลายประการ ที่มิได้กล่าวในที่นี้ แต่ในอนาคตอันใกล้เราคงมีอุปกรณ์ที่ทันสมัยเกิดขึ้นอีกมากโดยที่มีเพชรเป็นองค์ประกอบ
ข้อมูล ดร. สุพิณ ต่างวิวัฒน์ สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย