Loading
250x250 Free Watch

สมัครสมาชิกเพื่อรับข่าวสารทางอีเมล์:

กรุณาตรวจสอบอีเมล์เพื่อยืนยันหลังจากทำการสมัคร

โพสล่าสุด

แบ่งปัน
|

ช่างทอง ลมหายใจ...ทองไทย

คงเคยได้ยินคำว่า "คนไทยมีฝีมือ ไม่แพ้ใครในโลก" โดยเฉพาะช่างทองที่ประดิษฐ์เครื่องประดับด้วยความประณีตละเอียดอ่อน แต่ดูเหมือนว่าผลงานของไทยจะอยู่เพียงเบื้องหลังชิ้นงานราคาแพงลิบลิ่วของยี่ห้อดังในโลกเท่านั้น ผู้ค้าทองไทยมีความพยายามหลายครั้งหลายคราที่จะผลักดันให้ผลงานทองไทยและเครื่องประดับอัญมณีได้รับการยอมรับจากตลาดโลก แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สัมฤทธิผล



ภาพจาก บ้านช่างทอง ความเพียรพยายามของผู้ผลิตไทยที่จะสร้างชื่อเสียงยังเกิดขึ้นอยู่หลายๆ แห่ง และซ่อนอยู่ในระดับกลุ่มเล็กๆ ของกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทว่าปัญหาอุปสรรคการสร้างแบรนด์ทองไทยไปตลาดโลกยังมีอีกหลายแง่มุมให้ขบคิด การขาดช่างทองที่นับวันจะลดน้อยถอยลงไป ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 3 หมื่นคนจากในอดีตที่มีช่างทองร่วมแสน หรืออีกเหตุผลหนึ่งเป็นเพราะการลดจำนวนร้านค้าทองจาก 1 หมื่นกว่าร้านเหลือประมาณ 6 พันร้านในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าประชาชนลดการบริโภคทองคำลงจนทำให้เจ้าของร้านทองโดยเฉพาะตู้แดงที่มีกำไรการขายทองไม่มากเริ่มทยอยปิดกิจการ บวกกับราคาทองคำแท่งที่นำเข้าจากตลาดโลกนำไปในลงทุนหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกองทุนหรืออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และการแพทย์ โดยเฉพาะการนำทองไปอ้างอิงการซื้อขายสินค้าล่วงหน้า ส่งผลให้ราคาทองขึ้นลงเร็ว ราคาทองจึงไม่นิ่งเหมือนในอดีต

กระแสการบริโภคทองคำแท่งที่มากขึ้นเพราะเห็นช่องโอกาสมีกำไรจึงทำให้ทองคำรูปพรรณได้รับความสนใจเพื่อใช้เป็นเครื่องประดับลดน้อยลง ร้านค้าทองคำหลายแห่งพยายามที่จะดูแลช่างทองให้คงอยู่ แต่ก็ยอมรับว่าไม่สามารถดูแลได้ทั้งหมด ส่วนใหญ่จะส่งงานให้ทำและมีรายได้จากงานแต่ละชิ้นโดยไม่มีรายได้ประจำ

บริษัท บ้านช่างทอง จำกัด (House of Goldsmiths) เป็นสกุลช่างทองที่มีต้นกำเนิดมาจากจังหวัดเพชรบุรี มีความพยายามจะรักษาช่างทองให้คงอยู่ต่อไป เพราะจากประสบ การณ์ที่คลุกคลีกับช่างทองมานานกว่า 20 ปี บุญเลิศ สิริภัทรวณิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท บ้านช่างทอง และในฐานะทายาทรุ่นที่ 3 เชื่อว่าช่างทองไทยมีฝีมือทักษะดีที่สุดในโลก และยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการผลิตเครื่องประดับยี่ห้อดังของโลก

ตึกแถว 3 ชั้น ถนนเจริญนครเป็นหนึ่งในโรงงาน มีช่างทองทำงานราว 10 คน บุญเลิศบอกว่าช่างทองชอบอยู่รวมกันเป็นแบบครอบครัวและทำงานร่วมกันแบบพี่น้อง ไม่ชอบกฎเกณฑ์ที่ต้องเข้าทำงานในตอนเช้าเลิกงานในตอนเย็นและกลับบ้าน แต่จะชอบทำงานอยู่ที่บ้าน ช่างทองที่มาร่วมงานกับบุญเลิศมาจากหลายจังหวัด เช่น เพชรบุรี สิงห์บุรี พะเยา แต่ละคนจะมีความถนัดแตกต่างกันไป เช่น ช่างที่มาจากสิงห์บุรีจะได้รับอิทธิพลการผลิต ทองแบบเขมร ช่างภาคเหนือจะเก่งเรื่องถักทอเพราะมีประสบการณ์ผลิตเครื่องเงิน

เปลวสีทองที่ผ่านกระบวนการความร้อนกำลังเทลงไปในแม่พิมพ์ให้ได้ทองแท่งขนาดน้ำหนัก 6 บาทที่มีความยาวเท่ากับดินสอหนึ่งแท่งหลังจากนั้นนำไปรีดให้เล็กลงอีกครั้งหนึ่งจนมีศูนย์กลางเหลือ 2.20 มิลลิเมตร และนำทองไปดึงผ่านแป้นดึงลวดทองให้มีขนาดเล็กที่สุด 0.26 มิลลิเมตร หรือใหญ่กว่าเส้นผมเพียงเล็กน้อย เส้นทองคำถูกตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ที่มีความยาวไม่ถึงครึ่งเซนติเมตรเพื่อเข้าสู่กระบวนการถักทอ โดยช่างทองจะใช้คีมเล็กๆจับเส้นทองมาเชื่อมต่อกันทีละเส้นทีละเส้นเพื่อผลิตเป็นสร้อยคอ

จุดเด่นของช่างทองคือสามารถผลิตสร้อยคอ แหวน ต่างหู หรือกำไลได้ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ จึงทำให้งานมีคุณค่าในตัวเองเปรียบเหมือนมีงานชิ้นเดียวในโลกเพราะเป็นงานฝีมือ ที่ใช้มือทำงานกว่า 90%

ภาพจาก บ้านช่างทอง การดูแลช่างทองของบุญเลิศไม่เพียงแต่ช่วยช่างทองให้อยู่รอดได้เท่านั้นแต่ยังช่วยพยุงให้ธุรกิจบ้านช่างทองให้คงอยู่และสานความฝันของเขาเพื่อยกระดับทองไทยให้เข้าไปอยู่ในตลาดโลก แผนการปรับปรุงต่อยอดธุรกิจของบุญเลิศมีหลายมิติเพราะการเปลี่ยนแปลงธุรกิจการค้าทองคำแท่ง ทองคำรูปพรรณ หรือแม้แต่โกลด์ฟิวเจอร์สที่เกิดขึ้นในตลาด ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนอยู่ในตอนนี้เร่งให้เขาปรับตัว

บุญเลิศไม่ได้มีเพียงบริษัท บ้านช่างทองเท่านั้นแต่เขามีอุตสาหกรรมทองคำที่ครบวงจรและบริษัทที่ก่อตั้งใหม่ส่วนใหญ่ยังมีอายุไม่ถึง 5 ปี เช่น บริษัท สยาม โกลด์ แกลอรี่ส์ จำกัด ก่อตั้งปี 2548 บริษัท ออสสิริส จำกัด ก่อตั้งปี 2549 และบริษัท ที.ซี.ออสสิริส ฟิวเจอร์ส จำกัด ก่อตั้ง 19 ธันวาคม 2551 ธุรกิจครบวงจรของบริษัทเริ่มตั้งแต่นำเข้า-ส่งออกทองคำแท่ง อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออสสิริส ส่วนผลิตทองคำรูปพรรณดูแลโดยบริษัท บ้านช่างทอง บริษัท สยาม โกลด์ แกลอรี่ส์ ดูแลด้านจิวเวลลี่ และบริษัท ที.ซี.ออสสิริสฯ เป็นตัวแทนโกลด์ฟิวเจอร์สจำหน่ายสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า บริษัทใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นมาเกิดจากการต่อยอดธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัวบุญเลิศ ที่มา จากสกุลช่างทองเพชรบุรีที่ถ่ายทอดงานศิลปะมากว่า 70 ปี

ความฝันของบุญเลิศที่จะนำพาทองไทยภายใต้แบรนด์ "บ้านช่างทอง" ไป ตลาดสากลได้เริ่มมา 3-4 ปี บุญเลิศเริ่มศึกษาและเดินทางไปอิตาลี หรือเวียนนาพบว่าเครื่องประดับของประเทศเหล่านั้นมีจุดเด่นและลักษณะเฉพาะตัว ในขณะที่ของไทยยังไม่มีอัตลักษณ์ที่ชัดเจนเพราะหากนึกถึงทองรูปพรรณในเอเชีย คนทั่วโลก จะนึกถึงอินเดียที่มีเอกลักษณ์ด้านลงยาหรือ ถ้าเป็นสไตล์ของจีนจะเป็นรูปดอกไม้

ประสบการณ์ที่เดินทางไปโชว์สินค้า ในต่างประเทศและเข้าแข่งขันประกวดทำให้เขาพบว่าการทำงานต้องมีกระบวน การและขั้นตอน เมื่อ 3 ปีก่อนบุญเลิศเปิดจำหน่ายจิวเวลรี่และนำเข้า-ส่งออกทองแท่งเพื่อนำไปตีในตลาดโลก แต่หลังจากที่เขาเดินทางไปโชว์สินค้าในต่างประเทศและแข่งขัน ประกวดสินค้าทางด้านจิวเวลรี่ทำให้เรียนรู้ว่างานสไตล์ไทย คนยังไม่ยอมรับและยังขาดความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับแบรนด์ไทย ทำให้เริ่มต้นใหม่เริ่มจากรับจ้าง ผลิตงานโออีเอ็ม (Original Equipment Manufacturing: OEM) รับจ้างผลิตให้ลูกค้า เพื่อฝึกฝนฝีมือให้มีความเชี่ยวชาญพัฒนาไปสู่งานดีไซน์และผลิตชิ้นงานได้ด้วยตนเอง หรือ (Original Design Manufacturing: ODM) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสร้างแบรนด์ ที่เรียกว่า Original brand name manufacturing: OBM

ภาพจาก บ้านช่างทอง การกลับมาเริ่มต้นใหม่ของบุญเลิศเกิดจากการเรียนรู้ของเขาพบว่าการที่จะสร้างแบรนด์ทองไทยและจิวเวลรี่ไปตลาดโลกได้นั้นต้องรู้จักตลาดอย่างถ่องแท้ว่าชอบสินค้า รูปแบบใด พฤติกรรมของลูกค้าเป็นอย่างไร แต่การที่เขาไปเริ่มทำจิวเวลรี่เมื่อ 3 ปีที่แล้วและนำสินค้าออกไปขายเป็นการทำงานที่ลัดขั้นตอน
"คีย์ของเรื่อง ต้นน้ำไม่ใช่การทำพิมพ์แต่ขึ้นอยู่กับการทำดีไซน์ ดีไซน์ที่ดีคือมีแบบดี ทีมงานดีและต้องคิดเลือกคอลเลกชั่น ทำเพื่ออะไร แบ่งกลุ่มทำงาน ใครเป็นลูกค้า ต้องมี หลายหน่วยออกมาช่วยกันคิด"

ระบบการทำงานของกลุ่มบ้านช่างทองเริ่มมีแบบแผนเน้นทำงานร่วมกัน โดยแบ่งออกเป็นหลายฝ่าย ทีมผู้บริหาร ทีมการตลาด ทีมดีไซน์ ทีมช่าง โดยทีมดีไซน์แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ทีมดีไซน์จิวเวลรี่และทีมดีไซน์เครื่องประดับทอง ผู้ออกแบบจะต้องรู้วิธีการทำงานของช่างและต้องเรียนรู้กระบวนการผลิต เริ่มจากรู้จักวัสดุ องค์ประกอบที่จะต้องไปด้วยกัน ทำงานเพื่อให้ผลิตชิ้นงานได้จริงเพราะบางครั้งงานดีไซน์ที่ออกมามีความสวยงามแต่ไม่สามารถผลิตได้ เป็นปัญหาที่บางครั้งมองไม่เห็น บริษัทเรียนรู้ว่าการแบบออกชิ้นงานต้องดูทิศทางของตลาดสากลเป็นหลักเพราะการแข่งขันระดับโลกจะมีกลุ่มที่เป็นผู้กำหนดเทรนด์เครื่องประดับ และการผลิตจะต้องสอด คล้องกับฤดูกาล เช่น ฤดูร้อน ฤดูหนาว หรือฤดูใบไม้ผลิ แต่เทรนด์ที่ตลาดโลกกำหนดเป็นเพียงช่วยนำทางเพื่อไม่ให้เกิดการฝืนกระแส แต่การสร้างแบรนด์ของบุญเลิศเขากลับไม่คิดที่จะตามกระแสมากไปเขาพยายามสร้างเอกลักษณ์ของงานให้มีรูปแบบความเป็นตะวันออก

สิ่งที่เขาคิด ไม่ได้เกิดจากเขาเพียงคนเดียว เขาเริ่มทำงานกับนักวิชาการอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และทีมงาน เพื่อย้อนกลับไปศึกษารากเหง้าของวัฒนธรรมตะวันตก และความเป็นสุวรรณภูมิในไทย พม่า เวียดนาม หรือแม้แต่ชาวเขาที่เป็นกลุ่มสร้างงานเล็กๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องศึกษาเพื่อสร้างเอกลักษณ์ของสินค้า สิ่งที่กลุ่มบ้านช่างทองใช้เป็นแกนหลักในการทำงานคือ การไม่ลืมรากที่เริ่มต้นมาจากงานฝีมือแม้จะปรับรูปแบบให้ทันสมัยไปไกลเพียงใดก็จะคงอนุรักษ์แบบเก่า โดยใช้เทคนิคเดินลวด ถักทอมาดัดแปลง งานดีไซน์หลายแบบที่ลงด้วยดินสอติดข้างฝาผนังบนชั้น 2 ของสำนักงานวังบูรพา เป็นลวดลายใหม่ที่ยังไม่ได้ตั้งชื่อ แต่เรียกว่าเป็นงานของปี 2009 กำลังจะสร้างเป็นชิ้นงานและจะเผยโฉมเร็วๆ นี้

กลุ่มผู้หญิงเป็นเป้าหมายหลักในการสร้างงานจิวเวลรี่และทองรูปพรรณ ดังนั้น งานออกแบบจะเจาะไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตอย่างไร เช่น ผู้หญิงโรแมนติก รสนิยม เลือกเสื้อผ้า ทำงานประเภทไหน เลือกรับประทานอาหารอย่างไร กลิ่นน้ำหอมที่ใช้ ขับรถยี่ห้ออะไร การทำงานทั้งหมดบุญเลิศบอกว่าเป็นงานวิจัยเพื่อศึกษาพฤติกรรมของลูกค้าและจำเป็นต้องทำเอง ไม่ว่าจ้างบริษัทภายนอก

ความพยายามสร้างแบรนด์ของกลุ่มบ้านช่างทองมีขึ้นหลายครั้ง เริ่มจากแบรนด์ไอริส จิวเวอร์รี่ส์ และปี 2551 สร้างแบรนด์ Goldlery ที่อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท สยาม โกลด์ แกลอรี่ส์ จำกัด แต่แบรนด์ที่บุญเลิศตั้งใจนำไปตีตลาดสากลคือแบรนด์ "บ้านช่างทอง" หรือ House of Goldsmiths ซึ่งเป็นแบรนด์ของกรุ๊ปที่ดูแลบริษัทลูกทั้งหมด และเขายังเชื่อมั่นว่างานจิวเวลรี่และงานทองคำรูปพรรณเป็นศิลปะที่ยังได้รับการชื่นชมแม้ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนไปนานเพียงใดก็ตาม

ข้อมูล นิตยสารผู้จัดการ
ภาพประกอบ บ้านช่างทอง

Posted by NonNY~* on 8/26/2552. Filed under , , . You can follow any responses to this entry through the RSS 2.0. Feel free to leave a response

0 comments for "ช่างทอง ลมหายใจ...ทองไทย"

Leave a reply

เชิญร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ความคิดเห็นล่าสุด

บทความล่าสุด