Loading
250x250 Free Watch

สมัครสมาชิกเพื่อรับข่าวสารทางอีเมล์:

กรุณาตรวจสอบอีเมล์เพื่อยืนยันหลังจากทำการสมัคร

โพสล่าสุด

แบ่งปัน
|

Gold Futures Zero-sum Game

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว


โกลด์ฟิวเจอร์สกลายเป็นเครื่องมือที่สร้างโอกาสการลงทุนที่อ้างอิงราคาทองคำทั้งขาขึ้นและขาลง แต่จะมีคนที่ได้กำไรและมีคนที่ขาดทุนในเวลาเดียวกัน เกมนี้จึงเรียกว่า zero-sum game


นทีวัย 38 ปี พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เขาทำงานมากว่า 10 ปีสามารถเก็บเงินสะสมได้ล้านกว่าบาท เขาตั้งใจจะฝากเงินไว้กับธนาคารเพื่อกินดอกเบี้ย แต่หลังจากเขาเห็นดอกเบี้ยปรับลดลง จึงทำให้เขามองหาช่องทางลงทุนใหม่ เขาเลือกลงทุนซื้อทองแท่งหลังจากติดตามสถานการณ์ข่าวสารเกี่ยวกับราคาทองคำมาได้ในระยะหนึ่ง และเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วราคาทองคำขึ้นอย่างต่อเนื่องสูงสุดถึง 15,537 บาทต่อทองคำน้ำหนัก 1 บาท ทำให้เขาตัดสินใจซื้อทองคำทั้งหมดหนึ่งล้านบาทและขายออกทำให้เขามีกำไรกว่าแสนบาทในเวลานั้น

แต่หลังจากโกลด์ฟิวเจอร์สเริ่มเปิดตัวเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2552 นทีสนใจเกี่ยวกับการลงทุนดังกล่าวและเริ่มศึกษารูปแบบการลงทุนแต่เขาก็ไม่ได้เร่งรีบ เพราะรู้ว่าการลงทุนโกลด์ฟิวเจอร์สมีความเสี่ยงสูงและไม่ได้ลงทุนจริงในทองคำ
"สมมุติคุณลงทุนไป 1 แสนบาทภายในหนึ่งสัปดาห์แต่คุณขาดทุน 4 หมื่นบาทในทันที คุณยอมรับได้หรือเปล่า ถ้ารับไม่ได้แนะนำว่าคุณอย่าเพิ่งตัดสินใจลงทุน" เป็นคำพูดของโบรกเกอร์รายหนึ่งในงานมันนี่เอ็กซ์โปที่คุยกับนทีอย่างออกรส

นทีเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของนักลงทุนส่วนบุคคลที่แสวงหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อลงทุน ในยามเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้เพราะเชื่อว่าฝากเงินไว้กับธนาคารเพื่อรับดอกเบี้ยเพียงน้อยนิดไม่น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีนัก หรือหากจะลงทุนในหุ้นอาจไม่เหมาะในปีนี้แม้ว่าดัชนีหุ้น จะดีดขึ้นมาอยู่ในระดับ 400-500 จุดจากที่เคยลงไปต่ำสุดถึง 380 จุดเมื่อปีที่แล้ว

Gold Futures หรือสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า เกิดขึ้นจากความต้องการใช้ทองคำของธุรกิจทั่วโลกที่เพิ่มมากขึ้นในหลายภาคส่วน เช่น ภาคเครื่องประดับ ภาคอุตสาหกรรมการแพทย์ และภาคการลงทุน ซึ่งในช่วงแรกทองคำถูกนำไปใช้จริงในอุตสาหกรรมต่างๆ แต่มาภายหลังสมาคมผู้ค้าทองคำโลก (World Gold Council) ร่วมกับผู้ค้าทองคำ และผู้ผลิตทองคำคิดค้นบริการเพื่อให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในทองคำได้ง่ายโดยผ่านสัญญาซื้อขายไม่ต้องครอบครองทองคำจริง โกลด์ฟิวเจอร์สจึงเป็นเครื่องมือให้กับนักลงทุนให้บริการสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้าโดยอ้างอิงราคาทองคำจริงที่อยู่ในตลาด

ในตลาดโลกโกลด์ฟิวเจอร์สเริ่มซื้อขายมาประมาณ 30 ปี โดยมีตลาดหลัก COMEX นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาให้บริการซื้อ-ขายสินค้าฟิวเจอร์สทั้งหมด ซึ่งรวมไปถึงสินค้าคอมมอดิตี้ส (commodity) อื่นๆ เช่น สินค้าเกษตร น้ำมัน ข้าว เป็นต้น สินค้าเหล่านี้มีการซื้อขายตลอด 24 ชั่วโมง หลายประเทศเริ่มทยอยเปิดให้บริการโกลด์ฟิวเจอร์สมากขึ้น เป็นแนวโน้มที่ไม่สามารถปฏิเสธการลงทุนในรูปแบบสัญญากระดาษที่สร้างผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนโดยที่ไม่ต้องมีการซื้อสินค้าจริง ในภูมิภาคเอเชียประเทศที่เปิดให้บริการโกลด์ฟิวเจอร์ส เช่น จีน อินเดีย ไต้หวัน เกาหลี ฮ่องกง และญี่ปุ่น

ประเทศอินเดียเป็นประเทศที่มีการซื้อ-ขายโกลด์ฟิวเจอร์สประมาณ 20 ล้านสัญญาต่อปี ส่วนไต้หวันเปิดให้บริการเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาขายได้ 10,000 สัญญาต่อวัน
"หากนำปริมาณการซื้อ-ขายโกลด์ ฟิวเจอร์สของ 3 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ญี่ปุ่น อินเดีย และไต้หวันมารวมกันมูลค่าการซื้อขายมีมากกว่าตลาดนิวยอร์กเพราะตลาดนี้สามารถซื้อที่ประเทศไหนก็ได้ แต่สำหรับประเทศไทยมีกฎระเบียบนำเงินออกนอกประเทศ จึงทำให้นักลงทุนต้องซื้อ-ขายภายในประเทศ" เกศรา มัญชุศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวกับผู้จัดการ 360 ํ

สถิติตัวเลขการซื้อขายทองคำในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะปี 2542- 2543 ราคาขายประมาณ 280-300 เหรียญสหรัฐต่อทรอยเอานซ์ (ทอง 1 กิโลกรัมเท่ากับ 32.148 ทรอยเอานซ์ ส่วนทองน้ำหนัก 1 กิโลกรัมเท่ากับ 65.6 บาท) แต่ในปี 2551 ราคา ขยับไปถึง 1 พันเหรียญสหรัฐทรอยเอานซ์ หรือโดยเฉลี่ยในรอบ 10 ปี นักลงทุนในโกลด์ ฟิวเจอร์สกำไร 8-9 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

แม้ว่าการซื้อ-ขายโกลด์ฟิวเจอร์สจะคึกคักในตลาดนิวยอร์กก็ตาม ทว่ากลุ่มคนที่มีบทบาทกำหนดราคาทองคำโลกอยู่ในตลาดลอนดอน เพราะลอนดอนเป็นศูนย์กลางธนาคาร โลกและธนาคารทองคำแท่งที่ทำหน้าที่รับฝาก ให้ยืม และทำธุรกิจทองคำทั้งหมด จึงทำให้เป็นผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก

กลุ่มธุรกิจ 5 กลุ่มที่กำหนดราคาทองคำ คือ N.M Rothschild, Societe General, The Hong Kong Shanghai Bank (HSBC), Scotia Mocatta และ Deutsche Bank กลุ่มนี้จะกำหนดราคาทองคำสองครั้งต่อวัน ครั้งแรกตอน 10.30 น.ตามเวลาลอนดอนซึ่งในวงการธุรกิจเรียกว่า ราคาปิด A.M ส่วนครั้งที่สองราคาปิดจะกำหนดหลังเที่ยงวันในวันเดียวกันเรียกว่า ราคาปิด P.M. แต่ราคาทองคำโลกจะวิ่งตลอด 24 ชั่วโมง วงจรชีวิตในหนึ่งวันของตลาดทองคำ หากเริ่มต้นที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เวลา 6 โมงเช้า ตลาดโตคอมญี่ปุ่นจะเป็นเวลา 7.00 น. ในตอนเช้า สิงคโปร์ 8.00 น. และฮ่องกงจะเป็นเวลา 9.30 น. (เช้า) ประเทศไทยเวลาใกล้เคียงกับฮ่องกงและตลาดก็จะเปิดในอินเดีย ดูไบ สหรัฐอาหรับ อิมิเรตส์ รวมไปถึงตลาดในยุโรป ลอนดอน อังกฤษ และซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไปสิ้นสุดที่ตลาดนิวยอร์กประมาณ 20.20 น. (กลางคืน)

ปัจจัยที่ทำให้ราคาทองคำแท่งและโกลด์ฟิวเจอร์สสูงขึ้น คือ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อน ความกลัวเงินเฟ้อสูง เกิดสงครามและตลาดทุนขาดความเชื่อมั่น ส่วนน้ำมันส่งผลให้ราคาทองขึ้นหรือลงทั้งสองทาง แม้ว่าราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นแนวโน้ม ส่วนใหญ่ราคาทองจะขึ้นแต่ก็มีโอกาสราคา ทองจะลงได้เช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับค่าเงินดอลลาร์อาจจะแข็งค่า

โกลด์ฟิวเจอร์สในประเทศไทยยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับนักลงทุนแม้ว่าจะเปิดให้บริการมาแล้วครึ่งปีก็ตาม และไม่ได้เป็นเรื่องใหม่เฉพาะในฝั่งของนักลงทุนเท่านั้นแต่ยังใหม่สำหรับโบรกเกอร์ในฝั่งผู้ค้าทองคำ เข้ามาเป็นตัวแทนจำหน่ายซื้อ-ขาย

หน่วยงานและบริษัทที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับบริการโกลด์ฟิวเจอร์สมีหลายภาคส่วน คือ
บริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TFEX ทำหน้าที่เป็นศูนย์ซื้อขายสัญญาล่วงหน้าและดูแลการซื้อขายให้เกิดความราบรื่นและน่าเชื่อถือ
บริษัท สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ TCH ทำหน้าที่รับประกันการจ่ายชำระเงินระหว่างคู่สัญญาผู้ซื้อ-ผู้ขาย
ส่วนโบรกเกอร์อนุพันธ์ทำหน้าที่เป็นตัวแทนซื้อขายจำนวน 41 ราย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกโบรกเกอร์ที่มีใบอนุญาตให้บริการซื้อ-ขายหุ้นและสินค้าในตลาดอนุพันธ์ได้ทั้งหมด ซึ่งมีทั้งหมด 36 ราย กลุ่มสองเป็นกลุ่มร้านค้าทองในประเทศไทยจำนวน 5 ราย ได้รับอนุญาตให้บริการได้เฉพาะซื้อ-ขายสัญญาล่วงหน้าที่อ้างอิงทองคำเท่านั้น
ผู้ค้าทองจำนวน 5 ราย ประกอบด้วยบริษัท จีที เวลธ์ แมเนจเมนท์ จำกัด บริษัท ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ ฟิวเจอร์ จำกัด บริษัท ที.ซี.ออสสิริส ฟิวเจอร์ส จำกัด บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด

อติ อติกุล ผู้อำนวยการฝ่ายตราสารอนุพันธ์ บมจ.หลักทรัพย์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หนึ่งในผู้ให้บริการโกลด์ฟิวเจอร์สเล่าให้ฟังว่า ความได้เปรียบเสียเปรียบของโบรกเกอร์ที่ค้าหุ้น อนุพันธ์และผู้ค้าทองแตกต่างกัน โดยโบรกเกอร์ที่ค้าหุ้นอนุพันธ์จะมีประสบการณ์ในการขายผลิตภัณฑ์ฟิวเจอร์สอื่นๆ เช่น ฟิวเจอร์ส SET 50 หรือ SET 50 ในอินเด็กซ์ ออฟชั่น
ตัวอย่างเช่น บมจ.หลักทรัพย์กิมเอ็งมีงายวิจัยทั้งหุ้นและฟิวเจอร์สรวมไปถึงมีเจ้าหน้าที่ด้านการตลาดประมาณ 500 คน ทำให้ลูกค้าคุ้นชินกับสไตล์บริการให้คำปรึกษา แต่ผู้ค้าทองคลุกคลีอยู่ในวงการซื้อ-ขายทองคำแท่งมีบทวิจัยที่ดีมีโอกาสคาดการณ์ ทิศทางของราคาทองคำได้แม่นยำ แต่ยังขาดประสบการณ์กระบวนการบริการซื้อ-ขายโกลด์ ฟิวเจอร์สและมีสินค้าเพียงตัวเดียว

การซื้อ-ขายโกลด์ฟิวเจอร์สในประเทศไทยจะอ้างอิงราคาทองคำในตลาดโลกทุกวัน โดยบริษัทตลาดอนุพันธ์ฯ จะใช้ราคา London Gold AM Fixing เป็นราคาอ้างอิงในการคำนวณ กำหนด 2 ครั้งใน 1 วัน เวลา 10.30 น. ในตอนเช้าส่วนในตอนบ่าย เวลา 16.30 น. ส่วนเวลาการซื้อขายในตลาด TFEX แบ่งเป็นช่วงเวลาดังนี้
ช่วงก่อนเปิดตลาด (เช้า) 9.15 - 9.45 น.
ช่วงเช้า 9.45 - 12.30 น.
ช่วงก่อนเปิดตลาด (บ่าย) 14.00 - 14.30 น.
ช่วงบ่าย 14.30 - 16.55 น.

สัญญาซื้อขายล่วงหน้าในไทยจะอ้างอิงทองคำที่มีความบริสุทธิ์ 96.5% เป็นมาตรฐาน ทองคำบริสุทธิ์ในประเทศไทย ในขณะที่ตลาดในต่างประเทศใช้ทองบริสุทธิ์ 99.99% ดังนั้นจึงต้องมีสูตรคำนวณโดยนำราคาทองตลาดโลกหรือ World Gold Spot มาแปลงจากความบริสุทธิ์ 99.99% X 96.5% ทองคำบริสุทธิ์ของเมืองไทย แปลงน้ำหนักทรอยเอานซ์ให้เป็นบาท และคูณด้วยค่าเงินบาทกับค่าเงินยูเอสดอลลาร์

ขนาดสัญญาซื้อ-ขาย เริ่มต้น 1 สัญญามีมูลค่าทองคำหนัก 50 บาท หรือ 762.2 กรัม (ทองคำน้ำหนัก 1 บาท = 15.244 กรัม) คิดค่าธรรมเนียมฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย 50 บาท ต่อสัญญา
การซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์สจะต่างจากการซื้อ-ขายหุ้นและซื้อขายทองคำ เพราะโกลด์ฟิวเจอร์สเป็นสัญญาซื้อ-ขายล่วงหน้าผู้ลงทุนไม่ต้องจ่ายเงินทั้งจำนวนหรือผู้ลงทุนใช้เงินจำนวน 1 ใน 10 ของมูลค่าทั้งจำนวน
ตัวอย่างเช่น ผู้ลงทุนเลือกลงทุน 1 สัญญา (ราคาทองคำหนัก 50 บาท บาทละ 16,000) หากซื้อทองคำจริงต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 8 แสนบาท แต่ลงทุนโกลด์ฟิวเจอร์ส ใช้เงินลงทุน 66,500 บาทประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของการลงทุน

การลงทุนด้วยเงินจำนวนน้อยเป็นสิ่งที่โบรกเกอร์และบริษัทตลาดอนุพันธ์พยายามที่จะชึ้ให้เห็นและจูงใจนักลงทุน ซึ่งในความเป็นจริงเงินลงทุนจำนวน 66,500 บาทคือเงินมัดจำที่ใช้เป็นหลักประกันขั้นต้นที่ต้องวางไว้ที่โบรกเกอร์อนุพันธ์และสำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด
ตัวอย่างเช่น เมื่อผู้ลงทุนเปิดบัญชีอนุพันธ์ (Derivative Account) และวางหลักประกันเป็นเงินสดในบัญชีอนุพันธ์ 66,500 บาท หรือเงินลงทุน 10 เปอร์เซ็นต์ ต่อ 1 สัญญา หากผู้ลงทุนได้กำไร โบรกเกอร์จะนำเงินเข้าไปในบัญชีอนุพันธ์ทุกวัน ในตอนเย็น แต่กรณีผู้ลงทุนขาดทุน ผู้ลงทุน จะต้องนำเงินมาเติมให้ครบเต็มจำนวนของเงินหลักประกัน 66,500 บาท หากนักลงทุนปล่อยเงินในบัญชีลดต่ำลงไปจนถึง 19,950 บาท โบรกเกอร์มีสิทธิปิดสถานะเพื่อหยุดการซื้อ-ขายทันทีหรือโบรกเกอร์ให้เวลาลูกค้าเติมเงินเข้ามาภายใน 1 ชั่วโมง

การลงทุนที่แท้จริงผู้ลงทุนจะต้องมีเงินสำรองส่วนหนึ่ง กรณีเกิดการขาดทุนจะต้องมีเงินสดมาเติม ซึ่งหากผู้ลงทุนจับสังเกตหรือวิเคราะห์คำแนะนำของบริษัท ตลาดอนุพันธ์ หรือโบรกเกอร์จะพบว่าแม้ ผู้ลงทุนจะลงทุนเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่สัญญาที่ลงทุน 1 สัญญามีมูลค่าทองคำ 50 บาท เทียบเท่ากับเงินลงทุนจริงประมาณ 800,000 บาท ให้คิดเสมอว่าเป็นการลงทุน เต็มจำนวน

สิ่งที่โบรกเกอร์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามอรรถาธิบายให้นักลงทุนเห็นผลกำไรจากการลงทุนในขณะที่ข้อมูลด้านความเสี่ยงยังมีไม่มากนักโดยนักลงทุน จ่ายเงินสดเพียงสัญญาละ 66,500 บาท

โกลด์ฟิวเจอร์สเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงเพราะราคาทองในตลาดโลกมีการแกว่งตัวสูงจึงทำให้การลงทุน "เสี่ยงสูง" หากได้กำไรก็จะได้มาก แต่ถ้าขาดทุน ก็จะขาดทุนมากเช่นเดียวกัน เพราะการซื้อ-ขายโกลด์ฟิวเจอร์สเกิดขึ้นทุกวันและมีกำหนดระยะเวลาแตกต่างจากการซื้อขายหุ้นหรือทองคำ

วิธีการซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์ส ผู้ลงทุนสามารถซื้อ-ขายได้ทั้งราคาทองขึ้นหรือราคาทองลง โดยผู้ลงทุนจะเป็นผู้คาดการณ์ว่าราคาทองจะขึ้นหรือลง ซึ่งการซื้อขายจะจับคู่กันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ระหว่างการซื้อขายจะมีผู้นักลงทุนที่ได้กำไรกรณีคาดการณ์ทิศทางของทองคำถูกต้องแต่นักลงทุนที่ขาดทุนเกิดจากคาดเดาผิด และการซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์สจะไม่มีการส่งมอบทองคำจริงระหว่างคู่สัญญาและจะใช้วิธีชำระเงินตามส่วนต่างราคาซื้อขายที่เกิดขึ้น

ปัจจุบันโกลด์ฟิวเจอร์สมีการซื้อขายตั้งแต่ 2 ก.พ.-15 ก.ค.52 มี 67,171 สัญญา มีมูลค่าการซื้อขาย 52,208,921,000 บาท หรือมีการซื้อขาย 628 สัญญาต่อวัน มูลค่า 487,933,841 บาท ฐานลูกค้าที่ซื้อโกลด์ฟิวเจอร์สในปัจจุบันกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เป็นลูกค้าที่มาจากฝั่งของโบรกเกอร์ที่ค้าหุ้นเพราะลูกค้าที่ซื้อ-ขายโกลด์ฟิวเจอร์เป็นลูกค้าที่ซื้อหุ้นอยู่แล้ว

แม้ว่าบริษัท ตลาดอนุพันธ์จะพึงพอใจการซื้อ-ขายโกลด์ฟิวเจอร์สในระดับหนึ่งแต่เพื่อกระตุ้นให้นักลงทุนเข้ามาเพิ่มบริษัทฯ จึงได้คิดค้นเกม TFEX simulation 2009 คือ การลงทุนในโกลด์ฟิวเจอร์สเพื่อให้นักลงทุนทดลองใช้ และได้เริ่มเปิดให้ทดลองในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมนี้ ส่วนในเดือนกันยายนและเดือนตุลาคมเปิดให้มีการแข่งขันลงทุนในโกลด์ฟิวเจอร์ส เป็นการแข่งขันเสมือนจริงที่ให้เงินลงทุนจำนวน 5 ล้านบาท
เกศรา มัญชุศรี กรรมการผู้จัดการบริษัท ตลาดอนุพันธ์ บอกว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ลงทุนได้มีโอกาสสัมผัสการลงทุนและศึกษาพฤติกรรมตนเองว่า มีวินัยและสติในการลงทุนเพียงใด "การลงทุนโกลด์ ฟิวเจอร์สเป็นการฉกฉวยโอกาสจากราคาเคลื่อนไหว ถ้าเป็นนักลงทุนสถาบันจะได้กำไร การลงทุนเป็นบวกสำหรับทุกคนที่ทำเป็นแต่ต้องรับความเสี่ยงได้ จริงๆ ไม่เสี่ยง เราวางเงิน 7 หมื่นบาท เราซื้อของ 7 แสนห้า ฉะนั้นคำว่าเจ็ดหมื่นหายได้ทั้งหมด เพราะเป็นเงินที่วาง 10 เปอร์เซ็นต์ รอดูหุ้นถ้าหุ้นตกไป 10 เปอร์เซ็นต์ หายเท่ากัน" เกศราพยายามชี้ให้เห็นโอกาสลงทุนในโกลด์ฟิวเจอร์ส

คำแนะนำ
นักลงทุนต้องศึกษาแนวโน้มราคาทองตลาดโลกและดูความเคลื่อนไหวราคาค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินบาท เพราะโกลด์ฟิวเจอร์สเหมือนลงทุน ใน 2 สิ่ง สิ่งแรกเป็นการลงทุนในตลาดโลก สิ่งที่สองลงทุนในมูลค่าเงินบาทกับเงินดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้การซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์ส แตกต่างจากซื้อขายหุ้นต้องรู้จักประเมินทิศทางราคา และไม่มีข้อมูลภายในและไม่พึ่งข้อมูลทางด้านมาร์เก็ตติ้งเพราะข้อมูลอาจล้าสมัยทำให้ราคาทองไม่สอด คล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว

การลงทุนโกลด์ฟิวเจอร์สเป็นการกระจายความเสี่ยงสำหรับนักลงทุนที่ไม่ได้ลงทุนเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งแต่มีการลงทุนในหลายรูปแบบ ลงทุนหุ้น กองทุน ซื้อทองแท่งและฝากเงินในธนาคาร ซึ่งผู้ลงทุนอาจได้คำแนะนำมากมายหลายด้านแต่ข้อสรุปสั้นๆ เป็นคาถาสำหรับนักลงทุนคือ "ทนทาน มีสตางค์และต้องมีสติ"

ข้อมูล ผู้จัดการ 360 องศา

Posted by NonNY~* on 8/29/2552. Filed under , , . You can follow any responses to this entry through the RSS 2.0. Feel free to leave a response

0 comments for "Gold Futures Zero-sum Game"

Leave a reply

เชิญร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ความคิดเห็นล่าสุด

บทความล่าสุด