Loading
250x250 Free Watch

สมัครสมาชิกเพื่อรับข่าวสารทางอีเมล์:

กรุณาตรวจสอบอีเมล์เพื่อยืนยันหลังจากทำการสมัคร

โพสล่าสุด

แบ่งปัน
|

10 เรื่องเสี่ยง ต้องระวังปีเสือดุ

 www.pak-soi.com เพราะในปี 2010 เป็นปีที่กูรูการเงินหลายคนลงความเห็นว่ายังเป็นปีที่ลงทุน "ไม่ง่าย" เพราะปัจจัยเสี่ยงทั้งในและต่างประเทศ ยังคงอยู่รายรอบตัว ลองดูว่าในทัศนะของคนในแวดวงบริษัทจัดการกองทุน พวกเขามองว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่น่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับการลงทุนในปี 2010

บุญชัย เกียรติธนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ  บลจ.ธนชาต  มองว่า  ปี 2009 ที่ผ่านมานับว่าเป็นปีที่หักปากกาเซียนและผู้รู้หลายๆ ท่านอย่างสิ้นเชิง หากจะย้อนกลับไปตอนปลายปี 2008 หรือต้นปี 2009 หลายๆ ท่านคงมองภาพการลงทุนในตลาดทุนไม่ดี อันเป็นผลมาจากวิกฤติซับไพร์มอาละวาดจนเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก แต่โลกการลงทุนกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น ตลาดหุ้นทุกตลาดทั่วโลกพร้อมใจกันปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะตลาดหุ้นทางเอเชียที่บางตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเกือบใกล้เคียงในระดับก่อนวิกฤติเสียด้วยซ้ำ นอกจากนั้นราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายอย่าง เช่น น้ำมันและทองคำ ก็ทะยานเหนือความคาดหมายอย่างมากในปี 2009 เช่นกัน

"ถ้าอย่างนั้นในปี 2010 อันดับแรกก็ต้องระมัดระวังการลงทุนอย่างใกล้ชิด เพราะในปี 2009 ผลตอบแทนจากการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมากแล้ว โอกาสที่ในปี 2010 จะเพิ่มในระดับเดียวกับปี 2009 นั้นคงเป็นไปได้ยาก  ยิ่งผลตอบแทนที่ผ่านมาในปี 2009 ได้นับรวมความคาดหวังว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวเข้าไปด้วยแล้ว โอกาสที่ปี 2010 จะทำให้ผู้ลงทุนผิดหวังหากเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวในระดับอย่างที่คิดก็ไม่ไกลเกินความเป็นจริงไปเลย  ผมคิดว่าประเทศไทยเป็นประเทศเล็กและมีเศรษฐกิจแบบเปิด กล่าวคือ พึ่งพิงการส่งออกหรือการหารายได้เข้าประเทศเป็นหลัก  ดังนั้นการติดตามปัจจัยจากต่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ลงทุนต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ"

ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการลงทุน บลจ.อยุธยา  หากมองไปข้างหน้า ปี 2553 นับได้ว่าเป็นอีกปีที่มีความท้าทายไม่แพ้ปี 2552 เช่นกัน โดยแม้ว่า ภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2552 ได้เริ่มปรับตัวดีขึ้น และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2553 การลงทุนในปีเสือที่จะถึงนี้ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ

ลดาวรรณ เจริญรัชต์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.แอสเซท พลัส ให้ความเห็นว่า ปัจจัยที่นักลงทุนควรคำนึงถึงและต้องติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดสำหรับการลงทุนในปีหน้ามีหลายประเด็นด้วยกัน สำหรับ บลจ.แอสเซท พลัส มองว่ามี 5 ปัจจัยที่ควรติดตาม ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลก ภาวะการลงทุนหลังจากรัฐบาลถอนสภาพคล่องออกจากระบบ  นโยบายด้านอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางแต่ละประเทศ ปัญหาการขาดดุลงบประมาณ และความไม่แน่นอนทางการเมือง ทั้งนี้ สามารถแจกแจงรายละเอียดได้ดังนี้


เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจริงหรือไม่
ลดาวรรณมองว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดปัจจัยแรก โดยมีเศรษฐกิจสหรัฐเป็นศูนย์กลางในการติดตามความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจของโลกในภาพรวม  เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐเป็นขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ สะท้อนจากเหตุการณ์วิกฤติสถาบันการเงินสหรัฐในปี 2551 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ทำให้ส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก  การติดตามดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจสหรัฐ จึงเป็นสิ่งที่นักเศรษฐกิจให้ความสำคัญ โดยเฉพาะตัวเลขอัตราการว่างงานของสหรัฐ

โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อัตราการว่างงานในสหรัฐได้ทะยานขึ้นสูงสุดในรอบ 26 ปี อยู่ที่ 10.2% ทั้งนี้ คาดว่าอัตราการว่างงานสหรัฐจะแตะจุดสูงสุดที่ 10.5% ในปี 2553 ซึ่งหากอัตราว่างงานในสหรัฐยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป จะเป็นปัจจัยกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างชัดเจน และส่งผลโดยตรงกับภาคการบริโภคที่จะลดลง ซึ่งเมื่อสหรัฐเป็นศูนย์กลางการบริโภคของโลกการที่ความต้องการของภาคการบริโภคลดลงย่อมส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมด้วย

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ต่างมองว่า เศรษฐกิจโลกน่าจะมีการฟื้นตัวอย่างช้าๆและมีความผันผวนพอสมควร ทั้งนี้ IMF คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2553 ว่าจะขยายตัว 3.1% โดยมีเศรษฐกิจจีนและอินเดียเป็นตัวขับเคลื่อน ทั้งนี้ การฟื้นตัวจะมาจากภาคสถาบันการเงินที่ได้รับความช่วยเหลือให้มีความแข็งแกร่งขึ้น และผลด้านบวกจากการใช้นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลประเทศต่างๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ 

บุญชัยบอกว่า ความเสี่ยงอันแรกๆ สำหรับในปี 2010 ที่ต้องเฝ้าติดตาม ก็คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวังกันหรือไม่ เอกชนสามารถเดินเครื่องได้แล้วหรือยัง หมายความว่า มีการขยายกำลังการผลิต มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานลดลง ผู้บริโภคมีศักยภาพในการซื้อเพิ่มขึ้น ประเทศพัฒนาแล้วมีความชัดเจนว่าฟื้นตัวแล้ว เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ต้องจับตามองเป็นอันดับแรกในปี 2010 ที่จะมาถึงนี้

ขณะที่ รพี สุจริตกุล ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย มองว่า แม้เศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น แต่ภาวะการว่างงานในสหรัฐยังอยู่ในระดับสูงประมาณ 10% ขณะที่ภาคการธนาคารในหลายประเทศยังมีความระมัดระวัง และไม่พร้อมจะขยายสินเชื่อ ทำให้ภาคการผลิต กิจการขนาดเล็กยังคงอยู่ในความลำบาก ขณะเดียวกันการบริโภคที่ยังไม่แข็งแกร่งจะเป็นตัวดึงเศรษฐกิจให้ชะลอตัวลง หากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐไม่สามารถกระตุ้นให้ภาคเอกชนกลับมาใช้จ่ายอีกครั้ง  ขณะที่ปัจจุบันภาระหนี้ของภาครัฐหลายประเทศเริ่มสูงขึ้น จนบริษัทเรทติ้งส่งสัญญาณเตือน

ด้าน วรวรรณ ธาราภูมิ กรรมการผู้จัดการ บลจ.บัวหลวง ตั้งคำถามว่า เศรษฐกิจโลกพ้นอันตรายไปแล้วจริงหรือไม่?? นั่นเพราะวรวรรณมองว่าปี 2552 หุ้นในเอเชียขึ้นจากกระแสเงินไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ เพราะจีนเป็นแม่เหล็กใหญ่ที่ดึงดูดเม็ดเงินที่ถอนออกจากตลาดทุนอเมริกันและยุโรป  หุ้นไทยก็ได้รับอานิสงส์จากกระแสเม็ดเงินไหลเข้าด้วยทำให้ SET Index ขึ้นไปเกือบ 60% ซึ่งในปี 2552 จึงอยู่ที่โลกสามารถถอยออกจาก The Great Recession ได้  แต่ ปี 2553 จะโฟกัสไปในประเด็นที่ว่าโลกฟื้นแล้วจริงหรือไม่  โดยความเสี่ยงในฐานะการเงินของประเทศต่างๆ และความเสี่ยงจากเงินเฟ้อจะสูงขึ้น  

มีกรณีวิกฤติหนี้ของ Dubai World เป็นจุดเริ่มต้น แม้จะเป็นกรณีเล็กๆ  แต่เป็นการเริ่มสะท้อนถึงอาการไข้ไม่หายขาดใน Global Financial Market ประกอบกับกรณีอื่นๆ ในตลาดนานาชาติ  เช่น เวียดนามลดค่าเงินอย่างกะทันหัน และการพุ่งขึ้นสูงของ Greek sovereign spreads  ความสนใจของตลาดจึงจะพุ่งไปที่ความเปราะบางอื่นๆ ของการฟื้นตัวใน Global Financial System  หากมีกรณีเพิ่มขึ้นอีกจะส่งผลกระทบต่อกระแสเงินลงทุนไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ ความเสี่ยงทางการเงินของโลกจึงกำลังถูกทดสอบอีกครั้ง

ประภาสให้ความเห็นว่า  แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวของสหรัฐ มีสัญญาณที่แสดงถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขอัตราการว่างงานกลับพุ่งสูงขึ้น โดยไปอยู่สูงถึง 10.2% ของประชากรในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบ 26 ปี ก่อนที่จะลดลงเหลือ 10.0% ในเดือนพฤศจิกายน โดยหากอัตราการว่างงานมีแนวโน้มที่จะทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง เศรษฐกิจสหรัฐอาจไม่ฟื้นตัวอย่างที่คาดหวัง

สภาพคล่องหลังทุก ปท.ถอนความช่วยเหลือ
นอกจากนี้ ลดาวรรณยังมองไปที่ประเด็นการถอนความช่วยเหลือทางการเงินของรัฐบาลต่างๆ (Exit Strategy) จะมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเกิดจากพึ่งพาเงินทุนสนับสนุนจากภาครัฐ ดังนั้นในส่วนของการถอนสภาพคล่องจากระบบของรัฐบาลต่างๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญและควรติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ในช่วงต้นปี 2553 คาดว่ารัฐบาลยุโรปจะมีการถอนสภาพคล่องออกจากระบบ และในช่วงครึ่งปีหลังรัฐบาลสหรัฐน่าจะมีการถอนสภาพคล่องออกจากระบบเช่นกัน

นอกจากนี้ การถอนสภาพคล่องกลับคืนดังกล่าวจะส่งผลให้มีเม็ดเงินบางส่วนไหลกลับไปยังตะวันตก จึงน่าจะส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2553 คาดว่าน่าจะเห็นดัชนีอ่อนตัวลงบ้างหลังจากดัชนีปรับตัวสูงขึ้นมาระยะหนึ่ง ซึ่งมองว่าเป็นจังหวะที่เหมาะต่อการเข้าลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิภาคที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจแข็งแกร่ง เช่น เอเชีย ซึ่งคาดว่าจะเป็นภูมิภาคที่เป็นแรงผลักดันของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ในการลงทุนควรพิจารณาปัจจัยพื้นฐานของหลักทรัพย์ที่มีศักยภาพในการเติบโต มีผลตอบแทนและจ่ายเงินปันผลอยู่ในระดับสูง โดยคาดว่าในช่วงครึ่งหลังปี 2553 จะเห็นการฟื้นตัวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้ชัดเจนขึ้น

บุญชัยให้ทัศนะว่า การจัดการกับสภาพคล่องที่มีอยู่อย่างมากมายของแต่ละประเทศ ซึ่งเกิดจากการเข้าแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมา และรัฐบาลทุกประเทศอัดฉีดงบประมาณอย่างมากมายมหาศาล โดยเฉพาะอเมริกาและประเทศในทวีปยุโรป

หากรัฐบาลดำเนินการจัดการสภาพคล่องได้อย่างเหมาะสม ก็จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความยั่งยืนขึ้น เพราะในปัจจุบันทุกคนต่างจับจ้องว่า หากรัฐบาลในแต่ละประเทศยังอัดฉีดเงินเข้าระบบ โดยไม่ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะจัดการกับเงินงบประมาณเหล่านี้อย่างไรในอนาคต ค่าเงินของประเทศเหล่านั้นก็ยิ่งมีแนวโน้มอ่อนค่าลง และเป็นโอกาสให้การลงทุนทางเลือกอื่นๆ เช่น โภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นอย่างผิดปกติ

เรื่องสภาพคล่องนั้น รพีเห็นว่าสภาพคล่องที่ท่วมโลก จากการอัดฉีดเงินของธนาคารกลางต่างๆ ทำให้มีเงินไหลเข้าสินค้าโภคภัณฑ์เป็นจำนวนมาก  สินค้าหลายอย่าง เช่น ทอง น้ำมัน ทองแดง มีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และหากราคาปรับขึ้นสูงเร็วเกินไป อาจทำให้เศรษฐกิจกิจมีเงินเฟ้อสูง ทำให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ต้องผ่อนคลายการกระตุ้นเศรษฐกิจลง หรือ อาจต้องขึ้นดอกเบี้ยก่อนภาคเศรษฐกิจจะฟื้นอย่างแข็งแกร่ง ทำให้เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แข็งแรงกลับชะลอตัวลงอีกครั้ง ซึ่งความเสี่ยงที่ตามมาคือผลกระทบในทางลบต่อภาคการส่งออกของไทย

วรวรรณมองว่า โลกจะปรับตัวให้อยู่รอดได้อย่างไร เมื่อถึงเวลาที่รัฐบาลต้องถอนการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายและกระตุ้น เศรษฐกิจที่ทุ่มเทลงไปอย่างมหาศาล ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่กลางปีหน้า  และตลาดพันธบัตรจะกระทบก่อนเป็นตลาดแรก    Dubai Debt Crisis     แม้จะเป็นเคสเล็กๆ  แต่เป็นการเริ่มสะท้อนถึงอาการไข้ไม่หายขาดใน Global Financial Market  ประกอบกับกรณีอื่นๆ ในตลาดนานาชาติ  เช่น เวียดนามลดค่าเงินอย่างกะทันหัน  และการพุ่งขึ้นสูงของ Greek sovereign spreads จะดึงความสนใจของตลาดไปที่ความเปราะบางอื่นๆ ของการฟื้นตัวใน Global Financial System  หากมีกรณีเพิ่มขึ้นอีกจะส่งผลกระทบต่อกระแสเงินลงทุนไหลเข้าตลาดเกิดใหม่

ดังนั้น แม้ว่า ธปท. จะเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากสัญญาณบ่งชี้หลายด้านที่เริ่มดีขึ้น  จนทำให้ ธปท. มั่นใจว่าสิ้นปีนี้การขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมจะติดลบไม่เกิน 3.5% และจะขยายตัวเป็นบวกในปี 2553 นั้น  เรามองว่าความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นข้อจำกัดในการฟื้นตัวของภาคการส่งออกของไทยในปีหน้า และจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์มีความผันผวนมากขึ้น

นโยบายดอกเบี้ยของแต่ละประเทศ
ลดาวรรณให้ทัศนะว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางแต่ละประเทศ คาดว่าจะไม่ปรับขึ้นมาก และน่าจะทำให้สภาพคล่องส่วนเกินในระบบยังมีอยู่มาก โดยในสหรัฐซึ่งตลาดได้คาดการณ์ว่าเฟดจะขยับดอกเบี้ยขึ้นในปีหน้าเพียง 0.25% หรือ 0.50% ซึ่งสอดคล้องกับถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่จะคงนโยบายดอกเบี้ยต่ำไปอีกระยะ

สำหรับประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินจะพิจารณาจังหวะที่เหมาะสมในการขึ้นดอกเบี้ย ทั้งในส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ รวมถึง แนวโน้มนโยบายการเงินของ FED เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายต่างประเทศที่จะไหลเข้ามามาก

แต่อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยยังคงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ควรจับตามองในการลงทุน เพราะหากมองว่าอัตราดอกเบี้ยจะขึ้น ผู้ลงทุนควรลงทุนในระยะเวลาสั้นๆ ไม่เกิน 1 ปี เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในส่วนต่างผลตอบแทนเมื่อตลาดมีการปรับอัตราดอกเบี้ยในอนาคต หรืออาจปรับลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ลง และเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น เช่น หุ้น ทองคำ และน้ำมัน เพื่อสร้างโอกาสรับผลตอบแทนส่วนเพิ่ม

ในประเด็นเกี่ยวกับดอกเบี้ยนั้น  รพีให้ความเห็นว่า ราคาน้ำมันนอกจากมีผลต่อเงินเฟ้อระดับโลกแล้ว ยังมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อในประเทศไทยด้วย  จึงมีผลกระทบคล้ายการที่สหรัฐขึ้นดอกเบี้ยเร็ว ทำให้เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้ากว่าประเทศในกลุ่มอาเซียนอยู่แล้ว จะประสบปัญหาชะลอตัวอีกครั้งไปด้วย

เรื่องนี้ วรวรรณเห็นว่าธนาคารกลางประเทศต่างๆ อาจต้องขึ้นดอกเบี้ยกลางปีหรือในไตรมาส 3 ปีหน้า  ส่วนนี้สามารถทำให้เงินย้ายจากตลาด Risky Asset ไปยังตลาดบอนด์ได้  หากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีจนเกิดเงินเฟ้อ  ทำให้ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนใน Risky Assets มีการย้ายเงินมาลงทุนในตลาดบอนด์หรือ Money market   ในประเทศไทย   กระทรวงการคลังยังเตรียมออกพันธบัตรออมทรัพย์มูลค่า 50,000 ล้านบาท อายุ 5-7 ปี โดยเสนอผลตอบแทนที่ประมาณ 4%   ในช่วงไตรมาสหน้า  และ ธ.ก.ส.ก็เตรียมออกบัตรเพิ่มทรัพย์อายุ 3 ปี วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อขายให้ประชาชนระดับรากหญ้าในเดือน ก.พ.2553 อีกด้วย   เมื่อมีการแข่งขันกันระดมเงินจากประชาชนทั้งภาครัฐ  กับสถาบันการเงินที่ต้องการเงินไปปล่อยสินเชื่อ อัตราดอกเบี้ยจะต้องจูงใจพอ

ภาวะเงินเฟ้อเป็นความเสี่ยงที่มาพร้อมกับภาวะเศรษฐกิจช่วงฟื้นตัว  ประภาสมองว่าเมื่อคนเริ่มกลับมาใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้สินค้าเป็นที่ต้องการและมีราคาปรับตัวสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมัน วัสดุก่อสร้าง สินค้าเกษตร อาจนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งจะบั่นทอนความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคให้ปรับตัวลดลง หากอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นมาก ธนาคารกลางอาจมีความจำเป็นที่จะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ โดยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอาจส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่เติบโตอย่างที่คาด เพราะเท่ากับเป็นการเพิ่มต้นทุนการกู้ยืมและภาระดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งอาจส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนในระบบเศรษฐกิจลดลง

ปัญหาการขาดดุลงบประมาณ
สำหรับการใช้นโยบายขาดดุลของรัฐบาลประเทศต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการอัดฉีดเงินมหาศาลเพื่อเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ  ส่งผลให้การลงทุนเพิ่มขึ้น ทำให้ระดับรายได้และการจ้างงานสูงขึ้นจึงช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะในสหรัฐที่มีการใช้งบประมาณขาดดุลในสัดส่วนที่สูงมาก รวมถึงประเทศไทยเอง ได้มีการใช้งบประมาณขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรการแบบขาดดุลต้องมีความระมัดระวัง เพราะเป็นการเพิ่มหนี้สินภาครัฐอย่างหนึ่ง ซึ่งหากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามคาดจะเป็นการเพิ่มภาระทางการคลังของรัฐบาลมากกว่าที่ได้ประเมินไว้ ส่วนรัฐบาลไทย แม้ว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นได้แต่รัฐบาลมีแผนจะเพิ่มกรอบการใช้จ่ายสำหรับโครงการเมกะโปรเจค ฐานะการคลังของรัฐบาลไทยก็คงจะมีทั้งขนาดของการขาดดุลและระยะเวลาของการขาดดุลที่มากกว่าประมาณไว้

นอกจากนี้ ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์เห็นว่า การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐ ในที่สุดจะเป็นตัวลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและนำมาซึ่งความเสี่ยงของการล่มสลายทางการเงิน

การฟื้นตัวของ ศก.แถบเอเชีย
ประเด็นที่บุญชัยมองว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องดูต่อไปก็คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจแถบเอเชียโดยมีจีนเป็นพี่เบิ้ม ก็ต้องติดตามว่าจะยั่งยืนไหม และจีนสามารถแสดงศักยภาพในการเป็นเสาหลักของการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Countries) ได้หรือไม่ ต้องไม่ลืมว่า ในปีที่ผ่านผู้ลงทุนต่างคาดหวังว่าเศรษฐกิจของประเทศ Emerging จะสามารถฟื้นตัวได้ดีกว่าและเร็วกว่าประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก โดยมีจีนเป็นความหวังหลัก ราคาหุ้นของตลาดหลักๆ ทั่วโลกต่างก็คาดหวังไปในทิศทางนี้กันทั้งหมด ดังนั้น หากมีสัญญาณบางอย่างที่บ่งบอกว่าไม่ได้เป็นในแนวทางนี้ โอกาสปรับตัวของตลาดหุ้นทั่วโลกย่อมเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หนี้เสียของสถาบันการเงิน
ปัจจัยต่อมาซึ่งหลายๆ คนอาจจะไม่ได้กล่าวถึงกันนัก แต่บุญชัยมองว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีความสำคัญและเป็นรากฐานของวิกฤติ เศรษฐกิจในปี 2008 นั่นก็คือ หนี้เสียของสถาบันการเงินต่างๆ ที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ หากไม่มีความชัดเจนว่าสถาบันการเงินได้แก้ไขปัญหานี้ หรือปัญหาได้ทุเลาไปในระดับหนึ่ง โอกาสที่เราจะเห็นสถาบันการเงินให้กู้แก่ภาคเอกชนอีกครั้งหนึ่งก็เป็นไปได้ยากยิ่ง และโอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกก็ยากลำบากขึ้นเช่นกัน

"ผมอยากจะเพิ่มประเด็นความเสี่ยงอีกอันหนึ่งที่แม้จะไม่สำคัญในปัจจุบัน แต่ดูเหมือนมีการพูดกันมากขึ้น ก็คือ ความเป็นไปได้ของการกีดกันการค้าระหว่างกันในอนาคต เรื่องนี้มีสถาบันการเงินหลายแห่งเริ่มหยิบยกมาพูดกันมากขึ้น รวมทั้งมาตรการที่เข้มงวดขึ้นจากภาครัฐในการกำกับสถาบันการเงิน ประเด็นต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอน"

ความไม่แน่นอนทางการเมือง
เป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่น่าจับตามองเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศนั้น ก็ยังคงมีอยู่เป็นเนื่องๆ ทั้งปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศระหว่างไทยกับกัมพูชา และปัญหาความขัดแย้งของขั้วการเมืองที่แบ่งแยกเป็นเสื้อสีต่างๆ ซึ่งหากมีการจัดชุมนุมยืดเยื้อ หรือมีความรุนแรงเกิดขึ้นอีก ย่อมมีผลต่อบรรยากาศการลงทุน โดยเฉพาะความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากปัญหาทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเมืองในประเทศหรือต่างประเทศ หากไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ไขหรือมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จะฉุดความเชื่อมั่นของภาคการลงทุน การท่องเที่ยว และส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด

ลดาวรรณฝากทิ้งท้ายว่า นอกจากปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมาทั้ง 5 ปัจจัยแล้ว นักลงทุนยังคงต้องติดตามข่าวสารด้านเศรษฐกิจและการเงินอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจมีปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดและส่งผลกระทบต่อตลาด เช่น การขอเลื่อนชำระหนี้ของดูไบเวิลด์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ก็ส่งผลต่อสถาบันการเงินในยุโรปพอสมควร ดังนั้น ขอให้นักลงทุนทุกท่านใช้ความระมัดระวังในการลงทุนในปีเสือดุที่กำลังใกล้จะ มาถึงนี้

รพียังมองว่า ภาวะการเมืองในประเทศหากมีผลต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของรัฐบาล ก็จะทำให้กระบวนการกระตุ้นเศรษฐกิจกิจไม่ต่อเนื่อง และทำให้เศรษฐกิจกิจที่เปราะบางอยู่แล้ว เกิดการชะลอตัวอีกครั้ง

วรวรรณเสริมว่า ความเสี่ยงเฉพาะของไทยคือ การไม่สามารถคาดหวังความสงบสุขจากปัญหาการเมืองในประเทศได้  ซึ่งน่าจะยังอยู่กับเราไปอีกนาน 

ขณะที่ประภาสมองว่า ปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศ ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามว่าจะมีทางออกหรือไม่ โดยประเด็นสำคัญๆ ในปี 2553 ได้แก่ การตัดสินคดียึดทรัพย์สิน 76,000 ล้านบาทของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งจะมีพิจารณาคดีนี้ภายในเดือนมกราคมปีหน้า ความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง นับเป็นอีกปัจจัยที่ต้องติดตาม ว่าจะบานปลายไปถึงการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ ซึ่งอาจส่งผลต่อความต่อเนื่องในการบริหารงาน และนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ

กรณีมาบตาพุด
สำหรับในประเทศไทย บุญชัยมองว่าปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดก็คงหนีไม่พ้นเรื่องมาบตาพุด การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศจากการที่ภาคเอกชน สามารถแสดงให้เห็นว่า ฟื้นตัวแล้ว และปัจจัยปัญหาทางการเมืองในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าตลาดทุนของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ถูกลดบทบาทในสายตาของต่างประเทศลงอย่างมาก โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ   ปัญหาความไม่มั่นใจของผู้ประกอบการต่างประเทศที่จะมาลงทุนในประเทศ รวมทั้งเสถียรภาพของรัฐบาล

ปัจจุบันโลกเชื่อมกันอย่างรวดเร็วขึ้น ดังนั้น ผู้ลงทุนก็คงจำเป็นต้องติดตามข้อมูลข่าวสารบ่อยขึ้น รวมทั้งวิเคราะห์ข่าวสารเหล่านั้นอย่างระมัดระวังมากขึ้น จึงจะมีโอกาสไม่พลาดพลั้งในการลงทุนในปี 2010

วรวรรณให้ความเห็นถึงเรื่องนี้ว่า มาบตาพุดเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงสุด   เพราะผลกระทบอาจจะรุนแรงจนเกิดความเสียหายที่ขยายวงกว้างเกินเม็ดเงินลงทุน 4 แสนล้านบาท  เนื่องจากอุตสาหกรรมที่อยู่ในนิคมฯ เชื่อมโยงเป็นลูกโซ่จึงสามารถทำให้เกิดการชะงักงันได้ทั้งหมด  และจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติจนถึงกับย้ายฐานการผลิต ไปลงทุนในประเทศอื่นได้

ประภาสบอกว่า เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นการปิดสนามบินเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 หรือกรณีล่าสุดที่ 65 โครงการ จากทั้งหมด 76 ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ถูกระงับ นับเป็นความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุน โดยความกังวลดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน และการฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจ

โรคหวัดและภัยธรรมชาติ
รพีมองว่าประเด็นเกี่ยวกับภาวะโรคร้อนและภัยธรรมชาติต่างๆ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา และ ยังคงเป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตามอง โดยเฉพาะผลกระทบที่จะมีต่อภาคการส่งออกและท่องเที่ยวไทย

การปรับฐานของหุ้น
ความเสี่ยงอีกประการหนึ่งที่วรวรรณบอกคือ ครึ่งแรกของปี 2553  หุ้นอาจจะปรับฐานลงเพราะขึ้นไปมากและรวดเร็วแล้วในปี 2552  นักลงทุนจึงจะเริ่มระมัดระวังการลงทุนใน Risk Assets มากขึ้น   โดยต้องการผลตอบแทนที่สูงพอที่จะชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น  และหากหุ้นโลกหุ้นสหรัฐตกลง  เอเชียและตลาดเกิดใหม่จะลงด้วย  ยังไม่มีสัญญาณของ Decoupling ที่ชัดเจน

ภาวะฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์
ประภาสมองว่า ราคาสินทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นทองคำ อสังหาริมทรัพย์ ได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในปี 2552 จากสภาพคล่องในระบบที่อยู่ในระดับสูง อาจส่งผลให้นักลงทุนเกิดความกังวลว่าราคาสินทรัพย์ที่ปรับตัวสูงขึ้นมานั้น ได้ปรับสูงกว่าราคาที่ควรจะเป็น และอาจจะนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะฟองสบู่แตกหรือไม่

ความเสี่ยงยังอยู่รายรอบตัว ปี 2553 ที่หลายคนมองว่าหายใจหายคอได้สะดวกขึ้น  ก็อาจกลายเป็นปีที่ไม่ง่ายสำหรับการลงทุน

ข้อมูล กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

Posted by NonNY~* on 12/30/2552. Filed under , . You can follow any responses to this entry through the RSS 2.0. Feel free to leave a response

0 comments for "10 เรื่องเสี่ยง ต้องระวังปีเสือดุ"

Leave a reply

เชิญร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ความคิดเห็นล่าสุด

บทความล่าสุด