การจำแนกชนิดของเพชร
แม้ว่าเพชรไร้สี ปราศจากตำหนิ และได้รับการเจียระไนให้่ได้สัดส่วนที่สวยงามจะเป็นที่หมายปองของหลายๆคน แต่เพชรไร้สีอย่างที่กล่าวไปข้างต้นนั้นนับว่าหาได้ยาก เพชรที่พบส่วนใหญ่ราว 98% ของเพชรทั้งหมดจะมีสีออกเหลืองหรือน้ำตาล นอกจากนี้ยังมีเพชรสีที่เรียกว่า “สีแฟนซี” (fancy colored) ซึ่งการเกิดสีของเพชรนั้นเกิดขึ้นจากอนุภาคมลทินหรือความผิดปกติของโครงสร้างการเรียงตัวของผลึกเพชร ส่งผลต่อการดูดกลืนแสง ในทางตรงกันข้าม หากผลึกเพชรปราศจากการปนเปื้อนของอนุภาคมลทินใดๆ เพชรเม็ดนั้นก็จะเป็นเพชรไร้สีนั่นเอง
เราสามารถจำแนกเพชรได้เป็น 4 ชนิด โดยใช้หลักของการเจือปนจากอนุภาคมลทินในผลึกเป็นเกณฑ์
Type I มีไนโตรเจนเป็นอนุภาคมลทิน แบ่งเป็น Type Ia และ Type Ib
Type Ia มีอะตอมของไนโตรเจนรวมกันเป็นกลุ่มในโครงสร้างผลึกคาร์บอน (C) ซึ่งทำให้ดูดกลืนแสงสีน้ำเงินไว้ จึงเห็นเพชรเหล่านี้มีสีเหลืองอ่อน-น้ำตาล เป็นชนิดที่พบมากที่สุด คือ 98% ของเพชรทั้งหมด
Type Ib มีอะตอมของไนโตรเจนกระจัดกระจายภายในโครงสร้างผลึกคาร์บอน ซึ่งจะดูดกลืนแสงสีเขียวไว้ในปริมาณเท่าๆกับแสงสีน้ำเงิน ทำให้มีสีเหลืองเข้ม ส้ม น้ำตาล ขึ้นกับปริมาณและการกระจายตัวของอะตอมไนโตรเจน ปริมาณของเพชรชนิดนี้มีอยู่น้อยกว่า 0.1% จึงจัดเป็นเพชรหายาก
Type II เป็นเพชรที่มีอะตอมของธาตุชนิดอื่นๆที่ไม่ใช่ไนโตรเจน แบ่งเป็น Type IIa และ Type IIb
Type IIa เพชรไร้สีจะอยู่ในกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นเพชรที่มีความบริสุทธิ์ของคาร์บอนสูงที่สุด ไม่มีอนุภาคมลทินเจือปนอยู่เลย หรือมีน้อยมากๆ พบเพียง 1-2% ของเพชรทั้งหมด แต่ในกลุ่มนี้ยังสามารถพบเพชรสีเหลือง น้ำตาล ชมพู และแดง ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างผลึกเพชรที่เกิดการบิดและโค้งงอขณะที่ถูกดันขึ้นสู่ผิวโลก จึงมีการดูดกลืนแสงบางช่วงไว้ เกิดเป็นเพชรสีข้างต้น
Type IIb เนื่องจากมีอะตอมของโบรอนเจือปน จึงมีการดูดกลืนแสงสีแดง ส้ม และเหลือง ทำให้เพชรใน Type IIb มีสีน้ำเงิน ซึ่งพบเพียง 0.1% เท่านั้น
สำหรับเพชรสีเขียวนั้นเกิดจากกระบวนการฉายรังสี
ข้อมูล สทน., phuketdata.net