สนิมของทองคำ
จากการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการขุดค้นพบแร่ทองคำในประเทศไทย ทำให้มีความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่ทองคำ วันนี้จึงขอนำบทความจาก ดร. ไสว บุญมา ซึ่งได้ให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาของการทำเหมืองแร่ทองคำในลุ่มน้ำอะเมซอนค่ะ
ณ วันนี้ ผู้ที่ลงทุนซื้อทองคำเก็บไว้เมื่อหลายปีก่อน คงนั่งยิ้มน้อยยิ้มใหญ่กับกำไรที่ทำได้อย่างงดงาม โดยเฉพาะผู้ที่ซื้อไว้เป็นเวลากว่าห้าปี เนื่องจากไม่มีการลงทุนหรือการเก็งกำไรชนิดไหนในช่วงห้าปีที่ผ่านมา จะทำกำไรได้ถึงสามเท่าของเงินทุนเช่นการซื้อทองคำ แต่ผู้ที่เพิ่งซื้อเมื่อเดือนสองเดือนที่ผ่านมา คงจะตกอยู่ในภาวะหายใจไม่ค่อยทั่วท้องบ้างเป็นครั้งคราว ภาวะเช่นนี้จะคงอยู่ต่อไปแม้จะมีผู้ทำนายว่าราคาทองคำจะ ยังเพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้ เพราะในเวลาเดียวกันมีผู้แย้งว่า ย้อนไปห้าปีบรรดาผู้เชี่ยวชาญก็พากันยืนยันอย่างแข็งขันว่าราคาบ้านใน อเมริกาจะไม่มีทางตก เนื่องจากผมไม่มีความสามารถที่จะฟันธงลงไปว่าราคาทองคำจะวิวัฒน์ไปทางไหน ผมจะไม่เขียนถึงเรื่องราคาในอนาคต แต่จะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับผลพวงที่ทองคำทำให้เกิดขึ้น
ผู้สนใจในเรื่องราวของทองคำคงทราบแล้วว่า ผู้ผลิตทองคำราย ใหญ่ ได้แก่ จีน แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย รัสเซีย และเปรู เมื่อเร็วๆ นี้ มีสำนักข่าวหลายแห่งส่งพนักงานไปดูการทำเหมืองทองคำที่ เปรูและนำเรื่องราวมาเล่าไว้ในสื่อต่างๆ รวมทั้งในหนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์ และในเว็บไซต์ของบีบีซี เนื้อเรื่องชี้ให้เห็นกระบวนการและปัญหาของการทำเหมืองทองคำในเขตป่าอะเมซอนซึ่งครั้งหนึ่งผมได้ไปดู จึงขอนำมาเล่าสู่กัน
เราทราบดีแล้วว่าป่าอะเมซอนเป็นป่าดงดิบขนาดใหญ่ ซึ่งอยู่ในเขตของประเทศบราซิลเป็นส่วนมาก นอกจากนั้น ส่วนหนึ่งยังครอบคลุมไปถึงอีกหลายประเทศ รวมทั้งเปรูทางตะวันตกและกายอานาทางตะวันออกของทวีปอเมริกาใต้อีกด้วย รายงานการทำเหมืองทองคำในเปรูไม่ต่างกับการทำเหมืองทองคำที่ผมเห็นในกายอานา ยกเว้นในแง่ที่มันมีขนาดใหญ่โตกว่าเท่านั้น ราคาของทองคำที่พุ่งขึ้นไปทำให้การขุดค้นหาทองคำและการทำเหมืองทั้งในกายอานาและในเปรูแพร่ขยายออกไปอีก
เหมืองแร่ทองคำ Eldorado do Juma wildcat ในบราซิล
การขุดค้นหาทองคำและการทำเหมืองดังกล่าวเป็นการทำที่ไม่มีใบอนุญาตและการควบคุมของรัฐบาล และเป็นกิจการขนาดเล็กจำพวกร่อนทรายหาทองคำตาม ลำธารไปจนถึงการใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ไถ ขุด เจาะพ่นน้ำและร่อนหาแร่ทอง พวกร่อนทรายไม่ต้องตัดต้นไม้หรือทำลายชายฝั่งของลำน้ำเพื่อค้นหาแร่ ฉะนั้นกิจการของพวกเขามักไม่มีผลกระทบทางลบในด้านการตัดไม้ทำลายป่าและแหล่ง น้ำ อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการแยกละอองทองคำออก จากทราย พวกเขาใช้ปรอทผสมลงในทราย เพื่อให้ละอองของทองเกาะปรอท หลังจากแยกปรอทออกทรายได้แล้ว พวกเขาก็จะเผาปรอทโดยการเอาใส่ลงในภาชนะ อาทิเช่น กระทะ แล้วนำขึ้นลนไฟ ปรอทจะระเหยไปอย่างรวดเร็ว ทิ้งทองไว้ที่ก้นภาชนะ ผู้เผาปรอทมักสูดควันอันแสนจะเป็นอันตรายเข้าไปในปอด นอกจากนั้น ในกระบวนการนี้มักมีปรอทตกหล่นอยู่ตามต้นน้ำ สารอันเป็นอันตรายสูงนี้จะถูกสัตว์น้ำตัวเล็กๆ กินเข้าไปและเมื่อปลาตัวใหญ่กว่ากินปลาเล็ก ปรอทก็จะเข้าไปอยู่ในวงจรอาหาร ซึ่งในที่สุดจะทำอันตรายให้แก่คน
พวกที่มีเครื่องจักรขนาดใหญ่จะทำลายสิ่งแวดล้อมสูงมาก เนื่องจากพวกเขาจะตัดต้นไม้ทำลายป่าดงดิบ ไถ ขุด เจาะพื้นดินและพ่นน้ำเข้าตามฝั่งลำธาร รายงานในหนังสือพิมพ์มีรูปการพังทลายของพื้นดินประกอบ และอ้างว่าถ้าอยากจะเห็น "แผลเป็น" ของการตัดต้นไม้พร้อมกับการทำลายสิ่งแวดล้อม จะต้องนั่งเครื่องบินขึ้นไปวนเวียนดูจึงจะรู้ว่ามันเป็นอย่างไร ย้อนไปเมื่อสมัยผมไปกายอานาบ่อยๆ ผมเคยนั่งเครื่องบินไปวนดูแผลเป็นดังกล่าว จึงนึกออกทันทีว่ามันน่าวิตกขนาดไหน นอกจากจะตัดต้นไม้จนเตียนหมดแล้ว การขุดดินเป็นสระเล็กใหญ่ยังก่อให้เกิดการพังทลายจนสายน้ำลำธารกลายเป็นสี โคลนอย่างกว้างขวางอีกด้วย นักขุดแร่พวกนี้มักใช้วิธีแยกทองด้วยการใช้ปรอทเช่นกัน ฉะนั้น พวกเขาสร้างผลกระทบเช่นเดียวกับพวกร่อนทรายในด้านการทิ้งปรอทไว้ในสิ่งแวดล้อม
(ขวา) ภาพของแม่น้ำ Caura ที่ถูกทำลายหลังจากมีการทำเหมืองแร่ทองคำ เปรียบเทียบกับภาพซ้ายมือซึ่งแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าก่อนหน้านี้
นอกจากการทำเหมืองที่ไม่มีใบอนุญาตและขาดการควบคุม จะสร้างผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและทำอันตรายให้แก่ผู้กินปลาที่มีปรอทอยู่ใน ตัวแล้ว การทำเหมืองแร่ที่มีใบอนุญาตก็อาจทำอันตรายได้สูงด้วยเช่นกัน ในกรณีที่ผมมีโอกาสได้เห็นในกายอานา ผู้ประกอบการเหมืองทองคำใช้ กระบวนการแยกทองที่ต้องใช้ไซยาไนด์ ซึ่งเป็นอันตรายสูงมากในตัวของมันเองอยู่แล้ว กระบวนการนั้นเกิดน้ำผสมไซยาไนด์เป็นผลพลอยได้จำนวนมาก แต่หากทิ้งน้ำนั้นไว้ในสระที่ปลอดภัย สารไซยาไนด์จะค่อยๆ ระเหยไปโดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรง แต่ถ้าผู้ประกอบการมักง่าย และปล่อยน้ำผสมไซยาไนด์ออกไปตามคลอง อันตรายร้ายแรงจะเกิดขึ้นกับสัตว์น้ำและคน แม้ผู้ประกอบการในกายอานาจะไม่มักง่ายเช่นนั้น แต่การที่กายอานามีฝนตกหนักเป็นครั้งคราว เมื่อฝนตกหนักเกินความคาดหมาย น้ำในสระที่มีไซยาไนด์ผสมอยู่ก็ล้นออกมา ยิ่งกว่านั้น ถ้าการสร้างสระดังกล่าวไม่รัดกุม ก้นสระอาจจะรั่ว หรือเขื่อนรอบสระอาจจะพังทลาย ปล่อยไซยาไนด์ออกไปจำนวนมากเช่นกัน เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในกายอานา และเมื่อปี 2543 ในโรมาเนีย สระดังกล่าวแตก น้ำผสมไซยาไนด์ทำปลาตายไปราว 150 ตัน และแหล่งน้ำดื่มน้ำใช้ถูกทำลายไปจำนวนมาก
เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าทองคำทำ ประโยชน์ได้หลายอย่าง เนื่องจากมันไม่เป็นสนิม อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ถูกนำไปทำเครื่องประดับ และเก็บไว้ในรูปของทองแท่ง ซึ่งส่วนหนึ่งธนาคารกลางของประเทศต่างๆ เก็บไว้แทนเงินสำรอง และอีกส่วนซื้อขายกันในตลาด เพื่อเก็งกำไร เนื่องจากในปัจจุบันนี้ ไม่มีการใช้ทองคำประกันค่าของเงินตราอีกแล้ว การเก็บทองคำไว้ในธนาคารกลาง จึงไม่มีความจำเป็นเช่นเดียวกับการซื้อเก็บไว้เพื่อเก็งกำไร จริงอยู่ตัวของทองคำไม่เป็นสนิม แต่อันตรายอันเกิดจากการทำลายสิ่งแวดล้อมดังที่เล่ามาอาจมองได้ว่าเป็นสนิมของทองคำ หวังว่าการพูดเช่นนี้ จะไม่ทำให้ผู้มีทองคำเก็บไว้เพื่อเก็งกำไรขุ่นเคืองมากนัก
โดย : ดร.ไสว บุญมา - http://www.namchiang.com/th/goldstory/353-2010-01-08-12-35-06.html