Loading
250x250 Free Watch

สมัครสมาชิกเพื่อรับข่าวสารทางอีเมล์:

กรุณาตรวจสอบอีเมล์เพื่อยืนยันหลังจากทำการสมัคร

โพสล่าสุด

แบ่งปัน
|

ทองรูปพรรณของไทย : มาตรฐานและหนทางการส่งออกสู่ตลาดโลก

 ภาพจาก suniltheguy.blogspot.com ทองคำมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในตลาดอัญมณีและเครื่องประดับ ด้วยมีคุณสมบัติพิเศษต่างๆ ที่สำคัญ กล่าวคือ มีความสวยงามในการนำมาทำเป็นเครื่องประดับ มีความเงางาม คงทนต่อการมัวหมองและการแตกหัก มีความเหนียวและยืดหยุ่นนำมาขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ง่าย และยังมีคุณค่าในตัวของมันเอง ซึ่งทำให้ทองคำได้รับบทบาทในการใช้เป็นสินทรัพย์ (asset) รวมถึงทุนสำรองระหว่างประเทศ ควบคู่ไปกับบทบาทของการเป็นเครื่องประดับอีกด้วย

ประเทศไทยมีประวัติการผลิตทองคำเพื่อใช้เป็นเครื่องประดับมายาวนาน โครงสร้างการผลิตเครื่องประดับทองคำในประเทศส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นอุตสาหกรรมรายย่อยภายในครัวเรือน ร่วมกับผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีโรงงานของตัวเองหรืออาศัยการจ่ายงานให้กับผู้ผลิตรายย่อยเหล่านั้น โดยมีตลาดหลักที่รองรับอยู่สองส่วนใหญ่ๆ คือ


1. ผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งการผลิตในส่วนนี้จะเป็นภาคการผลิตตามคำสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตและรูปแบบของสินค้าตลอดจนมาตรฐานความบริสุทธิ์ของทองคำ (fineness) ตามเกณฑ์ของประเทศผู้สั่งซื้อ ซึ่งทำให้สินค้าที่ผลิตได้มีมาตรฐานสูงเป็นที่ยอมรับในระดับสากล


ภาพจาก http://www.flickr.com/photos/thuvamads/ 2. ผลิตสำหรับตลาดภายในประเทศ ซึ่งค่อนข้างที่จะมีเอกลักษณ์พิเศษที่โดดเด่นและแตกต่างจากประเทศอื่นๆ กล่าวคือ ตลาดในประเทศจะนิยมเครื่องประดับทองคำที่มีลักษณะเป็นทองคำล้วนหรือทองรูปพรรณความบริสุทธิ์ 96.5% หรือที่นิยมเรียกกันติดปากว่า "ทองตู้แดง" (ตั้งชื่อตามสีของตู้โชว์ในร้านจำหน่ายทอง) หรือ "ทองเยาวราช" (ตั้งชื่อตามย่านเยาวราชที่เป็นแหล่งจำหน่ายทองรูปพรรณ 96.5% ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด) ทองชนิดนี้มีวิวัฒนาการมาจากช่างทองชาวจีนบนพื้นฐานของค่านิยมทองคำที่มีความบริสุทธิ์สูงและมีสีเหลืองสุกสว่างสวยงาม คงทนแข็งแรงพอสมควร จึงมาลงตัวที่ 96.5% ซึ่งเป็นระบบที่แตกต่างไปจากมาตรฐานสากลที่เป็นระบบกะรัตหรือ K (เช่น 18 K = ทอง 75%)

โครงสร้างการผลิตและจำหน่ายทองรูปพรรณในส่วนนี้จะมีลักษณะของการที่มีผู้ประกอบการรายใหญ่หรือที่เรียกว่า "ร้านค้าส่ง" จำนวนหนึ่ง นำเข้าทองคำความบริสุทธิ์สูง 99.99% จากต่างประเทศมาแปรรูปให้เป็นทอง 96.5% แล้วแจกจ่ายให้กับผู้ผลิตรายย่อยที่ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมครัวเรือน เมื่อผลิตเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะนำไปกระจายให้กับร้านค้าปลีกที่มีอยู่กว่า 6,000 แห่งทั่วประเทศเพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าต่อไป

ลักษณะการผลิตทองรูปพรรณชนิดนี้ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดจะเป็นงานทำมือ (hand-made) ที่อาศัยฝีมือช่างเป็นหลัก จึงสามารถสร้างสรรค์ลวดลายให้มีความวิจิตรสวยงามและมีรูปแบบหลากหลายได้มากกว่าการใช้เครื่องจักร ประกอบกับการมีกลไกการประกันราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณที่อยู่ในระดับสูง จึงทำให้ทองรูปพรรณชนิดนี้ได้รับความนิยมสูงมากภายในประเทศ เพราะผู้บริโภคได้ประโยชน์ทั้งสองด้าน คือ เป็นเครื่องประดับและเป็นสินทรัพย์ไปพร้อมกัน

ถึงแม้ทองรูปพรรณ 96.5% นี้จะมีความโดดเด่นที่เป็นข้อดีอยู่ในหลายๆ ด้าน แต่ก็ยังมีข้อจำกัดที่สำคัญบางประการซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมให้เป็นที่แพร่หลายและยอมรับกันในวงกว้าง โดยเฉพาะในระดับนานาชาติ

ภาพจาก my.inlovephoto.com ประการแรกคือเรื่องของระดับความบริสุทธิ์ของทองคำที่ 96.5% ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ใช้กันอยู่ทั่วโลกซึ่งเป็นระบบ K (96.5% เทียบเท่ากับ 23.16 K)
ประการต่อมาคือการที่ทองรูปพรรณชนิดนี้ใช้ฝีมือคนทำเป็นหลักในการสร้างสรรค์ลวดลายและรูปแบบให้สวยงาม มีชิ้นส่วนปลีกย่อยและรายละเอียดค่อนข้างมาก จึงทำให้ต้องมีการใช้น้ำประสานทอง (solder) ที่มีความบริสุทธิ์ของทองคำต่ำกว่าเกณฑ์ในการเชื่อมต่อชิ้นส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันค่อนข้างมาก ทำให้เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วจะพบว่าค่าความบริสุทธิ์ของผลิตภัณฑ์ทั้งชิ้นไม่ได้เป็นไปตามค่า 96.5% ตามที่ระบุไว้ที่สินค้า ซึ่งในประเด็นนี้ได้ก่อให้เกิดปัญหาการระบาดของทองต่ำกว่ามาตรฐานมากในอดีตต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้มีการบังคับใช้กฎหมายการสลักเครื่องหมายรับประกันค่าความบริสุทธิ์ของโลหะมีค่า (hallmarking) หรือกฏหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมความบริสุทธิ์ของเครื่องประดับทองคำโดยตรงเหมือนในประเทศอื่นๆ แต่ด้วยความร่วมมือของผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งรวมถึงสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ก็ได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานทองรูปพรรณและแก้ปัญหาทองต่ำกว่ามาตรฐานมาได้เป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่งแล้ว ดังนั้น ถ้าถามว่าในขณะนี้ทองคำไทยแข่งขันกับทองคำในตลาดโลกได้หรือไม่ ตอบได้ทันทีเลยว่า ในแง่ของรูปแบบการดีไซน์ ความสวยงาม แข่งขันได้ไม่เป็นรองใคร แต่อาจยังต้องการปัจจัยการส่งเสริมด้านการผลิตและการควบคุมมาตรฐานเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภค และยกระดับมาตรฐานให้เทียบเท่าระดับสากลโดยเฉพาะในแง่ของการนำระบบ hallmark เข้ามาใช้ ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงความแตกต่าง ความสวยงามและความโดดเด่นอันเป็นเอกลักษณ์ของทองคำไทยในระดับนานาชาติ


นอกจากนี้ อีกประเด็นหนึ่งที่สมควรได้รับการสนับสนุนเพื่อยกระดับทองคำไทย ก็คือ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ของเครื่องประดับทองคำ ตัวอย่างเช่น การผลิตโลหะผสมของทองคำ (gold alloy) ให้มีคุณสมบัติที่ดีและมีสีสันสวยงามตรงตามความต้องการของตลาด เพราะปัจจุบันผู้ผลิตในประเทศยังขาดความรู้และเทคโนโลยีในส่วนนี้ การผลิตเครื่องประดับทองคำที่มีสีสันหรือลักษณะพิเศษตามความต้องการของตลาดโลก เช่น ทองสีชมพู (pink gold) ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในหลายๆ ประเทศ ในปัจจุบันผู้ผลิตภายในประเทศจะต้องนำเข้า alloy ที่เป็น pink gold ที่มีมาตรฐานและคุณสมบัติตรงตามความต้องการของผู้สั่งซื้อเข้ามาเป็นวัตถุดิบ ซึ่งมีราคาสูงกว่ามูลค่าจริงมาก โดยในส่วนของผู้ประกอบการจะได้ส่วนต่างเพียงแค่ค่าแรงการผลิต ถ้าในทางกลับกัน ผู้ประกอบการของไทยมี know-how ที่สามารถผลิต alloy เหล่านี้ได้เองตรงตามมาตรฐานและความต้องการของคำสั่งซื้อหรือเหนือกว่า ก็จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวสินค้าและอุตสาหกรรมของประเทศได้อย่างมาก ซึ่งในเรื่องนี้ สถาบันก็ได้มีส่วนร่วมในการผลักดันโดยได้เริ่มดำเนินการโครงการวิจัยเรื่องการพัฒนาการผลิตทองคำกะรัตหลากสี (Development of Fancy Colored Karat Gold) เพื่อเฟ้นหาสูตรการผลิตโลหะผสมทองคำให้มีสีสันที่แปลกใหม่ สวยงาม และมีคุณสมบัติที่ดีต่อการนำมาขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อนำมาพัฒนาเป็นเครื่องประดับทองคำต่อไป

ข้อมูลจาก GIT

ภาพจาก my.inlovephoto.com, suniltheguy.blogspot.com,Thu & Mads' photostream

Posted by NonNY~* on 7/23/2552. Filed under , , , . You can follow any responses to this entry through the RSS 2.0. Feel free to leave a response

0 comments for "ทองรูปพรรณของไทย : มาตรฐานและหนทางการส่งออกสู่ตลาดโลก"

Leave a reply

เชิญร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ความคิดเห็นล่าสุด

บทความล่าสุด