Future of Gold
โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
ทองคำ เป็นโลหะธาตุสีทองเหลืองอร่ามเลอค่าที่มวลมนุษยชาติให้ความสำคัญมาตั้งแต่อดีตกาล แม้วันเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ค่าของทองคำก็ยังไม่แปรเปลี่ยน แต่ทองคำกำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าการค้าการลงทุนไทยทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
นับวันทองคำยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมนุษย์ได้ให้คุณค่าของทองคำเป็นสินค้าระดับสากลที่ใช้แลกเปลี่ยน การค้าและประเทศใดที่ครอบครองทองคำไว้จำนวนมากแสดงให้เห็นถึงฐานะความมั่งคั่งของประเทศ ยิ่งสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกตลอดระยะเวลา 1-2 ปี ที่ผ่านมา ทองคำได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคและนักลงทุนเป็นอย่างมาก เพราะการเก็บสะสมทองคำมั่นคงกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ทองคำจึงถูกตีค่าให้เป็นสินทรัพย์ราคาแพง รวมไปถึงเป็นเครื่องมือด้านการค้า
ปริมาณความต้องการทองคำทั่วโลกโดยเฉลี่ยอยู่ราว 3,000 ตันต่อปี โดยในปี 2552 ทั่วโลกมีความต้องการทองคำประมาณ 3,658.6 ตัน คาดว่ามีแนวโน้มต้องการทองคำเพิ่มขึ้น จึงทำให้ทั่วโลกดิ้นรนเสาะหาเหมืองแร่ทองคำใหม่ๆ
ปัจจุบันประเทศที่มีเหมืองแร่ทองคำมากที่สุดในโลกอยู่ใน ประเทศจีน มีปริมาณการผลิตทองคำประมาณ 31% รองลงไปคือ แอฟริกาใต้ 27% ออสเตรเลีย 15% สหรัฐอเมริกา 7% ละตินอเมริกา 5% รัสเซีย 5% อินโดนีเซีย 4% แคนาดา 2% และอื่นๆ 4%
ส่วนประเทศไทยพบว่ามีสายแร่ทองคำประมาณ 9 แห่งที่มองว่ามีศักยภาพ คือ จังหวัดเชียงราย แพร่ สุโขทัย ลำปาง พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย ประจวบคีรีขันธ์ ยะลา ปัจจุบันมีผู้ได้รับอาชญาบัตรเพื่อสำรวจและผลิตแร่ทองคำ จากสายแร่นี้ 2 รายด้วยกันคือ บริษัททุ่งคำในเครือทุ่งคาฮาเบอร์ ในพื้นที่จังหวัดเลย กับบริษัทอัครา ไมนิ่ง ในเครือ Kingsgate Consolidated NL จากประเทศออสเตรเลีย ในจังหวัดพิจิตร
แม้ว่าประเทศไทยจะมีสายแร่ทองคำแต่มีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการ ดังนั้น ทองคำในประเทศที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์จึงนำเข้าจากต่างประเทศ ปี 2551 ที่ผ่านมา นำเข้าทองคำ 240 ตัน สร้างมูลค่าให้กับธุรกิจกว่า 2 แสนล้านบาท
ทองคำมีความผูกพันกับประเทศไทยมาช้านานโดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจที่ช่วยเกื้อกูลให้เกิดสภาพคล่องภายในประเทศปัจจุบันประเทศไทยใช้ทองคำส่วนหนึ่งเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศจำนวน 2,632.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นอันดับสองรองจากสินทรัพย์ต่างประเทศที่ใช้เป็นเงินสำรองระหว่างประเทศ 48,463.87 ล้านบาท (ข้อมูล 5 มิถุนายน 2552)
บทบาทของทองคำมีต่อธุรกิจและสังคมหลายภาคส่วน ด้าน ภาคธุรกิจการค้าทองคำกำลังมีนวัตกรรมการลงทุนใหม่ที่เรียกว่า โกลด์ฟิวเจอร์ส (Gold Futures) คือ การลงทุนทองคำล่วงหน้าที่มี เป้าหมายให้นักลงทุนกระจายความเสี่ยง
ขณะที่กระแสโกลด์ฟิวเจอร์สกำลังได้รับความสนใจ ธุรกิจ อีกด้านที่ค้าขายทองคำแท่งและทองรูปพรรณกำลังได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะธุรกิจทองรูปพรรณและธุรกิจที่เชื่อมโยงกับธุรกิจทองคำจะอยู่รอดอย่างไรหากราคาทองคำในตลาดโลกผันผวนขึ้นเร็วลงเร็วเช่นนี้ โมเดลธุรกิจจะเปลี่ยนไปขนาดไหนต้องค้นหาคำตอบต่อจากนี้ไป
ข้อมูลและภาพประกอบ ผู้จัดการ สิงหาคม 2552