สำหรับผู้ที่มีความรู้ทางด้านการเงินหรือเศรษฐศาสตร์มาบ้าง อาจจะพอเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องตราสารอนุพันธ์ (Derivative) ซึ่งบทความต่อไปนี้จะเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่าง การลงทุนในทองคำ กับการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ที่เรียกว่า Gold Futures หรือการซื้อขายทองคำผ่านตลาดล่วงหน้า ซึ่งควรจะทำการศึกษาไว้ค่ะ เนื่องจากทางตลาดอนุพันธ์แห่งประเทศไทย (TFEX) จะนำมาซื้อขายในปี 2552 สำหรับสินค้าทองคำตัวนี้ จะเป็นสินค้าลำดับที่ 3 ต่อจาก SET50 Futures และ SET50 Options
สำหรับผู้ที่ไม่เคยทราบมาก่อนว่าตราสารอนุพันธ์คืออะไร จะขออธิบายสั้นๆก่อนค่ะตราสารอนุพันธ์ (derivative) เป็นสินทรัพย์ทางการเงินประเภทหนึ่ง ที่มูลค่าของตราสารจะขึ้นอยู่กับกระแสเงินของสินทรัพย์อ้างอิง ไม่ได้มีค่าจากกระแสเงินของตัวตราสารเองโดยตรง ตัวอย่างของตราสารอนุพันธ์ ได้แก่ futures, forward, swap, options เป็นต้น สินทรัพย์ที่สามารถอ้างอิงได้ ได้แก่ เงินตราต่างประเทศ พันธบัตร ตั๋วเงิน หุ้นสามัญ สินค้าโภคภัณฑ์ (commodity เช่น น้ำมัน ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง เป็นต้น) หรือทรัพย์สินใดๆ เป็นต้น
Gold Futures เป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรืออนุพันธ์ที่อ้างอิงกับทองคำ 96.5% มิใช่การซื้อขายทองคำจริง การซื้อขายเป็นการทำสัญญากันเท่านั้น ยังไม่มีการซื้อขายสินค้าจริงเกิดขึ้น อย่างไรก็ดี การชำระเงินที่เกิดขึ้นในวันที่ตกลงซื้อขาย เป็นการเรียกเก็บเงินประกันเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับกำไร หรือขาดทุนเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับเงินประกันที่วางไว้ นับเป็นสินค้าที่มี Leverage (อัตราร้อยละการเปลี่ยนแปลงของกำไรสุทธิต่ออัตราร้อยละการเปลี่ยนของยอดขาย ยกตัวอย่าง Leverage ที่มีค่าเท่ากับ 1 หมายถึง เมื่อยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้น 1% จะทำให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 1% เท่าๆกัน) ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่แตกต่างกับการซื้อขายทองคำจากร้านค้าทอง และเป็นกติกาสากลของการซื้อขายฟิวเจอร์สทุกประเภท ฟิวเจอร์สนี้มีทั้งรูปแบบที่มีการส่งมอบทองคำหรือจะชำระราคาเป็นเงินสดเมื่อครบกำหนดสัญญา อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติของการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ต่างประเทศนั้น ผู้ซื้อผู้ขายจะใช้การปิดสถานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Offset position) แทนการส่งมอบจริง ทั้งนี้ ลักษณะการเคลื่อนไหวของราคาอนุพันธ์มักมีความผันผวนสูงกว่าราคาของสินค้าที่อ้างอิง คุณสมบัติที่สำคัญอีกประการหนึ่งของ Gold Futures คือ มีอายุสัญญาที่จำกัด เช่น 1, 2, 3, 6, 12 เดือน ไม่สามารถถือครองเป็นการลงทุนระยะยาว แต่สามารถใช้เพื่อบริหารความเสี่ยง กระจายความเสี่ยง หรือ Arbitrage (การซื้อและขายเงินตราในเวลาเดียวกัน เพื่อหากำไรจากส่วนต่างระหว่างอัตราแลกเปลี่ยน หรืออาจเป็นการซื้อขายเงินตราโดยมุ่งหากำไรจากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยในตลาดต่างๆ) และการเก็งกำไร
ในขณะที่คุณลักษณะของทองคำไม่ว่าทองรูปพรรณหรือทองคำแท่งเป็นสินทรัพย์ที่เรียกว่า Real asset ไม่ใช่สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ผู้ซื้อต้องจ่ายเงินทันทีตามมูลค่าของทองคำทั้งจำนวน เช่น ซื้อทอง 1 เส้น หนัก 1 บาท หรือซื้อทองแท่งหนัก 10 บาท ผู้ซื้อต้องเตรียมเงินเท่ากับมูลค่าของทองคำเพื่อชำระแก่ผู้ขาย ผู้ขายได้รับเงินพร้อมๆ กับส่งมอบทองคำตามมูลค่าข้างต้นให้กับผู้ซื้อ ผู้ซื้อก็สามารถถือครองทองคำของตนไว้ตราบนานเท่านานตามที่ต้องการ เพื่อประโยชน์ในการเป็นเครื่องประดับ หรือเก็บสะสมเพื่อลูกหลาน หรือเพื่อลงทุน และอาจนำออกขายเมื่อเห็นว่ามีระดับราคาเหมาะสม
จากคุณสมบัติข้างต้น ส่งผลต่อกลุ่มผู้ลงทุนที่จะเข้ามาซื้อขาย Gold Futures โดยจะเป็นกลุ่มผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ รวมทั้งต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทองคำและขบวนการทำงานของการซื้อขายอนุพันธ์ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายนี้ คือ ผู้ที่ลงทุนในตลาดอนุพันธ์และตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว แต่ผู้ลงทุนในทองคำจริงนั้นเป็นประชาชนทั่วไป ทั้งที่มีรายได้มากหรือน้อยที่นิยมซื้อทองคำเก็บสะสมไว้เพื่อการลงทุน ซึ่งผู้ลงทุนไม่จำเป็นต้องมีความรู้เฉพาะเกี่ยวกับทองคำ หรืออนุพันธ์ การซื้อขายสามารถต่อรองโดยตรงกับร้านค้าทองที่มีอยู่ทั่วประเทศ
Gold Futures เป็นการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ที่ต้องทำผ่านบริษัทสมาชิกของตลาดที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการซื้อขาย เป็นไปตามกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจนี้ โดยมี ก.ล.ต. เป็นหน่วยงานกำกับดูแล ในปัจจุบันสมาชิกของตลาดอนุพันธ์ประกอบด้วยบริษัทหลักทรัพย์และสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. โดยตลาดอนุพันธ์เปิดกว้างในการรับสมาชิกโดยมิได้มีการจำกัดจำนวน หากว่าผู้สมัครนั้นมีคุณสมบัติตามที่กำหนด สมาชิกจะส่งคำสั่งซื้อขายของลูกค้าเข้าสู่ระบบการซื้อขายของตลาดอนุพันธ์ เพื่อรอการจับคู่ตามหลัก ราคาและเวลาที่ดีที่สุด (Price and Time Priority) รายการซื้อขายที่เกิดขึ้นนี้ต้องมีทั้งผู้เสนอซื้อและผู้เสนอขาย ราคาซื้อขายที่เกิดขึ้นในตลาดอนุพันธ์ ก็เฉกเช่นเดียวกับตลาดหุ้น มีการเคลื่อนไหวระหว่างวันตามความต้องการซื้อต้องการขายในตลาด ตลาดอนุพันธ์ได้เผยแพร่ข้อมูลการซื้อขาย ผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อประโยชน์ต่อผู้ลงทุน ได้แก่ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เวบไซต์ และผู้ให้บริการด้านข่าวสารต่างๆ เช่น Reuters, Bloomberg, Bisnews, Nextview เป็นต้น
การซื้อขายทองคำจริงนั้น เป็นไปในลักษณะที่ผู้ลงทุนต่อรองโดยตรงกับร้านค้าทองที่ทำหน้าที่คล้าย Dealer คือ เป็นผู้ขายให้แก่ผู้ลงทุน และเป็นผู้ซื้อด้วยเมื่อผู้ลงทุนนำทองคำกลับไปขายให้ ผู้ลงทุนสามารถเลือกร้านทองได้ตามความสัมพันธ์หรือความชอบส่วนตัว ราคาก็เป็นไปตามที่ต่อรองตกลงกันเอง ผู้ประกอบการเป็นร้านทองนั้นเป็นนิติบุคคลทั่วไปที่ยื่นขอจดทะเบียนต่อกระทรวงพาณิชย์เพื่อประกอบธุรกิจ
สำหรับผู้ซื้อขาย Gold Futures ต้องชำระค่าใช้จ่ายในการซื้อขายที่เรียกว่า ค่าคอมมิชชั่น ให้กับบริษัทสมาชิกหรือโบรกเกอร์ที่เป็นตัวแทนการซื้อขายของตน ซึ่งคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายต่อสัญญาที่ซื้อขาย ซึ่งผู้ลงทุนสามารถต่อรองค่าใช้จ่ายส่วนนี้กับโบรกเกอร์เองได้ สำหรับการซื้อขายทองคำจากร้านค้าทองในประเทศไทยนั้น เป็นไปในลักษณะ Spread คือ มีส่วนต่างระหว่างราคาซื้อและราคาขาย ราคารับซื้อจะถูกกว่าราคาขาย ซึ่งเป็นไปตามราคาที่ประกาศหน้าร้าน ส่วนต่างนี้คือต้นทุนการซื้อขายของผู้ลงทุน
การชำระราคาของ Gold Futures เป็นไปตามหลักการเดียวกับตลาดอนุพันธ์ทั่วโลก โดยมีการคำนวณกำไรขาดทุน จากการถือสถานะของผู้ลงทุน (Mark-to-Market) ทุกวัน ซึ่งหากมีกำไรจากการถือสถานะผู้ลงทุน ก็จะได้รับเงินเข้าบัญชีในวันทำการถัดไป แต่หากขาดทุนก็จะถูกหักเงินจากบัญชี และหากขาดทุนเป็นจำนวนมาก ก็มีความเสี่ยงที่จะต้องนำเงินประกันมาวางเพิ่มเติม ซึ่งเป็นหลักการที่แตกต่างจากการซื้อขายทองคำจากร้านค้าทอง หรือในตลาด Spot ที่การซื้อขายเป็นการซื้อขายขาด จ่ายชำระเงินเต็มตามจำนวนแล้วได้รับทองคำไปตามที่ชำระเงิน ผู้ซื้อสามารถเก็บทองคำไว้ตามความต้องการและนานเท่าที่ต้องการ ไม่มีกำไรขาดทุนจนกว่าจะมีการขายออกไปจริง
โดยสรุปแล้ว Gold Futures และทองคำที่ซื้อขายที่ร้านค้าทองเป็นสินค้าคนละประเภท Gold Futures จะซื้อขายผ่านสมาชิกของตลาดอนุพันธ์มิได้เสนอขายทองคำจริงเพื่อแข่งขันกับร้านทองปลีก ซึ่งเป็นไปกับหลักการเดียวกับการซื้อขาย ในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า เช่น การซื้อขายสัญญายางพาราล่วงหน้า สัญญาข้าวล่วงหน้านั้น มิใช่เป็นการซื้อขายยางพารา มิใช่เป็นการซื้อขายข้าว เพื่อแข่งขันกับผู้ค้ายางพารา โรงสีข้าว กลุ่มผู้ลงทุนมีความแตกต่างกัน โดยลักษณะธรรมชาติแล้ว Gold Futures มีความเสี่ยงสูงกว่าการลงทุนในทองคำจริง รวมถึงมีกระบวนการซื้อขายที่แตกต่างกัน ผู้ลงทุนใน Gold Futures ย่อมมีความต้องการที่แตกต่างกับผู้ลงทุนในทองคำ แม้ว่ากลุ่มผู้ลงทุนทั้งสองนั้นอาจมีความทับซ้อนบ้าง ดังเช่นในกรณีของผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ก็เป็นผู้ลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ตลาดพันธบัตร ตลาดทองคำ หรือตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ลงทุนจะเลิกลงทุนในตลาดสินค้าทันที (Spot) หรือทองคำ แล้วหันมาลงทุนในตลาดอนุพันธ์แต่เพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ ข้อมูลของตลาดต่างประเทศยังพบว่าการจัดให้มีการซื้อขายอนุพันธ์ไม่ว่าจะเป็นที่อ้างอิงกับตราสารหุ้น พันธบัตร หรือสินค้าโภคภัณฑ์ ก็มิได้ส่งผลกระทบทางลบต่อตลาดซื้อขายสินค้าอ้างอิงแต่อย่างใด โดยความสัมพันธ์ของตลาดทั้งสอง จะเป็นไปในลักษณะเกื้อกูลกันมากกว่า เนื่องจากอนุพันธ์เป็นเครื่องมือที่ช่วยเสริมให้การลงทุนในสินค้าอ้างอิง มีประสิทธิภาพมากขึ้น (Complimentary product) มิใช่เพื่อนำมาทดแทน (Substitute product) ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าปริมาณการซื้อขายของทั้งสองตลาดจะเติบโตไปด้วยกัน ดังจะเห็นได้จากปริมาณการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ นับจากที่เริ่มให้มีการซื้อขาย SET50 Index Futures ก็มิได้ลดลงแต่อย่างใด
ส่วนเหตุผลที่นักลงทุนควรจะเข้ามาลงทุนใน Gold Futures จะนำมาเสนอในคราวหน้า พร้อมกับผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถึงความเป็นไปได้ในการนำ Gold Futures เข้ามาในตลาดอนุพันธ์แห่งประเทศไทยค่ะ
อ้างอิง : NIDA MBE , eFinanceThai.com
Let'share **เชิญเขียนบทความไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หรือต้องการแชร์ประสปการณ์ ส่งมาทาง gemclubcmu.post@blogger.com เรายินดีต้อนรับบทความของทุกท่านค่ะ**
ร้านจิวเวลรี่ออนไลน์ บริหารโดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญในวงการจิวเวลรี่