Loading
250x250 Free Watch

สมัครสมาชิกเพื่อรับข่าวสารทางอีเมล์:

กรุณาตรวจสอบอีเมล์เพื่อยืนยันหลังจากทำการสมัคร

โพสล่าสุด

แบ่งปัน

têtê-à-têtê Jewelry

ภาพจาก MSN สาวสวยคนนี้ "เคท-แคทรีน อมตวิวัฒน์" นำความรู้ในเรื่องการตลาดมาผสมกับความชอบในเรื่องของการออกแบบ จิวเวอรี่แบรนด์ têtê-à-têtê ของเธอจึงสวยโรแมนติกในรูปแบบที่หลากหลายและไม่หลุดคอนเส็พต์

 

แนะนำคอนเส็พต์ของ têtê-à-têtê
คอนเส็พต์มาจากครอบครัวเรา คือการที่เคทเป็นลูกครึ่ง พ่อเป็นคนไทย แม่เป็นคนอังกฤษ ส่วนสามี (เค เค ชิน) มีเชื้อสายจีนกับมาเลย์ บ้านเราก็เลยค่อนข้างเป็นนานาชาติ คล้ายๆ กับ cultural fusion คือไม่ฝรั่งไม่ไทย ไม่จีน บวกกับเราชอบความโรแมนติก ก็เลยมาลงตัวที่ "romantic fusion"

 

คำว่าโรแมนติก หมายถึงอะไร
บอกก่อนเลยว่าไม่ใช่ผู้ชายผู้หญิงรักกัน โรแมนติกคือการทำอะไรที่มีความหมายอย่างเช่นการคุยถึงกันอย่างมีความหมายนั่งทำงานนคนเดียวแล้วจุดเทียนไปด้วย หรือเพื่อนทำอะไรดีๆ ให้ เป็นเรื่องของการทำอะไรที่มีความหมายและบรรยากาศดีๆ

 

ภาพจาก MSN

ซ้าย : Naga เคทได้แรงบันดาลใจจากการไปเวียนเทียนที่วัดเล็กๆ ในเชียงใหม่ตอนกลางคืน มีเทียนติดอยู่ข้างๆ บันได พระจันทร์เต็มดวง เห็นราวบันไดที่เป็นพญานาคลอยเด่นขึ้นมา ทำให้งานออกมาค่อนข้างดราม่า ประดับเพชรค่อนข้างเยอะ ชิ้นโต และมีสีสัน

ขวา : Chedi Objet d' art งานที่ดูมินิมัล สะอาดๆ ได้แรงบันดาลใจมาจากสถาปัตยกรรมของวัด

 

มักจะได้แรงบันดาลใจมาจากไหน
ส่วนใหญ่มักจะมาจากบทสนทนาของเรา เช่น ตอนไปกินติ่มซำกับสามี เขาบอกว่า ติ่มซำ แปลว่า "touch the heart" คือผู้หญิงชาวจีนสมัยก่อนจะต้องทำติ่มซำรอสามีกลับบ้านเพื่อเป็นการบอกรัก มันเป็นมุมมองทางวัฒนธรรมที่โรแมนติก ก็เลยเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบคอลเลคชั่นติ่มซำ หรืออย่างชื่อ têtê-à-têtê มาจากภาษาฝรั่งเศสแปลว่า หัวชนฝา เป็นสำนวนแปลว่า intimate conversation

 

ภาพจาก MSNRing a bling เค เค ชิน เป็นผู้ออกแบบ เขาต้องการให้แหวนเพชรเม็ดโตกับเคท ก็เลยเป็นไอเดียในการทำเป็นโครงของเพชรขึ้นมา แต่งด้วยเพชรเม็ดเล็กๆ กว่า 200 เม็ด

มีแบรนด์ที่นับว่าเป็นแบบหรือเปล่า
ที่นี่เราดูงานคนอื่นเพื่อที่จะบอกเราว่าจะไม่ทำอย่างนั้น เพราะเราไม่ได้อยากเป็นอย่างใคร แต่ถ้าถามว่าแบรนด์มีแนวทางอย่างไร อยากเป็นแบรนด์ Shanghai Tang ตรงที่นำเสนอวัฒนธรรมจีนออกมาได้ลงตัวและเป็นที่ยอมรับสำหรับนานาชาติ นอกจากนั้น เรายังมี vision ที่ว่า Let's romance the world โดยคิดนโยบาย Do-good Policy คือ เราจะไม่ใช้วัสดุสังเคราะห์ ของปลอม ย้อมสี เรซิ่น พลาสติก ไม่ใช้สิ่งมีชีวิตมาประดับ อย่างเช่น ปะการัง เปลือกหอย ทองที่เราใช้เป็นทองรีไซเคิลบางส่วน และไม่สนับสนุน blood diamond คือไม่ซื้อขายเพชรจากแอฟริกา หากเงินนั้นจะถูกนำไปใช้ซื้ออาวุธสงคราม

 ภาพจาก MSN

ซ้าย : Two แหวนหยกวงนี้มีที่มาจากเส้นสองเส้น ของคำว่า heaven and earth ในภาษาจีน ซึ่งจะเป็นเส้นขนานให้ความรู้สึกต่อเนื่อง

ขวา : แหวนเรียบๆ แต่ใส่ได้สามด้าน เป้นวงกลม 3 วง โดยวงกลมภาษาจีนคือความต่อเนื่อง ความไม่หยุด

 

 

ลูกค้าของ têtê-à-têtê คือใคร
เป็นคนโรแมนติก ชอบสิ่งที่มีความหมายและงานดีไซน์ ลูกค้าที่ซื้อของเราจะจำชื่อของงานเราได้เลย ไม่จำกัดอายุ และเป็นคนค่อนข้างที่จะเฮฮา ชอบอะไรไม่เหมือนคนอื่น

 

ภาพจาก MSN Love souls เคท ตกแต่งหัวกะโหลกที่ทำจากหินเทอร์คอยซ์ในลักษณะต่าง เช่น คาสโนว่า พ่อพระ มิวสิคแมน เจ้าพ่อ

 

ตัวเองเป็นคนนิสัยอย่างไร
เป็นคนมีนิสัยเยอะ เป็นคนที่มีหลายมุม เป็นคนไม่นิ่ง หาอะไรทำตลอดเวลา จะตั้งกฏกับตัวเองว่าทุกปีจะต้องเรียนรู้อะไรใหม่ 1 อย่าง เช่นปีนี้จะเรียนภาษา ปีนี้ต้องตีเทนนิสให้เก่ง ทุกปีต้องไปเที่ยวที่ใหม่ๆ ที่หนึ่งที่ไม่เคยไปมาก่อน มันจะช่วยเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานสร้างสรรค์ได้ดีขึ้น

 

DA0D97CFC61A37BB964A7C7ED661D

แหวน Dim Sum มีความหมายดีๆ ว่า "touch the heart"

 

สิ่งที่ทำให้ชอบในงานนี้
มีความสุขเวลาคนหยิบงานเราขึ้นมาแล้วชอบ เหมือนกับเขาได้เจอเนื้อคู่ งานแต่ละชิ้นของเรา เหมือนเขารอเนื้อคู่เขาอยู่ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะใส่ได้ เพราะแต่ละคนก็จะมีความชอบต่างกัน

ติดตามผลงานของ têtê-à-têtê ได้ที่ www.tetejewellers.com

 

ข้อมูล นิตยสาร Livingetc ฉบับภาษาไทย
ภาพประกอบ MSN Thailand

3/31/2552 | Posted in , , | Read More »

คุณค่าที่มากกว่าความสวยงาม - ทองคำ

ภาพจาก pro.corbis.com ในยุคโบราณ ทองคำได้นำมาใช้เป็นเครื่องตกแต่งในพิธีกรรมทางศาสนา เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความมีอำนาจ ความสว่าง และความรุ่งเรือง นับเป็นเวลานานหลายศตวรรษที่ผ่านมา ทองคำยังคงสามารถใช้เป็นเงินตราที่มีค่าสูงสุด และเป็นโลหะชนิดเดียวที่ได้รับการยอมรับในทุกหนทุกแห่งในการใช้แลกเปลี่ยนต่างๆ

ซึ่งจริงๆแล้วโลหะมีค่านี้มีการนำมาใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญๆต่างๆมากมาย เนื่องจากคุณสมบัติที่โดดเด่นหลายประการ คือ
1. สามารถตีแผ่ได้ (Mellability)
2. มีความเหนียว (Ductility) สูง
3. ทนการกัดกร่อน (Resistance to corrosion)
4. นำความร้อนและไฟฟ้า (Thermal and electrical conductivity)
5. สะท้อนแสงได้สูง (High reflectivity)

ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ จึงมีการนำทองคำมาใช้ในด้านต่างๆ ซึ่งล้วนแต่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์ทั้งสิ้น เช่น

ด้านอวกาศ (Aerospace)
ทองคำได้นำมาใช้เป็นชุดนักบินอวกาศและแคปซูล เพื่อป้องกันนักบินอวกาศจากรังสีที่มีพลังงานสูง ในขณะอยู่บนดวงจันทร์หรือในอวกาศ นอกจากนี้ทองบริสุทธิ์ยังใช้เคลือบเครื่องยนต์ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ หมวกเหล็ก เกราะบังหน้า โซ่ โดยชั้นทองมีความหนา 0.000006 นิ้ว เพื่อสะท้อนรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นสาเหตุให้การทำงานของอุปกรณ์เหล่านี้เสื่อมประสิทธิภาพ

ด้านทันตกรรม (Dentistry)
ทันตแพทย์ได้ใช้ทองคำเพื่อครอบฟัน (Crown) เชื่อมฟัน (Bridge) เลี่ยมทอง (Gold inlays) และเป็นบางส่วนของฟันปลอม (Partial denture) เนื่องจากทองคำทนต่อการกัดกร่อน ทนต่อการหมองคล้ำ และมีความแข็งแรง ทองคำที่ใช้ในลักษณะนี้ จะอยู่ในรูปทองคำผสมกับธาตุอื่นๆ เช่น ธาตุแพลตตินัม

ด้านอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics)
มีการนำทองคำมาใช้เป็นวัสดุที่ใช้ทำเป็นหน้าสัมผัส (Contact) ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ อาทิ เครื่องคิดเลข ทีวี คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และอื่นๆ เนื่องจากทองคำมีค่าการนำไฟฟ้าสูงและทนต่อการกัดกร่อน ทำให้อุปกรณ์ดังกล่าวมีประสิทธิภาพ และมีอายุใช้งานได้ยาวนาน

นอกจากทองคำแล้ว ยังมีอัญมณีมีค่าอีกชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งจะนำเสนอในครั้งต่อไป…

ข้อมูล สิริพรรณ นิลไพรัช สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาพประกอบ Corbis

3/30/2552 | Posted in , , , , | Read More »

พาเที่ยวพิพิธภัณฑ์เปลือกหอย

เมืองไทยเรามีพิพิธภัณฑ์ดีๆอยู่หลายแห่ง ซึ่งพิพิธภัณฑ์เปลือกหอยทั้ง 2 แห่งนี้เป็นสถานที่ที่แนะนำให้แวะเข้าไปชมหากมีโอกาส

พิพิธภัณฑ์เปลือกหอยกรุงเทพฯ

โดย หนุ่มลูกทุ่ง ASTVผู้จัดการออนไลน์

พิพิธภัณฑ์เปลือกหอยกรุงเทพ จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์ ชั้นสองของพิพิธภัณฑ์ จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

เกิดขึ้นจากความรัก ความรอบรู้ และ ความเชี่ยวชาญในเปลือกหอยของ คุณจอม สมหวัง ปัทมคันธิน สุดยอดแฟนพันธุ์แท้เปลือกหอย 2 สมัย (ปี 2007 และปี 2008) ผู้คว้ารางวัลคะแนนโหวตสูงสุดปี 2008  ทายาทของคุณสมนึก ปัทมคันธิน เจ้าของพิพิธภัณฑ์เปลือกหอยที่หาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต เพิ่งเปิดตัวสดๆร้อนๆเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้เอง ตัวพิพิธภัณฑ์ได้ทำเลดีอยู่ตรงหัวมุมถนนสีลม 23 มองเห็นได้ชัดเพราะมีสัญลักษณ์รูปเปลือกหอยอันใหญ่อยู่บนตัวตึก ก่อนจะเข้าไปชมภายในพิพิธภัณฑ์ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมกันก่อน ตอนนี้ค่าเข้าชมสำหรับคนไทยในช่วงโปรโมชั่นเปิดพิพิธภัณฑ์อยู่ที่ 100 บาทขาดตัว แต่หลังจากนี้อีกสักหน่อยก็คงจะมีการปรับเปลี่ยนราคาแล้ว เพราะฉะนั้นหากใครอยากชมในราคาโปรโมชั่นนี้ก็ต้องรีบมากัน

ภายในอาคารนั้นแบ่งเป็นสามชั้นด้วยกัน รวบรวมเปลือกหอยจากทั่วโลกไว้มากกว่า 600 ชนิด แต่จำนวนเปลือกหอยที่นำมาจัดแสดงนั้นมีเป็นหมื่นๆ ชิ้นแบ่งกลุ่มตามชนิดของหอย เพียงเข้าไปที่ชั้นแรกก็รู้สึกได้ถึงความอลังการ เพราะมีเปลือกหอยหน้าตาแปลกๆทั้งเล็กทั้งใหญ่วางเรียงกันเป็นแถว มีคำอธิบายไว้เพียบพร้อม ที่ชั้นนี้มีหอยประเภทวงศ์หอยจุกพราหมณ์ หรือหอยสังข์ทะนาน ที่เรียกว่าหอยจุกพราหมณ์นั้นก็เพราะเกลียวที่ก้นหอยนั้นบิดเป็นเกลียวกลมคล้ายมวยผมของพราหมณ์ มีวงศ์หอยสังข์บิด หอยสังข์แตร หอยสังข์กบ และวงศ์หอยมือเสือ หอยมือแมว สำหรับหอยมือเสือนี้เป็นหอยสองฝาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกรองจากหมึกกล้วยยักษ์ และยังเป็นหอยที่มีสองเพศในตัวเดียว จะเรียกว่าเป็นหอยกระเทยก็คงได้ โดยในพิพิธภัณฑ์นี้มีหอยมือเสือขนาดยักษ์ที่พบอยู่ตามแนวปะการังน้ำตื้นชายฝั่งเขตอินโด-แปซิฟิคมาโชว์ให้ดูด้วย

เม่นระเบิดหนามใหญ่ จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีวงศ์หอยมะเฟือง วงศ์หอยโข่งทะเล หอยโข่งบาง โข่งเปลือกบาง วงศ์หอยรังนก วงศ์หอยตีนช้าง หอยกระต่าย แต่ที่ฉันเห็นว่าน่ารักที่สุดก็คงเป็นสิ่งที่อยู่ในตู้กระจกตรงกลางที่จัดแสดงเม่นทะเล อย่างเม่นยักษ์อังกฤษได้จากประเทศแคนาดา เม่นม่วงจากภูเก็ต เม่นระเบิดหนามใหญ่จากภูเก็ต เม่นบอลจากภูเก็ต เม่นจิ๋วน้ำลึกจากเกาะไต้หวัน เม่นเหล่านี้หน้าตาน่ารัก ตัวกลมๆป้อมๆแถมมีสีสันสวยงาม โดยเฉพาะเม่นระเบิดหนามใหญ่นั้นมีลวดลายสวยอย่างกับวาดเอาเลยทีเดียว

 

หอยหัวใจ จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์ คราวนี้ขึ้นมาที่ชั้นสองกันบ้าง ที่ชั้นนี้มีหอยสีสันสดใส หน้าตาสวยงามแปลกประหลาดมากมาย ที่สวยโดดเด่นที่สุดฉันขอยกให้กับวงศ์หอยแสงอาทิตย์ หอยแต่งตัว หอยพระอาทิตย์ ที่จะเอาเศษหิน เศษปะการัง หรือเศษเปลือกหอยต่างๆมาเชื่อมติดกับเปลือกกระจายเป็นวงแผ่รัศมีโดยรอบคล้ายพระอาทิตย์
และหอยที่สีสันสดใสที่สุดขอยกให้กับหอยเชลล์หลากขนาดและหลากสีสัน ส่วนหอยที่น่ารักหวานแหววที่สุดก็ต้องหอยหัวใจ หรือหอยแครงหัวใจ หอยสองฝาที่เมื่อฝาทั้งสองประกบกันแล้วจะกลายเป็นรูปหัวใจสวยงาม บางอันมีสีขาวอมเหลือง บางอันสีเหลืองสดใส บางอันออกสีส้มอ่อนๆ บางอันก็เป็นสีชมพูปิ๊งน่ารักมากทีเดียว

ที่ชั้นสองนี้ยังมีฟอสซิลหอยขนาดใหญ่ที่ถูกค้นพบอย่างบังเอิญขณะขุดเจาะชั้นหินเพื่อสร้างถนนในประเทศเยอรมัน มีอายุอยู่ในยุคจูราสสิคตอนต้น หรือช่วง 180 ล้านปีก่อนนั่นเอง นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีหอยงวงช้าง หอยปิ่นขาว หอยปิ่นปักผม หอยเพรียงเจาะหินยักษ์ วงศ์หอยสังข์มงคลที่ไว้ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา และวงศ์หอยสังข์ยักษ์ สังข์จีน สังข์น้ำตาล และหอยอื่นๆอีกมากมาย

ภาพจาก ASTVผู้จัดการออนไลน์ ปีนบันไดขึ้นมาดูเปลือกหอยกันต่อบนชั้นสามซึ่งเป็นส่วนจัดแสดงส่วนสุดท้ายกันบ้าง เมื่อขึ้นมาถึงชั้นนี้แล้ว สิ่งแรกที่จะได้เห็นก็คือภาพฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ซึ่งทรงพระราชทานให้แก่ผู้เข้าแข่งขันที่ชนะเลิศจากรายการแฟนพันธุ์แท้ตอนเปลือกหอย ซึ่งเป็นภาพฝีพระหัตถ์ที่งดงามมากทีเดียว

นอกจากนั้นแล้วบนชั้นนี้ยังจัดแสดงซากฟอสซิลฝูงโกเนียไตต์ (กลุ่มหนึ่งของแอมโมไนต์ในยุคโบราณ) พบที่เทือกเขาแอตลาส เมืองไอมูเซอร์ ประเทศโมรอคโค มีอายุกว่า 350 ล้านปีมาแล้ว ส่วนเปลือกหอยชนิดอื่นๆนั้นก็มีวงศ์หอยสังข์ปีก เช่น หอยชักตีน หอยแมงป่อง หอยมือนาง หอยจักรนารายณ์ วงศ์หอยสังข์หนาม ที่มีหน้าตาสวยงามไม่แพ้หอยชนิดอื่นๆ

ที่นี่ฉันยังได้รู้จักกับหอยที่มีเข็มพิษอย่างวงศ์หอยเต้าปูน ซึ่งบางชนิดมีพิษร้ายแรงทำให้คนเสียชีวิตได้ ดังนั้นเมื่อเราดำน้ำอยู่ใต้ทะเลจึงไม่ควรหยิบจับหอยต่างๆที่ไม่ทราบชนิดแน่ชัด เพราะเจ้าหอยตัวนั้นอาจจะเป็นหอยเต้าปูนก็ได้ นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีวงศ์หอยเม็ดขนุน หอยกระดุม วงศ์หอยเบี้ย ซึ่งเราเคยใช้แทนเงินในสมัยอดีต วงศ์หอยเจดีย์ หอยพลูจีบ ซึ่งมีเข็มพิษเช่นเดียวกับหอยเต้าปูน

 

หอยคิวบา จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์  หอยสังข์หนาม จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

คราวนี้มาดูหอยจำพวกหอยทากกันบ้าง ฉันได้เห็นหอยที่มีสีสันสวยงามอย่างหอยลูกกวาดคิวบา หรือหอยทากโพลีมิต้า ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นหอยทากบกที่มีสีสันลวดลายแจ่มที่สุดในโลกก็ว่าได้ ชนพื้นเมืองในเกาะคิวบาได้เก็บไปทำสร้อยคอหรือเครื่องประดับ และยังถือว่าเป็นมรดกแห่งชาติของคิวบาอีกด้วย นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีหอยทากอื่นๆเช่น หอยน้ำพริก หอยลุ หอยนกขมิ้น หอยทากต้นไม้ฟลอริด้า หอยทากยักษ์แอฟริกันและอเมริกาใต้ หอยทากทะเลทรายจากประเทศเปรู ซึ่งหาดูไม่ได้ง่ายๆอีกด้วย

บนชั้นสามยังมีมุมพิเศษจัดไว้สำหรับวงศ์หอยนมสาวน้ำลึก หอยนมสาวปากร่อง ที่ถือว่าเป็นหอยที่หายากและเป็นที่นิยมของนักสะสม เพราะอาศัยอยู่ในท้องทะเลลึกหลายร้อยไปจนถึงหลายพันเมตร และมีมุมจัดแสดงเปลือกหอยน้ำจืด เช่น หอยขมหนามจากทะเลสาบแทนแทนยิกา หอยกาบปุ่ม หอยเรือบิน หอยกาบ หอยเดือยไก่ดำ และหอยกาบน้ำจืดยักษ์จากประเทศจีน ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีขนาดเปลือกใหญ่ที่สุดในโลกจัดแสดงไว้ให้ชมกันด้วย

มองไปทางไหนก็เห็นแต่เปลือกหอยสวยงามล้ำค่าละลานตาไปหมด แถมยังไม่ใช่หอยธรรมดาๆ แต่เป็นหอยประเภทที่หายาก มาจากมหาสมุทรน้ำลึกบ้าง มาจากต่างประเทศบ้าง ดังนั้นคนที่ปกติเห็นแต่หอยขม หอยแครง หอยแมลงภู่อย่างฉันจึงต้องตกตะลึง และใช้เวลาอยู่ในพิพิธภัณฑ์เปลือกหอยแห่งนี้อยู่เกือบสองชั่วโมงเลยทีเดียว

พิพิธภัณฑ์หอยกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ที่ 1043 ซอยสีลม 23 บางรัก กรุงเทพฯ 10500 อยู่บริเวณหัวมุมถนนสีลม ซอย 23 เยื้องสี่แยกโรงพยาบาลเลิดสิน
เปิดให้เข้าชม เวลา 10.00-21.00 น. ทุกวัน
ค่าเข้าชม ชาวไทย 100 บาท ชาวต่างประเทศ 200 บาท 
การเดินทาง มีรถประจำทางสาย 1, 15 และ 77 ผ่าน และสามารถนั่งรถไฟฟ้ามาลงที่สถานีสุรศักดิ์ หรือสถานีสะพานตากสิน หรือนั่งเรือด่วนเจ้าพระยามาขึ้นที่ท่าสะพานตากสิน แล้วเดินมายังซอยสีลม 23 ได้เช่นกัน
สอบถามรายละเอียด โทร.0-2234-0291

 

พิพิธภัณฑ์เปลือกหอย จ.ภูเก็ต

โดย นายรอบรู้

ภาพจาก Nairobroo.com

ตั้งอยู่ที่เลขที่ 12/2 หมู่ 2 ถ. วิเศษ ต. ราไวย์ ใกล้กับหาดราไวย์ เป็นสถานที่เก็บรวบรวมเปลือกหอยต่าง ๆ ที่พบในท้องทะเลอันดามันและจากท้องทะเลทั่วโลก มีการจัดแสดงเป็นระบบและมีข้อมูลประกอบอย่างน่าสนใจ จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อตั้งโดยคุณสมนึก ปัทมคันธิน ซึ่งสนใจเรื่องหอยมาตั้งแต่เด็ก จึงเริ่มศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง รับซื้อและเเลกเปลี่ยนเปลือกหอยจากคนภูเก็ตและผู้สนใจหอยทั่วไป ทำให้มีเปลือกหอยแปลกใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงคิดสร้างพิพิธภัณฑ์เปลือกหอยขึ้น เพื่อเผยเเพร่ความรู้เรื่องหอยแก่บุคคลทั่วไป เปิดให้เข้าชมตั้งแต่ ธ.ค. 2540

ภายในอาคารได้จัดแสดงเปลือกหอยเป็นหมวดหมู่อย่างสวยงาม ซึ่งจำแนกประเภทใหญ่ ๆ ได้สี่กลุ่ม ได้แก่
หอยเบี้ย เป็นหอยที่คนนิยมสะสมมากที่สุด มีโครงสร้างโค้งมน ผิวเปลือกเป็นมันวาวคล้ายกระเบื้องเคลือบ
หอยเต้าปูน เป็นหอยมีพิษ มีเปลือกเป็นทรงกรวย มีสีสัน ขนาด และลวดลายที่หลากหลายมาก
หอยสังข์หนาม หรือหอยหน้ายักษ์ เป็นหอยทะเลกลุ่มใหญ่ที่สุด เป็นหอยฝาเดี่ยว มีหนามขึ้นเป็นแนวรอบตัว และ
หอยสังข์จุกพราหมณ์ อาศัยอยู่ตามพื้นทรายปนเลนนอกแนวชายฝั่ง พบในประเทศไทยเพียงสองชนิด

หอยแต่ละกลุ่มที่จัดแสดงมีทั้งเปลือกหอยที่พบในน่านน้ำไทย เช่น จากภูเก็ต สตูล กระบี่ ระนอง และเปลือกหอยจากหลายประเทศทั่วโลก เช่น จากทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อ่าวเม็กซิโก แอฟริกาใต้ ฯลฯ มีทั้งเปลือกหอยที่หายากมากและที่พบเฉพาะถิ่น หอยทุกตัวมีป้ายบอกชื่อ ลำดับชั้นทางวิทยาศาสตร์ และคำบรรยายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น ไข่มุกสีทองหนัก 140 กะรัต พบด้านฝั่งตะวันตกของเกาะภูเก็ต ฟอสซิลหอยกาบสองฝาอายุนับร้อยล้านปี หอยสังข์ที่ใช้ในพิธีมงคล ไมโครเชลล์หรือกลุ่มหอยที่ตัวเต็มวัยมีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถแยกได้ด้วยตาเปล่า

เปิดให้เข้าชม 08.00-18.30 ทุกวัน
ค่าเข้าชม คนไทย 100 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท
ติดต่อสอบถามข้อมูล โทร. 0-7638-1274, 0-7638-1888

3/27/2552 | Posted in , , , , , | Read More »

สัมมนาฟรี - "เปิดโลกอัญมณีกับ GIT ตอนที่ 2"

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ขอเชิญเข้าร่วมฟรีสัมมนา เรื่อง "เปิดโลกอัญมณีกับ GIT ตอนที่ 2" ในวันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน 2552 เวลา 13.00 - 16.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารวิจัยและตรวจสอบอัญมณี
ดาวน์โหลดกำหนดการและใบตอบรับ (กรุณาตอบรับก่อนวันที่ 7 เมษายน 2552)

3/27/2552 | Posted in , , | Read More »

ปรากฏการณ์ทางแสง – Gemstone Phenomena

แร่แต่ละชนิดมีคุณสมบัติทางแสงเฉพาะตัว และแร่ที่เป็นอัญมณีคุณสมบัติต่อแสงอย่างพิเศษเฉพาะชนิดของอัญมณีนั้น คุณสมบัติทางแสงที่เกิดกับอัญมณีเป็นผลมาจากคุณลักษณะที่เฉพาะของอัญมณี และ/หรือมลทินแร่ที่ฝังตัวอยู่ในเนื้ออัญมณี
ช่างเจียระไนอัญมณี ตลอดจนถึงผู้ที่สนใจอัญมณีควรรู้ถึงคุณสมบัติทางแสงแบบพิเศษของอัญมณีแต่ละชนิด เพราะอัญมณีแต่ละชนิดได้ซ่อนเร้นความงามของตัวเองไว้ การเลือกอัญมณีและการเจียระไนในทิศทางที่เหมาะสม จะทำให้อัญมณีแสดงความสวยงามเฉพาะตัวที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวอัญมณีออกมา

การเล่นสี (play of colour)
จริงๆ แล้วโอปอล (opal) ไม่มีคุณสมบัติด้านความคงทนที่เหมาะสมที่จะเป็นอัญมณี กล่าวคือ มันมีความแข็ง 5.6-6.5 เปราะและแตกร้าวได้ง่าย การดูแลโอปอล นอกจากต้องระวังเรื่องการกระทบกระแทกแล้ว ยังต้องดูแลไม้ให้โอปอลแห้งจนเกินไป เนื่องมาจากน้ำที่มีอยู่ในสูตรของโอปอลสามารถระเหยออกจากโอปอลได้ ทำให้โอปอลร้าว แต่มีเพียงโอปอลหนึ่งเดียวเท่านั้นที่มีคุณสมบัติการเล่นสีที่สวยที่สุดในบรรดาอัญมณีทั้งหลาย

การเล่นสีของโอปอลมีลักษณะที่สีของโอปอลสามารถเปลี่ยนสีได้ สีต่างๆที่เกิดเป็นจุดเปลี่ยนไป-มาเมื่อเราขยับอัญมณีโอปอลลักษณะเช่นนี้เกิดเนื่องจากรูปแบบโครงสร้างภายใน และปริมาณน้ำที่ไม่เท่ากันในแต่ละส่วนของโอปอล สามารถที่จะหักเหความยาวของคลื่นแสงที่เคลื่อนที่ผ่านเข้าไป และเคลื่อนที่ออกจากเนื้อโอปอลได้ ลักษณะสีคล้ายกับสีที่เห็นจากฟองสบู่

ภาพ White Opal จาก Ethan Lord Jewelers โอปอลขาว (White Opal) จากออสเตรเลียจะเกิดเป็นสาย (vein) แต่ภาษาชาวเหมืองโอปอลเรียกว่าเป็นชั้น (seam) บริเวณด้านข้างของชั้นโอปอลจะเป็นบริเวณที่แสดงการเล่นสีที่ดีที่สุด โอปอลชนิดนี้มักพบว่าเกิดเป็นชั้นที่หนา ในการตัดเพื่อเจียระไนสามารถตัดขวางชั้นของโอปอลได้เลย

ภาพ Black Opal จาก Shay's Jewelers โอปอลดำ ( Black Opal) เป็นโอปอลที่มีราคาสูงกว่าโอปอลขาว โอปอลชนิดนี้มีสีน้ำเงินเข้ม สีเทา สีเขียว และสีดำมัน มักเกิดเป็นชั้นบางๆ ทำให้ไม่สามารถเลือกด้านที่ตัดเพื่อให้ได้บริเวณที่เล่นแสงได้ดีที่สุด การใช้เทคนิคและความพิถีพิถันในการตัดและเจียระไน ทำได้โดยการเลือกบริเวณที่ให้การเล่นสีที่สวยและมีพื้นที่กว้างและเจียระไนได้ ตัดด้านของโอปอลด้านนั้นให้เรียบ ขัดจนกระทั่งการเล่นสีของโอปอลปรากฏ ต่อจากนั้นนำเศษโอปอลหรือแร่ชนิดอื่นมาปะติดทับบนหน้าเรียบนั้น (วิธีการนี้เป็นการเพิ่มความหนาเพื่อทำให้เกิดความแข็ง) กลับด้านโอปอลนั้นตัดและเจียระไนให้เป็นแบบนี้เมื่อเจียระไนเสร็จแล้วจะเรียกว่า ดับเบล็ท (doublet)

 

แชทโตแยนซ์ (chatoyant)
ภาพ Tiger's eye จาก Glitzy Stone ลักษณะแชทโตแยนซ์ หรือลักษณะประกายตาแมว หรือลักษณะประกายตาเสือ เป็นลักษณะแถบสว่างของแสงที่ปรากฏบนผิวของอัญมณีบางชนิด เมื่อเจียระไนแบบหลังเบี้ยแถบสว่างของแสงที่ต่อเนื่องเกิดขึ้นจากขอบด้านหนึ่งของหลังเบี้ยพาดผ่านจุดยอดไปสู่อีกด้านหนึ่งของหลังเบี้ย ลักษณะของการเกิดประกายเช่นนี้ เกิดเนื่องจากการสะท้อนของแสงที่เคลื่อนที่เข้าไปในผลึกแร่ที่มีรูปร่างเป็นเส้นใยหรือเส้นไฟเบอร์ ได้มีการประมาณว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นไฟเบอร์นี้ มีขนาดซึ่งเปรียบเทียบได้ดังนี้คือ ในระยะทางหนึ่งนิ้วจะผ่านเส้นใยเหล่านี้ถึง 65,000 เส้น

ภาพ chrysoberyl cat's eye จาก Gemsoul.com อัญมณีที่ให้ลักษณะของประกายตาแมวที่แท้จริงคือ คริสโซเบริล (chrysoberyl) ซึ่งจัดว่าเป็นอัญมณีที่มีความแข็งเป็นอันดับที่ 3 รองจากเพชรและพลอย กล่าวคือ มีความแข็งเท่ากับ 8.5 มีสีเหลืองน้ำผึ้งและสีเขียวใบตองอ่อน-สีเขียวใบตองแก่ แร่ชนิดอื่นให้ลักษณะแชทโตแยนซ์ได้เช่น ทัวร์มาลีน (tourmaline) และควอทซ์(quartz) เป็นต้น ในเมืองไทยมีชื่อเรียกอัญมณีเหล่านี้ว่า แก้วตาเสือ หรือคตไม้สัก ลักษณะที่กล่าวมาเป็นแร่ควอทซ์ที่เกิดเป็นเส้นใย เข้าไปแทนที่โครงสร้างของแร่เซอร์เพนทีน (serpentine) ซึ่งจะได้เส้นใยไฟเบอร์เป็นสีน้ำตาลทองและสีน้ำเงิน

การตัดเพื่อเจียระไนเพื่อทำให้เกิดลักษณะแชทโตแยนซ์ ทำได้โดยการตัดฐานของรูปหลังเบี้ยให้ขนานกับเส้นไฟเบอร์ ถ้าหลังเบี้ยมีรูปร่างเป็นวงรีหรือรูปไข่เส้นไฟเบอร์ ควรจะวางตัวขนานกับด้านยาวของเส้นผ่าศูนย์กลางด้านที่ยาวของรูปแบบวงรี

แอสเทอริซึม(Asterism) หรือสตาร์ (Star) หรือสาแหรก 
ลักษณะของแอสเทอริซึม คือ ลักษณะประกายรูปดาว 4 แฉก หรือ 6 แฉก ที่ปรากฏอยู่บนผิวอัญมณีที่เจียระไนแบบหลังเบี้ย ลักษณะที่เป็นที่นิยมก็คือ จุดศูนย์กลางของรูปดาวควรอยู่บริเวณจุดยอดของหลังเบี้ย (หรือจุดศูนย์กลางของหลังเบี้ย) ขาดาวต้องมีครบ 4 หรือ 6 ขา โดยที่ความยาวไล่จากจุดศูนย์กลางไปจนถึงขอบของหลังเบี้ย และถ้ารูปแบบการเจียระไนเป็นแบบรูปวงรีควรมีขาคู่หนึ่งอยู่ในทิศทางตามเส้นผ่าศูนย์กลางด้านยาวของรูปวงรี

การเกิดคุณสมบัติแอสเทอริซึม เกิดเนื่องจากการที่อัญมณีมีแร่ที่มีรูปร่างเป็นเข็มฝังตัวอยู่ในเนื้ออัญมณีอย่างเป็นระเบียบ ถ้ามีแร่รูปเข็มฝังตัวอยู่ในอัญมณีอยู่ 2 ชุด การเจียระไนที่ถูกต้องจะได้ลักษณะประกายรูปดาว 4 แฉก และถ้ามีรูปเข็มอยู่ 3 ชุดจะได้ประกายดาว 6 แฉก แต่ถ้ามี 1 ชุดลักษณะที่พบจะเป็นแชทโตแยนซ์หรือตาแมว

ในบางครั้งพบว่า ขนาดของประกายรูปดาวมีขนาดไม่เท่ากัน และขาไม่สมบูรณ์ครบ ลักษณะเช่นนี้เกิดเนื่องจากอัญมณีที่นำมาเจียระไนซึ่งมีรูปเข็มฝังตัวอยู่ มีการกระจายตัวอยู่ไม่สม่ำเสมอหรือเป็นเพราะวิธีการเจียระไนไม่ถูกวิธี แต่ในบางครั้งก็สามารถพบลักษณะประกายดาว 4 แฉก 2 ชุด (มี 8 ขา) หรือประกายดาว 6 แฉก 2 ชุด(มี 12 ขา) ลักษณะดังกล่าวนี้เกิดเนื่องจากมาจากวัตถุดิบอัญมณีมีการเปลี่ยนรูป (deformed) โครงสร้างภายในของมันไปจากเดิม โดยขบวนการทางธรรมชาติเช่น ถูกแรงบีบอัด คุณลักษณะพิเศษแบบหลังนี้ทำให้อัญมณีมีคุณค่ามากขึ้น

star rubyอัญมณีที่แสดงคุณสมบัติประกายรูปดาวที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ พลอยในตระกูลคอรันดัม (corundum) เช่น ทับทิม (ruby) และไพลิน (blue sapphire) การพิจารณาในการตัดเพื่อเจียระไนที่ทำให้ได้รูปดาวที่สมบูรณ์นั้นทำได้ยาก เพราะรูปเข็มที่ฝังตัวอยู่ในพลอยมีขนาดเล็กมาก และวัตถุดิบพลอยมักแสดงหน้าผลึกไม่สมบูรณ์

วิธีการพิจารณาหาจุดศูนย์กลางของประกายดาว และแนวที่จะตัดวัตถุดิบพลอยมีวิธีการพิจารณาดังนี้ นำวัตถุดิบพลอยมาศึกษาหาแกนทางแร่ที่ยาวที่สุด ในสาขาวิชาผลึกศาสตร์ทางแสง (optical ceystallography) เรียกแกนนี้ว่า แกน C ซึ่งจะเป็นแกนเดียวกันกับค่าดัชนีหักเหของพลอยที่เรียกว่า Ne และทางแกนแสง (optic axis) ตัดหน้าเรียบ และขัดมัน โดยให้หน้าเรียบนี้ตั้งฉากกับแกน C นี้ หรือนำวัตถุดิบพลอยมาพิจารณาหาหน้าที่แสดงการเปลี่ยนสีน้อยที่สุด และให้สีของพลอยเข้มที่สุด (ควรใช้กล้องจุลทรรศน์ที่มีแผ่นโพลารอยด์ในการพิจารณา) ตัดหน้าเรียบของพลอยให้ขนานกับหน้านี้ นำหน้าเรียบของพลอยไปส่องกับไฟ (ใช้ไฟโคมชนิดหลอดไฟไม่เคลือบ) พลิกหน้าเรียบของพลอยไปมาอย่างช้าๆ สังเกตจุดศูนย์กลางของประกายรูปดาว และทำเครื่องหมาย ทำการเจียระไนโดยใช้จุดศูนย์กลางของรูปประกายดาวเป็นจุดศูนย์กลางของรูปหลังเบี้ย

ในบางครั้งการพิจารณาอาจจะเห็นเพียงส่วนขาของประกายดาว การหาจุดศูนย์กลางของประกายดาว ทำได้โดยการลากเส้นตรงจากประกายขาอย่างน้อย 2 ขาไปตัดกัน จุดตัดจะเป็นศูนย์กลางของประกายดาว

อาเวนทูเรสเซนต์ (Aventurescence)
ภาพ Aventurine จาก Geology.com เป็นลักษณะของการสะท้อนแสงของอัญมณีที่ใส ซึ่งภายในเนื้ออัญมณีประกอบด้วยแร่มลทิน (mineral inclusions) ที่เรียงตัวเป็นระนาบ มลทินที่เรียงตัวเป็นระนาบนี้จะสะท้อนแสงให้ประกาย อัญมณีในตระกูลควอทซ์ และเฟลด์สปาร์ จะแสดงการประกายสะท้อนแสงเช่นนี้ การเจียระไนเพื่อทำให้เกิดอาเวนทูเรสเซนต์ ต้องตัดให้ฐานของหลังเบี้ยขนานกับระนาบนี้และระนาบของมลทิน ต้องอยู่ตื้นจากผิวโค้งของหลังเบี้ย

อัญมณีที่แสดงคุณลักษณะเช่นนี้มักมีราคาถูก แต่แร่เฟลด์สปาร์จากนอรเวย์ให้ประกายอาเวนทูเรสเซนต์สีส้มวูบวาบ ซึ่งเป็นที่นิยม เฟลด์สปาร์ที่แสดงลักษณะเช่นนี้มีชื่อเรียกว่า ซันสโตน (sunstone)

ชิลเลอร์ (Schiller)
ภาพ Amazonite จาก Pacifier.com ลักษณะประกายการสะท้อนแสงคล้ายกับอาเวนทูเรสเซนต์แต่ประกายการสะท้อนแสงนี้ เกิดเนื่องจากตัวอัญมณีมีชุดของแนวระนาบแนวแตก (เป็นแนว cleavage หรือแนว parting) อะมาโซไนต์ (Amazonite)  และเฟลด์สปาร์ในชนิดอื่นๆเป็นอัญมณีที่แสดงคุณลักษณะเช่นนี้


อะดูลาเรสเซนต์ (Adularescence)
ภาพ Moonstone จาก Jewel for me เป็นชื่อประกายเฉพาะของอะดูลาเรีย(adularia) ซึ่งเป็นแร่ในตระกูลเฟลด์สปาร์ ลักษณะอะดูลาเรสเซนต์คือ ประกายออกสีน้ำเงินนวลอ่อนๆ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของ มุกดาหาร หรือมูนสโตน (moonstone) ประกายอะดูลาเรสเซนต์สามารถเห็นได้ง่ายโดยการนำวัตถุดิบอะดูลาเรียไปจุ่มน้ำ และนำขึ้นมาดูโดยพลิกตัวอย่างไป-มาใต้แสงไฟรูปแบบของเจียระไนต้องตัดฐานของหลังเบี้ย ให้ขนานกับด้านของแร่ที่แสดงประกายมากที่สุด

แลบราโดเรสเซนซ์(Labradorescence)
ภาพ labradorite  จาก generousgems.com เป็นลักษณะประกายการเล่นแสงของอัญมณีแลบราโดไรต์ (labradorite) เป็นแร่ชนิดหนึ่งของกลุ่มแร่เฟลด์สปาร์ มีสีดำ เทา ขาวขุ่น เฉพาะแลบราโดไรต์ที่มีประกายเล่นแสงเป็นสีเท่านั้นที่เป็นอัญมณี การเล่นแสงส่วนใหญ่เห็นเป็นสีน้ำเงินแถบกว้างเคลื่อนที่ไป-มาเมื่อขยับ ตัวอย่างประกายการเล่นแสงสีเขียว แดง ส้ม และเหลือง พบได้เช่นกัน

การตัดเพื่อเจียระไน อาศัยหลักการพิจารณาเช่นเดียวกับการพิจารณาวัตถุดิบอัญมณี ที่ต้องการลักษณะของอาเวนทูเรสเซนต์ ชิลเลอร์และอะดูลาเรสเซนซ์ หน้าตัดเรียบของวัตถุดิบควรนำมาทดสอบใต้แสงไฟอีกครั้งหนึ่ง (ควรให้ผิวตัวอย่างเปียก) และอาจจะตบแต่งเพิ่มได้โดยการตัดหน้าที่ทำมุมเพียงเล็กน้อยกับหน้าตัดแรก ซึ่งอาจจะทำให้ได้ลักษณะของการเล่นแสงได้ดียิ่งขึ้น


ไอริดิเซนซ์(lridescence)
ภาพ chalcedony จาก gemselect.com เป็นลักษณะประกายที่เกิดขึ้นกับอัญมณีประเภทคาลซิโดนี (chalcedony) บางประเภท ในบางครั้งแถบชั้นวงในก้อนคาลซิโดนี (chalcedony nodules) มักจะมีชั้นบางๆของสนิมเหล็กขึ้นอยู่ แสงเมื่อเคลื่อนที่ผ่านชั้นเหล่านี้จะสะท้อนเกิดเป็นสีหลากสี คล้ายกับสีที่เห็นจากคราบน้ำมันที่ลอยตัวบนผิวน้ำ

การเจียระไนควรตัดวัตถุดิบให้ขนานกับชั้นสนิมเหล็กนี้ ขัดผิวหน้าให้มัน และให้ชั้นสนิทเหล็กอยู่ตื่นมากที่สุด คาลซิโดนีที่แสดงลักษณะเช่นนี้เรียกว่า อะเกตประกายไฟ (fire agate) หรือโมราประกายไฟ

 

ข้อมูล ตลาดพลอย
ภาพประกอบ gemselect.com, generousgems.com, Jewel for Me, Pacifier.com, Geology.com, Gemsoul.com, Glitzy Stone, Ethan Lord Jewelers, Shay’s Jewelers

 

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

คุณสมบัติของแร่ที่เป็นอัญมณี - คุณสมบัติทางแสง

3/26/2552 | Posted in , , , , , , , , , , , , , , | Read More »

Celebrity Style to Steal – Emerald Envy

Angelina Jolie

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า Angelina Jolie เป็นผู้หญิงที่ดูดีที่สุดคนหนึ่งในงาน Academy Awards 2009 ที่จัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เธอสวยสง่าในชุดราตรีเกาะอกสีดำคัตติ้งเนี๊ยบของ Elie Saab และเลือกเครื่องประดับชิ้นเรียบๆอย่างต่างหูและแหวนคอกเทลมรกตจาก Lorraine Schwartz ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเครื่องประดับชิ้นที่ไม่ใหญ่โตมาก แต่ก็ดึงดูดสายตาได้เป็นอย่างดี ด้วยสีเขียวสดที่ตัดกับชุดราตรีเรียบๆสีดำของเธอ ทั้งนิตยสารและเวบไซต์แฟชั่นมากมายก็ต่างยกตำแหน่ง Best dress ให้ Angelina ในงานนี้

Green Headlight Ring by Kenneth Jay LaneNirvana Emerald Ring by Swarovski สไตล์การออกงานของเธอสามารถนำมาปรับใช้ได้อย่างง่ายดายโดยไม่จำเป็นต้องลงทุนหาซื้อเครื่องประดับมรกตแท้ เพียงแค่รู้จักเลือกหาสิ่งที่ใกล้เคียง ดูดี และเหมาะกับเรา อย่างเช่น แหวนคอกเทลประดับคริสตัลสวารอฟสกีสีเขียวมรกต จาก Kenneth Jay Lane, แหวนคริสตัลสีเขียวเจียระไนจาก Swarovski

 

Gerard Yosca Emerald Crystal Drop Earrings by Max & CholeGerard Yosca Emerald Crystal Bracelet by Max & Chole

จะเลือกเครื่องประดับเป็นเซ็ท จาก Max & Chole

Danielle Stevens Jewelry Pearl Bracelet by CoutureCandyหรือเลือกใส่สร้อยข้อมือชิ้นเดียวเพื่อโชว์ความโดดเด่นของพลอยสีเขียวเม็ดโตและเพิ่มความหรูหราอีกนิดด้วยไข่มุก จาก   CoutureCandy

 

ข้อมูลและภาพประกอบ Shopstyle

3/19/2552 | Posted in , , , , , , | Read More »

การเลือกซื้อพลอยทับทิม

ทับทิมที่ถือว่ามีสีแดงสวยงามมากที่สุดมาจากแหล่งในประเทศพม่า เรียกว่า “สีเลือดนกพิราบ” ซึ่งจะมีสีแดงสดบริสุทธิ์และมีสีน้ำเงินปนเล็กน้อย เป็นสีที่นิยมและเป็นที่ต้องการมาก สำหรับชนิดสีที่รองลงมาเป็นสีแดงอมม่วงมีความมืดพอสมควร และบางครั้งมีสีแดงอมดำซึ่งจะมาจากแหล่งในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตามทับทิมที่มีขายในตลาดปัจจุบันนี้ มาจากหลายแหล่ง เช่น แอฟริกาตะวันออก เวียดนาม ศรีลังกา ฯลฯ ซึ่งบางครั้งอาจมีสีที่ไม่สวยเท่าทับทิมจากแหล่งพม่า หรือไทย ทับทิมที่มีสีสวยงามคุณภาพสูง โปร่งใสจะมีราคาสูงพอๆ กับเพชรในระดับคุณภาพเดียวกันบางที่อาจจะแพงกว่าอีก ทับทิมคุณภาพสูง และมีขนาดน้ำหนักมากจะหาได้ยากมาก และแน่นอนว่าราคาก็จะยิ่งแพงมหาศาลเลยทีเดียว ซึ่งหลักเบื้องต้นในการพิจารณาเลือกซื้อทับทิมมีดังนี้

1. สี เป็นหลักสำคัญ เนื่องจากบุคคลแต่ละคนมีความนิยมชมชอบสีแตกต่างกันไป บ้างชอบสีเข้ม บ้างชอบสีอ่อน บ้างชอบสีสด บ้างชอบสีขรีม บ้างชอบสีหวาน เปรียบเหมือนกับการเลือกซื้อผ้าตัดเสื้อนั้นแหละ ขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละคน แต่สีของทับทิมที่จัดว่ามีราคาคุณค่าสูงก็คือ สีแดงบริสุทธิ์ หรืออาจจะเป็นสีแดงที่มีม่วงปนน้อยมาก และจะต้องเป็นสีแดงที่มีความเข้มสูงคือ แดงโชติช่วง ต้องไม่เป็นสีแดงคล้ำมองดูดำ ถ้าแดงมีส้มปนราคาจะตกลง และราคาจะตกลงไปอีกถ้ามีสีม่วงปนมาก ทับทิมสีที่ราคาถูกที่สุด คือแดงอมน้ำตาลหรือแดงดำคล้ำ โทนสีของทับทิมที่ดีคือสว่างปานกลาง หรือมืดปานกลาง ไม่ดำมืดหรือสว่างจนเกินไป และมีเข้มของสีแดงสูง ราคาจะลดลง ถ้าสีในทับทิมไม่สม่ำเสมอ
2. มลทิน ตำหนิ จะหาทับทิมที่ใสไร้มลทินเลยย่อมยาก ส่วนใหญ่แล้วจะมีรอยแตก ร่องรอยขุ่นมัว พร่า ฝ้า และมลทินแร่ชนิดอื่นๆ หรือมลทินของไหลพบอยู่เสมอ และอาจจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ถึงแม้ทับทิมที่มองดูใสไร้มลทินด้วยตาเปล่าเมื่อใช้แว่นขยาย 10 เท่าส่องดูก็จะมองเห็นมลทินเสมอ ทับทิมที่มีมลทินเล็กน้อยแต่สีสวยมากจะมีราคามากกว่าทับทิมที่ค่อนข้างใสแต่ไม่สวย
3. การเจียระไน มีความสำคัญต่อความสวยงามมาก หากเจียระไนโดยมีส่วนก้นพลอยลึกเกินไปจะทำให้ทับทิมดูมืดทึบ หากก้นพลอยตื้นเกินไปจะทำให้แสงรั่วออก หรือส่องผ่านก้นพลอยขึ้นมาทำให้ไม่มีน้ำไฟประกาย การเจียระไนที่ไม่ดีมีผลต่อสี ความแวววาว และราคาอีกด้วย นอกจากนี้ให้ดูฝีมือการเจียระไนด้วยว่า เรียบร้อยขนาดไหน เหลี่ยมคมชัดหรือไม่ นอกจากนี้การเจียระไนทับทิมให้มีสัดส่วนถูกต้อง ยังไม่เพียงพอที่จะดึงเอาความสวยงามออกมาให้เห็นเด่นชัด จุดใหญ่ที่จะต้องระวังก็คือ ให้มีการวางตัวของโต๊ะหน้าของพลอยให้ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้ได้พลอยสีสวยที่สุด ในทับทิมนั้นมีการหักเหของแสงสองทิศทางให้สีต่างกันคือ แดง - ม่วง และ แดง - ส้ม เนื่องจากสีแดงมีม่วงปนเล็กน้อยคือ สีที่ดีที่ต้องการที่สุด ดังนั้นจะต้องเจียระไนให้ทางด้านหน้าของทับทิมให้สี แดง - ม่วง ปรากฏ ส่วนสีแดง - ส้มจะปรากฏในทิศทางด้านข้างซึ่งมองไม่เห็น ถ้าทับทิมสีสวย มลทินน้อย ขนาดใหญ่ แต่การเจียระไนไม่ดีก็ควรจะยอมเสียน้ำหนักเจียระไนใหม่ เพราะถึงจะได้ทับทิมเม็ดขนาดเล็กลง แต่ก็จะได้ราคาดีกว่าเม็ดใหญ่ซึ่งไม่สวย จำไว้ว่าความงดงามของทับทิมจะไม่ปรากฏให้เห็นหาก ไม่มีการเจียระไนที่ดี

การเลือกซื้อพลอยทับทิมเหลี่ยมเจียระไนruby

1. เลือกทับทิมที่มีสีแดงจัดสดใส สีไม่คล้ำมืด หรือหลายๆ ท่านอาจจะเลือกทับทิมสีชมพูหวานใสก็ย่อมได้เช่นกัน
2. ใช้กล้องขยายขนาดกำลัง 10 เท่าส่องดูเนื้อพลอย เนื้อพลอยที่มีคุณภาพดีนั้นไม่ควรมีริ้วรอยแตกร้าว เพราะจะทำให้เสียคุณค่า ความงาม และความคงทนในการใช้สอย
3. เนื้อพลอยควรใส ไม่ขุ่นทึบ มีความฉ่ำวาวเหมือนมีน้ำอยู่ภายใน ซึ่งจะทำให้ดูมีประกายสดใสสวยงาม
4. เม็ดพลอยทับทิมควรมีสัดส่วนที่เหมาะสม ได้สัดส่วนทั้งหน้าพลอยและก้นพลอย ก้นพลอยต้องไม่ลึกหรือตื้นจนเกินไป
5. พลอยจะงดงามได้ต้องมีการเจียระไนที่ดีด้วย เพราะพลอยเหลี่ยมเจียระไนทั้งเม็ด เมื่อเจียระไนได้สัดส่วน มีความประณีตละเอียด ก็ย่อมจะสะท้อนแสงไปมาได้ระยิบระยับสวยงามมาก
พลอยที่มีเนื้องามใส ถ้าได้รับการเจียระไนหยาบไม่ได้สัดส่วนที่ประณีต จะเห็นได้ชัดว่าด้อยความงามอย่างน่าเสียดาย ฝีมือของช่างเจียระไนจึงเป็นเรื่องสำคัญมากเช่นกัน

การเลือกซื้อพลอยทับทิมเจียระไนแบบหลังเบี้ย (หลังเต่า)ภาพจาก ebay.com

1. การเลือกสีพลอย ใช้หลักเกณฑ์เดียวกับการเลือกทับทิมเหลี่ยมเจียระไน และมีสีแดงสม่ำเสมอทั่วทั้งเม็ด
2. เนื้อพลอยควรเรียบงามทั้งเม็ด ไม่มีริ้วรอยแตกร้าว
3. ใช้ไฟฉายขนาดเล็กมากๆ ส่องย้อนเข้าไปใต้ก้นพลอยจะเห็นความโปร่งใสของเนื้อพลอย ถ้ามีริ้วรอยแตกก็จะเห็นได้ชัดเจนอีกด้วย
ถ้าแสงจากไฟฉายลอดเข้าไปในเนื้อพลอยได้มาก ก็แสดงว่าพลอยเม็ดนั้นมีเนื้อที่ค่อนข้างโปร่งใส ซึ่งเมื่อนำมาทำเครื่องประดับก็จะดูฉ่ำนวลงดงาม ยิ่งใสมากเท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น 4. รูปทรงของเม็ดพลอย ควรโค้งนูนงามได้สัดส่วน ไม่แบนราบจนเกินไป เพราะเมื่อนำไปขึ้นตัวเรือนจะไม่สวยเท่าที่ควร

เนื้อพลอยทับทิมที่เจียระไนแบบหลังเบี้ยหรือหลังเต่านี้นิยมกันอยู่หลายลักษณะ ได้แก่
เนื้อแก้ว เนื้อพลอยจะวาวงามใสคล้ายแก้ว
เนื้อแพร เนื้อพลอยจะมีความขุ่นหรือซึมมากกว่าเนื้อแก้ว (ราคาถูกกว่าเนื้อแก้ว)
เนื้อเทียน เนื้อพลอยจะขุ่นทึบมากกว่าเนื้อแพร แต่ยังดูมีประกายวาวแววอยู่ในเนื้อพลอยบ้าง (เนื้อเทียนราคาถูกกว่าเนื้อแพร)
ส่วนเนื้อพลอยทับทิมที่ทึบมากจนแสงส่องไม่ทะลุนั้น ความงดงามย่อมจะสู้พลอยเนื้อแก้ว หรือเนื้อแพรไม่ได้ (เนื้อทึบราคาถูกที่สุด)
ถ้าต้องพิจารณาดูเนื้อพลอยอย่างปัจจุบันทันด่วน และหาไฟฉายส่องดูเนื้อพลอยไม่ได้ วิธีง่ายๆ คือ หยิบพลอยเม็ดนั้นขึ้นส่องดูกับแสงแดดก็ได้ผลดีใกล้เคียงกับไฟฉายเช่นกัน

ธรรมชาติของพลอยทับทิมนั้น มักจะมีตำหนิริ้วรอยในเนื้อเป็นส่วนใหญ่เช่นเดียวกับมรกต โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลอยทับทิมพม่า แทบจะหาเนื้อพลอยที่สะอาดได้ยากเหลือเกิน ดังนั้นกฎเกณฑ์นี้จึงอาจต้องอะลุ้มอล่วยบ้าง โดยพิจารณาดูว่า เนื้อพลอยภายในนั้นอาจมีรอยตำหนิได้บ้าง แต่ไม่ใช่แตกร้าวเป็นแนวยาว หรือแตกร้าวจนขึ้นมาถึงหน้าพลอย เพราะต่อไปเมื่อใช้สอยไปนานๆ เนื้อพลอยอาจแตกร้าวมากขึ้น จนแตกหลุดออกไปในที่สุด

การเลือกซื้อทับทิมกินบ่เซี่ยงภาพจาก sanook shopping

ทับทิมกินบ่เซี่ยง เป็นความเชื่อของชาวไทยทางภาคเหนือว่า ใครมีไว้ในครอบครองก็จะโชคดี เพราะชื่อมีความหมายที่ดีว่ากินไม่หมด การเลือกทับทิมกินบ่เซี่ยงนั้น อาศัยหลักเกณฑ์เดียวกับการเลือกทับทิมเจียระไนแบบหลังเบี้ย ส่วนสีพลอยของกินบ่เซี่ยงจะมีความสำคัญอยู่ที่สีขาวและสีแดงในเนื้อทับทิมเม็ดเดียวกันนั้น ส่วนใหญ่พลอยกินบ่เซี่ยงเม็ดเดียวจะมีสีขาวเป็นพื้นและมีสีแดงประปราย หรือกระจายไปทั่วอย่างงดงาม หรือมีสีแดงเป็นพื้นและมีสีขาวอยู่ประปราย หรืออาจมีสีแดงอยู่ด้านหนึ่ง และมีสีขาวอีกด้านหนึ่ง แบ่งแยกกันไปอย่างเห็นได้ชัด และส่วนใหญ่พลอยทับทิมกินบ่เซี่ยงมักจะมีสตาร์อยู่บนหน้าพลอยด้วย

การเลือกซื้อทับทิมหลังเบี้ยมีสตาร์ภาพจาก Palagems.com

ทับทิมหลังเบี้ยมีสตาร์ หรือรูปดาว 6 แฉกอยู่บนหน้าพลอยนั้น เป็นที่นิยมมากอีกเช่นกัน หัวใจความงามของทับทิมสตาร์นี้อยู่ที่ขาของสตาร์ทั้ง 6 ขา ขาต้องคมชัดยาวจรดขอบข้างของหน้าพลอย และขาทั้ง 6 ต้องมีจุดตัดกันอยู่ตรงกลางหน้าพลอยพอดี เมื่อต้องกับแสงไฟขาทั้ง 6 ก็จะสะท้อนเหลือบกลิ้งไปมาได้อย่างสวยงามมาก

นอกจากนี้ยังมีทับทิมบางเม็ดที่มีสีขาวล้วน เรียกกันว่า ทับทิมขาว การเลือกซื้อใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับทับทิมหลังเบี้ยและทับทิมหลังเบี้ยสตาร์ ส่วนสีของทับทิมขาวนั้นควรจะขาวนวลงามสมชื่อ

 

ข้อควรระวังในการเลือกซื้อ

1. อย่าดูสีของทับทิมภายใต้ไฟสีเหลืองหรือไฟจากหลอดมีไส้ (incandescent light) เพราะจะทำให้พลอยดูสีแดงสวย ให้ใช้แสงธรรมชาติหรือแสงผสมระหว่างไฟนีออนและไฟเหลือง
2. ไม่ต้องสนใจว่าเป็นทับทิมจากแหล่งไหนให้เลือกสีที่ถูกใจ มีโทนสีปานกลางไม่เข้มหรืออ่อนเกินไป ไม่ดำคล้ำมืดเกินไป และให้มองดูแล้วมีน้ำ มีความสุกใส ประกาย
3. เวลาซื้อให้ระวังข้อผิดพลาดเกี่ยวกับการเลือกซื้อผิดชนิด เพราะอาจเข้าใจผิดถูกหลอกขายโกเมนสปิเนลแดง ทัวร์มาลีนแดง ในนามของทับทิมได้เพราะพลอยเหล่านี้ ถ้ามีการเจียระไนที่ดี จะมีลักษณะคล้ายทับทิมคุณภาพปานกลาง
4. ให้ระวังทับทิมสังเคราะห์หากทับทิมนั้นใสสะอาดมากจนผิดสังเกต ให้ผู้ชำนาญตรวจสอบให้ก่อนตัดสินใจซื้อ รวมทั้งให้ระวังทับทิมประกบด้วย
5. อย่าคิดเอาเองว่าทับทิมที่อยู่ในตัวเรือนที่สวยงามจะต้องเป็นของแท้เสมอไป ให้ตรวจสอบให้รอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อ นอกจากนี้ยังมีทับทิมสาแหรกซื้อขายกันในตลาดด้วย การเลือกซื้อให้สังเกตดูสีเช่นเดียวกับทับทิมธรรมดา และให้ดูว่าความสมบูรณ์ของขาดาวมีครบ มีความแหลมคมวางอยู่กลางพลอย และมีการกลิ้งไปมาของดาวอย่างงดงามหรือไม่ ทับทิมสาแหรกจะไม่โปร่งใสเหมือนทับทิมที่เจียระไนแบบเหลี่ยม เพราะมีมลทินคล้ายเข็มอยู่มากมาย ซึ่งเรียกว่า "ไหม" ไหมจะทำให้ทับทิมมีสีเทาเพิ่มขึ้น และสว่างขึ้น นอกจากนี้ ให้สนใจส่วนสัดของการเจียระไน เป็นกรณีพิเศษ ในการเลือกซื้อทับทิมสาแหรก เนื่องจากทับทิมสาแหรกมักจะมีการเจียระไนให้ก้นพลอยมีความหนามากเพื่อรักษาน้ำหนัก ทำให้ไม่ได้ประโยชน์เพราะไม่ได้เพิ่มความสวยงามขึ้นมาเลย ทับทิมสาแหรกที่โปร่งใส และมีขาดาวเด่นชัดสวยงาม จะมีราคาดีกว่าทับทิมที่มีความมัวหมอง และให้ระวังทับทิมสาแหรกสังเคราะห์ด้วย สังเกตได้ง่ายคือ ขาของดาวจะคมชัดเกินความจำเป็น ลักษณะของดาว ดูเหมือนลอยขึ้นมาจากเนื้อพลอย

 

ข้อมูล ไอยราเจมส์
ภาพประกอบ ebay.com, Palagems.com, Sanook Shopping

3/18/2552 | Posted in , , , , | Read More »

คุณสมบัติของแร่ที่เป็นอัญมณี - คุณสมบัติทางแสง

โดย ผศ.ดร. กาญจนา   ชูครุวงศ์

คุณสมบัติประการสุดท้ายที่ใช้ในการการจำแนกชนิดของอัญมณีก็คือ คุณสมบัติทางแสง (Obtical properties)

คุณสมบัติทางแสง (Optical properties)

เมื่อแสงเดินทางผ่านเข้าสู่ตัวกลางที่แตกต่างกันสองชนิด เช่น อากาศและอัญมณี จะเกิดปรากฏการณ์ขึ้น 3 ลักษณะ ได้แก่
1)แสงบางส่วนจะสะท้อนกลับหรือถูกส่งกลับจากผิวของอัญมณีนั้นไปสู่อากาศ
2)แสงบางส่วนผ่านเข้าไปในเนื้อของอัญมณีแล้วเกิดการหักเหของแสงขึ้น และ
3)อัญมณีนั้นจะดูดกลืนแสงบางส่วนไว้
ลักษณะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นพร้อมๆกันทั้ง 3 ลักษณะ อาจมีลักษณะหนึ่งแสดงให้เห็นได้เด่นชัดมากกว่าลักษณะอื่นๆ ขึ้นอยู่กับลักษณะตามธรรมชาติ และชนิดของอัญมณีที่แสงมีปฏิกิริยาด้วย เช่น ในโลหะชนิดต่างๆ ที่เป็นวัตถุทึบแสง ลักษณะที่เกิดขึ้นเด่นชัดกว่าลักษณะอื่นๆ คือการดูดกลืนแสง ในขณะเดียวกันก็มีลักษณะของการสะท้อนแสงให้เห็นด้วย ส่วนการหักเหของแสงโดยปกติแล้วจะมองไม่เห็นเลย ในทางกลับกันอัญมณีชนิดต่างๆ ที่เป็นวัตถุโปร่งใสหรือโปร่งแสง ลักษณะการหักเหของแสงจะแสดงให้เห็นได้เด่นชัดกว่าลักษณะอื่น โดยที่มีลักษณะการสะท้อนของแสงและการดูดกลืนของแสง อาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะและชนิดของอัญมณี จากลักษณะปรากฏการณ์ทั้งสามที่กล่าวมาจะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิด สี ความวาว การกระจายแสง การเรืองแสง การเล่นสีประกายแวว ประกายเหลือบรุ้ง และอื่นๆ อีกมากมาย คุณสมบัติทางแสงต่างๆ ได้แก่

ภาพจาก Khulsey.com 

สี (Color)  สีต่างๆ ของอัญมณีชนิดใดๆ เป็นผลเนื่องมาจากลักษณะธรรมชาติของแสงกับอัญมณีนั้นๆ โดยตรง คือจะมองเห็นสีได้ก็ต่อเมื่อมีแสง แสงที่มองเห็นได้ประกอบขึ้นด้วยแสงสีที่เด่น 7 ส่วน หรือที่เรารู้จักกันดีว่า “สีรุ้ง” ในแต่ละส่วนจะมีสีที่แตกต่างกัน ประกอบด้วยสี ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลืองแสด แดง การผสมผสานคลื่นแสงที่มองเห็นได้นี้จะก่อให้เกิดเป็นแสงสีขาว คือ แสงอาทิตย์ เมื่อแสงที่มองเห็นได้นี้ส่องผ่านเข้าไปในอัญมณี ก็จะทำให้อัญมณีนั้นมองดูมีสีขึ้นเนื่องจากอัญมณีนั้นได้ดูดกลืนคลื่นแสงบางส่วนเอาไว้ และคลื่นแสงส่วนที่เหลืออยู่ถูกส่งผ่านออกมาเข้าสู่ตาของเรา มองเห็นเป็นสีจากส่วนของคลื่นแสงที่เหลือนั่นเอง จะมองไม่เห็นเป็นสีขาวอีก เช่น ทับทิมมีสีแดง เนื่องจากทับทิมได้ดูดกลืนคลื่นแสงในช่วงสีน้ำเงิน เหลือง และ เขียว เอาไว้ คงเหลือแต่ส่วนที่มีสีแดงให้เรามองเห็น ในอัญมณีบางชนิดคลื่นแสงที่มองเห็นได้นี้จะส่องผ่านทะลุออกไปหมดโดยไม่ได้ถูกกลืนคลื่นแสงช่วงใดๆ เอาไว้เลย อัญมณีนั้นก็จะดูไม่มีสีแต่ถ้าคลื่นแสงถูกดูดกลืนไว้ทั้งหมด อัญมณีนั้นก็จะดูมีสีดำ หรือถ้าคลื่นแสงทั้งหมดถูกดูดกลืนเอาไว้ในสัดส่วนที่เท่าๆกัน อัญมณีก็จะดูมีสีเทาหรือขาวด้านๆ


ภาพจาก Khulsey.com


สีต่างๆ ของอัญมณีนานาชนิดมีกระบวนการหลายอย่างที่ก่อให้เกิดสี สีบางสีอาจเกิดจากองค์-ประกอบสำคัญทางเคมีและทางกายภาพของอัญมณีชนิดนั้นๆ สีบางสีอาจเกิดจากมลทินทางเคมีภายนอกอื่นๆ หรือจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในอัญมณี หรือตำหนิมลทินต่างๆภายในเนื้อ เป็นต้น ส่วนใหญ่แล้วสีของอัญมณีมักจะเกิดจากมลทินทางเคมีภายนอกอื่นๆที่เข้าไปอยู่ภายในเนื้อของอัญมณี เช่น เบริล (Beryl) บริสุทธิ์จะไม่มีสี แต่ถ้ามีมลทินของธาตุโครเมียมหรือวาเนเดียมเพียงเล็กน้อย ก็จะทำให้เกิดเป็นสีเขียว เรียก มรกต (Emerald) หรือมีมลทินของธาตุเหล็ก ก็จะทำให้เกิดเป็นสีฟ้าอมเขียวหรือน้ำเงินอมเขียว เรียก อะความารีน (Aquamarine) คอรันดัมบริสุทธิ์ก็จะไม่มีสีเช่นกัน แต่ถ้ามีสีแดงก็เป็นทับทิม เนื่องจากมีมลทินธาตุโครเมียมเพียงเล็กน้อย หรือถ้ามีสีน้ำเงินก็เป็นไพลิน เนื่องจากมีมลทินธาตุไทเทเนียมและธาตุเหล็ก ดังนั้นมลทินธาตุหลายๆ ชนิดจึงก่อให้เกิดสีต่างๆ ได้ในอัญมณีชนิดต่างๆ

สำหรับการดูดกลืนแสงของอัญมณีชนิดต่างๆ นั้น อาจมีได้ไม่เท่ากันและอาจเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะธรรมชาติและความหนาของอัญมณีนั้นๆ อัญมณีชนิดหนึ่งๆ ถึงแม้จะมีการเจียระไนจนมีความบางมากแล้ว แต่ก็ยังคงดูดกลืนแสงไว้หมดโดยไม่ให้ส่องทะลุผ่านได้เลยจะเรียกว่า ทึบแสง (Opaque) ส่วนอัญมณีชนิดที่ยอมให้แสงส่องทะลุผ่านไปได้หมดแม้ว่าจะมีความหนามากจะเรียกว่า โปร่งใส (Transparent)  ส่วนอัญมณีที่ดูดกลืนแสงในระหว่างลักษณะสองแบบที่กล่าวมาและยอมให้แสงส่องผ่านได้บ้างมากน้อยแตกต่างกันไปในอัญมณีแต่ละชนิด จะเรียกว่า โปร่งแสง (Translucent)  ดังนั้น ช่างเจียระไนจึงอาจยึดหลักนี้ไว้เป็นประโยชน์ในการพิจารณาตัดและเจียระไนอัญมณีชนิดต่างๆ ด้วย อัญมณีที่มีสีอ่อนจึงมักจะตัดและเจียระไนให้มีความหนาหรือความลึกมากหรือมักจะมีการจัดหน้าเหลี่ยมเจียระไนต่างๆ ที่ทำให้แสงมีระยะถูกดูดกลืนมากขึ้น จะทำให้ดูมีสีเข้ามากขึ้นตามไปด้วย ในทางกลับกันอัญมณีที่มีสีเข้มดำหรือมีสีค่อนข้างมืด มักจะตัดและเจียระไนให้มีความบางหรือตื้นมาก เช่น โกเมนชนิดแอลมันไดต์ ซึ่งมีสีแดงเข้มอมดำ มักจะตัดบางหรือคว้านให้เป็นโพรงอยู่ภายในเนื้อ ไพลินจากบางแหล่งที่มีสีเข้มออกดำมักจะเจียระไนเป็นรูปแบบที่บางกว่าปกติ เป็นต้น

ส่วนใหญ่แล้ว ความเข้มและความสดสวยของสี จะมีความสัมพันธ์โดยตรงควบคู่ไปกับคุณค่าและราคาที่สูง นอกจากนี้ แสงที่ใช้ในการมองดูอัญมณีก็มีความสำคัญและมีผลต่อความสวยงามของสีเช่นกัน แสงอาทิตย์ในเงาร่มหรือแสงแดดอ่อน มีความเหมาะสมมากในการมองดูสีของอัญมณี แสงจากแสงเทียนหรือแสงจากหลอดมีไส้ จะมองดูสีน้ำเงินของไพลินได้ไม่สดสวย แต่จะมองดูมรกตและทับทิมมีสีสวยสด ดังนั้น แสงที่ใช้ส่องมองดูอัญมณีที่ดีและเหมาะสมควรจะมีส่วนผสมที่สมดุลกันระหว่างแสงจากหลอดมีไส้และแสงจากหลอดไฟฟลูออเรสเซนซ์

อัญมณีบางชนิดอาจจะแสดงการเปลี่ยนสีได้ เมื่อมองดูด้วยแสงต่างชนิดกันหรือมีช่วงคลื่นของแสงที่ต่างกัน เช่น เจ้าสามสี จะมองดูมีสีเขียวหรือน้ำเงินในแสงแดดหรือแสงไฟฟลูออเรสเซนซ์และมีสีแดงหรือม่วงในแสงเทียนหรือแสงจากหลอดมีไส้ อัญมณีบางชนิดมีการแสดงลักษณะสีที่แตกต่างกัน หรือสีที่มีความเข้ม-อ่อนต่างกันเมื่อมองดูในทิศทางที่ต่างกัน ทั้งนี้เนื่องจากความแตกต่างในลักษณะของการดูดกลืนแสงในทิศทางต่างกันของอัญมณีนั้นๆ ลักษณะปรากฏนี้เรียกว่า สีแฝด ซึ่งอาจจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือมองเห็นได้ง่ายมากด้วย "ไดโครสโคป" (Dichroscpoe)

ภาพจาก Gram Faceting

ภาพ Dichroscope จาก Gram Faceting


อัญมณีหลายชนิดที่แสดงสี แฝดได้ 2 สีต่างกันเรียกว่า มีสีแฝด 2 สี (Dichroic) เช่น ทับทิม ไพลิน คอร์เดียไรนต์ ฯลฯ และ
อัญมณีที่แสดงสีแฝดได้ 3 สีต่างกันเรียกว่ามีสีแฝด 3 สี (Trichroic) เช่น แทนซาไนต์ แอนดาลูไซต์ ฯลฯ

ภาพจาก Gram Faceting ภาพจาก Gram Faceting ภาพจาก Gram Faceting

ภาพ Green Tourmaline ที่แสดงคุณสมบัติ Dichroic คือ เมื่อมองตามแนวแกน c (c รูปที่ 2) จะเห็นสีเขียวอมเหลือง และตามแนวแกน a/b (รูปที่ 3) จะเห็นสีเขียวอมฟ้า
ภาพจาก Gram Faceting


อัญมณีที่มีสีแฝดเมื่อเจียระไนแล้ว อาจจะแสดงเพียงสีเดียวหรือมากกว่า 1 สีนั้น ขึ้นอยู่กับการจัดทิศทาง การวางตัวของเหลี่ยมหน้ากระดานของอัญมณีที่จะแสดงให้เห็นสีนั้นๆ นอกจากนี้ ยังมีอัญมณีบางชนิดที่อาจมีสีหรือแสดงสีได้หลายสีแม้เป็นผลึกเดี่ยวและมองดูในทิศทางเดียว เช่น โอปอ ทัวร์มาลีน ลักษณะเช่นนี้เป็นลักษณะตามธรรมชาติของรูปแบบของแร่หรือของผลึกชนิดนั้น ไม่ใช่สีแฝด

สีเป็นลักษณะที่มองเห็นได้ง่ายชัดเจนเป็นสิ่งสะดุดตาและดึงดูดสายตามากที่สุดในเรื่องของอัญมณี และเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมาก ในการพิจารณาถึงคุณค่าและราคาของอัญมณี สีอาจทำให้เกิดความแตกต่างของราคาได้มากจากตั้งแต่ 250-250,000 บาทต่อกะรัตในอัญมณีชนิดเดียวกันแต่มีสีสวยงามแตกต่างกันมาก โดยทั่วไปแล้วสีจะไม่ถือว่าเป็นคุณสมบัติลักษณะสำคัญที่ช่วยในการตรวจจำแนกชนิดอัญมณี เพราะมีอัญมณีต่างชนิดกันแต่มีสีเหมือนกันได้และก็มีอัญมณีชนิดเดียวกันที่สามารถเกิดขึ้นได้หลายสี นอกจากนี้ชื่อลักษณะของสีก็เป็นที่นิยมใช้กับอัญมณีบางชนิดมานานแล้ว เช่น สีเลือดนกพิราบใช้กับทับทิม สีแสดใช้กับแพดพาแรดชา (Padparadcha) สีเหลืองนกขมิ้นและสีแชมเปญใช้กับเพชร เป็นต้น ชื่อลักษณะสีเหล่านี้ในบางครั้งจะกำกวมไม่ชัดเจน ให้ความหมายของสีไม่ตรงกับความจริงหรือเป็นลักษณะสีที่ไม่มีความแน่นอน แม้ว่าจะมีความบกพร่องดังกล่าวชื่อสีเหล่านี้ก็ยังเป็นที่นิยมใช้กันอยู่โดยทั่วไปในตลาดอัญมณี อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้ได้มีการประดิษฐ์เครื่องมือที่สามารถวัดหาชนิดและเรียกชื่อของสีของอัญมณีต่างๆ ได้อย่างเที่ยงตรงแม่นยำมากขึ้น เครื่องมือนี้มีขายทั่วไปในตลาดอัญมณี  อาจเป็นวิวัฒนาการใหม่ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของโลกก็ได้

ค่าดัชนีหักเหของแสง (Refractive index) เมื่อมีแสงส่องผ่านเข้าไปในอัญมณีใดๆ แล้วแสงส่วนหนึ่งจะมีความเร็วลดลงและอาจจะถูกบังคับให้เปลี่ยนทิศทางหรือเกิดการหักเหแสงขึ้น ซึ่งแล้วแต่คุณสมบัติของผลึก ระดับความเร็วของแสงที่ลดลงในอัญมณีนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับความเร็วของแสงในอากาศจะเรียกว่า ค่าดัชนีหักเหแสงของอัญมณี  คือเป็นอัตราส่วนระหว่างค่าความเร็วของแสงในอากาศกับค่าความเร็วของแสงในอัญมณี เช่น ค่าความเร็วของแสงในอากาศเท่ากับ 300,000 กิโลเมตรต่อวินาที และค่าความเร็วของแสงในเพชรเท่ากับ 125,000 กิโลเมตรต่อวินาที ดังนั้นค่าดัชนีหักเหแสงของเพชรจะเท่ากับ 2.4 หรือหมายถึง ความเร็วของแสงในอากาศมีความเร็วเป็น 2.4 เท่าของความเร็วของแสงในเพชร อัญมณีที่มีค่าดัชนีหักเหสูงมากเท่าใด ความเร็วของแสงในอัญมณีนั้นๆ จะลดลงมากตามไปด้วย ค่าดัชนีหักเหของแสงของอัญมณีจะเป็นค่าที่คงที่ อัญมณีแต่ละชนิดจะมีค่าดัชนีหักเหที่แตกต่างกัน อาจมีเพียงค่าเดียว สองค่า หรือ สามค่า ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของผลึกและทิศทางที่แสงผ่านเข้าไป ส่วนใหญ่จะมีค่าอยู่ระหว่าง 1.2 และ 2.6 ดังนั้นจึงสามารถนำไปช่วยในการตรวจจำแนกชนิดของอัญมณีได้ เครื่องมือสำหรับใช้ในการวัดหาค่าดัชนีหักเหแสงของอัญมณีได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำเรียกว่า เครื่องรีแฟรกโตมิเตอร์ (Refractometer) แต่เครื่องมือนี้มีขีดจำกัดอยู่ที่สามารถวัดหาค่าได้สูงสุดเพียง 1.86 เท่านั้น และจะต้องใช้กับอัญมณีที่เจียระไนแล้วหรือพวกที่มีผิวหน้าเรียบด้วย บางครั้งสามารถประมาณค่าได้ในอัญมณีที่เจียระไนแบบโค้งมนหลังเบี้ยหรือหลังเต่า และในบางครั้งค่าดัชนีหักเหแสงของอัญมณีที่เจียระไนแล้ว อาจประมาณได้จากประกายวาวหรือความสว่างสดใส หรือรูปแบบของการเจียระไน

ภาพจาก Khulsey.com การกระจายแสงสี (Dispersion or fire) แสงสีขาวที่มองเห็นได้ในธรรมชาติจะเป็นแสงที่เกิดจากการผสมผสานของคลื่นแสงต่างๆ ในแต่ละคลื่นแสงก็จะมีค่าดัชนีหักเหของแสงเฉพาะตัวเมื่อมีลำแสงสีขาวส่องผ่านเข้าไปในอัญมณี แสงนี้จะเกิดการหักเหเป็นมุมที่แตกต่างกัน และแยกออกเป็นลำแสงหลากหลายสี แล้วสะท้อนออกทำให้เห็นเป็นสีต่างๆ สีที่มองเห็นจะเป็นลำดับชุดของสีรุ้ง เช่นเดียวกับลักษณะของการเกิดรุ้งกินน้ำลักษณะปรากฏการณ์เช่นนี้ เรียกว่า การกระจายแสงสี  หรือ ไฟ ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายมากในอัญมณีที่มีค่าดัชนีหักเหของแสงสูง มีความโปร่งใสและไม่มีสี
ระดับความมากน้อยของการกระจายแสงสีจะแตกต่างกันไปในแต่ละชนิดของอัญมณี เนื่องจากมีค่าดัชนีหักเหแสงที่แตกต่างกันนั่นเอง ดังนั้น การกระจายแสงสีจึงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ที่อาจช่วยในการตรวจจำแนกชนิดอัญมณีได้  นอกจากนี้ยังมีความสำคัญต่อความสวยงามของอัญมณีหลายๆ ชนิด โดยเฉพาะในชนิดที่โปร่งใสแต่ไม่มีสีสวยที่จะดึงดูดใจ เช่น การกระจายแสงสีของเพชรซึ่งทำให้เพชรเหมือนมีสีสันหลากหลายสวยงามกระจายทั่วไปในเนื้อหรือ เรียกว่า ประกายไฟ  ในอัญมณีที่มีสีก็สามารถมองเห็นการกระจายแสงสีได้เช่นกัน เช่นในโกเมนสีเขียวชนิดดีมันทอยด์ (Demantoid) และสฟีน (Sphene) การกระจายแสงสีของอัญมณีชนิดหนึ่งๆ อาจสามารถทำให้มองเห็นสวยงามมากขึ้นได้โดยการเจียระไนที่ได้สัดส่วนถูกต้อง โดยพื้นฐานทั่วไปแล้วถ้าคลื่นแสงมีการแบ่งแยกออกได้ชัดเจนมากเท่าใดการกระจายแสงสีก็จะมีมากเพิ่มขึ้นเท่านั้น พร้อมกับจะให้สีที่มีความเข้มสวยมากเช่นกัน

ความวาว (Luster)  ความวาวของอัญมณีชนิดหนึ่งๆเป็นผลมาจากคุณสมบัติทางแสงของอัญมณีซึ่งเกิดจากการสะท้อนของแสงจากผิวนอกของอัญมณีนั้นๆ ความวาวจะขึ้นอยู่กับค่าดัชนีหักเห และลักษณะสภาพของผิวเนื้อแร่ ไม่เกี่ยวข้องกับสีของอัญมณีเลย ถ้าอัญมณีนั้นมีค่าดัชนีหักเหแสงและมีความแข็งมากเท่าใด ก็จะยิ่งแสดงความวาวมากขึ้นเท่านั้นลักษณะธรรมชาติ สภาพผิวเนื้อแร่ที่ขรุขระไม่เรียบก็จะมีผลทางลบต่อความวาวของอัญมณีที่ยังไม่เจียระไน ในขณะที่อัญมณีที่เจียระไนแล้ว การขัดมันผิวเนื้อแร่จะมีผลดีต่อความวาว ความวาวของอัญมณีที่มีความสวยงามเป็นที่ต้องการมากคือความวาวเหมือนเพชร ส่วนความวาวที่พบเห็นได้ในอัญมณีทั่วไป ได้แก่ ความวาวเหมือนแก้ว (Vitreous)  ส่วนความวาวที่พบได้ยากในอัญมณี ได้แก่ความวาวเหมือนโลหะ (Metallic) เหมือนมุก (Pearly) เหมือนยางสน (Resinous)  เหมือนน้ำมัน (Oily) เหมือนเทียนไขหรือขี้ผึ้ง (Waxy) เป็นต้น แต่สำหรับอัญมณีที่ไม่แสดงความวาวเลยจะเรียกว่า ผิวด้าน (Dull)

ภาพจาก about.com

Resinous Luster

ภาพจาก about.com

Dull or Earthy Luster

ภาพจาก about.com 

Vitreous Luster

ภาพจาก about.com

Metallic Luster

ภาพจาก about.com

Pearly Luster

ภาพจาก about.com

Waxy Luster


ประกายวาว (Brilliancy)  ประกายวาวของอัญมณีชนิดหนึ่งๆ เกิดจากการที่มีแสงสะท้อนออกมาจากภายในตัวอัญมณีเข้าสู่ตาของผู้มองอัญมณีที่เจียระไนได้เหลี่ยมมุมที่ต้องการทำให้แสงที่ส่องผ่านเข้าไปในอัญมณีนั้น เกิดการสะท้อนอยู่ภายในหน้าเหลี่ยมต่างๆ และสะท้อนกลับออกมาเข้าสู่ตาของผู้มองเป็นประกายวาวของสีของอัญมณีนั้น การเกิดลักษณะแบบนี้ได้เนื่องจากลักษณะการสะท้อนกลับหมดของแสงนั่นเอง ดังนั้นรูปแบบของการเจียระไนและเหลี่ยมมุมที่หน้าเหลี่ยมต่างๆ ทำมุมกัน จึงมีความสำคัญมากในการเกิดประกายวาว ถ้าเหลี่ยมมุมต่างๆ ไม่เหมาะสมพอดีกับค่าดัชนีของการหักเหแสงของอัญมณี แสงที่ส่องผ่านเข้าไปก็จะไม่สะท้อนกลับออกมาสู่ตาผู้มอง แสงอาจจะส่องทะลุผ่านออกไปทางด้านล่างหรือสะท้อนเบี่ยงเบนออกไปทางด้านข้าง มีผลทำให้อัญมณีนั้นดูไม่สว่างสดใส หรือไร้ประกาย

ภาพจาก about.com การเรืองแสง (Fluorescence and Phosphorescence)  การที่อัญมณีมีการเปล่งแสงหรือแสดงความสว่างที่มองเห็นได้ออกจากตัวเองภายใต้การฉายส่องหรืออิทธิพลของแสง หรือรังสีบางชนิด หรือจากอิทธิพลของปฏิกิริยาทางกายภาพหรือทางเคมีบางอย่าง ปรากฏการณ์การเรืองแสงที่ถือว่ามีความสำคัญและมีประโยชน์ใช้ในการตรวจสอบอัญมณีได้คือ การเรืองแสงของอัญมณีภายใต้รังสีอัลตราไวโอเลตซึ่งเรียกว่า การเรืองแสงปกติ (Fluorescence)  การเรืองแสงแบบนี้ หมายถึง การที่อัญมณีมีการเรืองแสงที่มองเห็นได้ภายใต้การฉายส่องรังสีอัลตราไวโอเลตและจะหยุดทันทีที่ไม่มีการฉายรังสีอัลตราไวโอเลตกระทบกับอัญมณีนั้นๆ แต่อัญมณีใดที่ ยังเรืองแสงอยู่อย่างต่อเนื่องไปอีกชั่วขณะหนึ่งถึงแม้ว่าจะหยุดการฉายส่องรังสีอัลตราไวโอเลตแล้ว ลักษณะการเรืองแสงแบบนี้เรียกว่า  การเรืองแสงค้าง (Phosphorescence)  โดยทั่วไปแล้วจะมีเพียงอัญมณีพวกที่แสดงการเรืองแสงปกติเท่านั้น ที่จะแสดงการเรืองแสงค้างได้ และมีจำนวนไม่น้อยที่แสดงทั้งการเรืองแสงปกติและการเรืองแสงค้าง

สาเหตุของการเรืองแสงในอัญมณีนั้นเป็นผลมาจากความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสภาวะของการถูกกระตุ้นโดยแสงอัลตราไวโอเลต ภายในระดับอะตอมของธาตุต่างๆ ที่มีผลต่อการเกิดสีของอัญมณีนั้นๆ ด้วยเหตุที่อัญมณีชนิดต่างๆ มีมลทินธาตุต่างๆ แตกต่างกันไป ดังนั้น การเรืองแสงจะไม่เกิดขึ้นในอัญมณีทุกชนิด หรืออาจมีการเรืองแสงให้สีที่เหมือนกันหรือแตกต่างกันกับสีของอัญมณีได้ การทดสอบการเรืองแสงของอัญมณีใดๆสามารถกระทำได้ภายใต้รังสีอัลตราไวโอเลต ทั้งคลื่นยาว (365 นาโมมิเตอร์) และคลื่นสั้น (254 นาโนมิเตอร์) อัญมณีบางชนิดอาจเรืองแสงได้เฉพาะในชนิดคลื่นสั้นบางชนิดอาจเรืองแสงได้ในชนิดคลื่นยาวหรืออาจจะเรืองแสงได้ในคลื่นทั้งสองชนิด หรือไม่แสดงการเรืองแสงเลย อัญมณีบางชนิดปฏิกิริยาของการเรืองแสงในคลื่นสั้นแสดงให้เห็นได้ชัดเจนหรือสว่างมากกว่าในคลื่นยาว บางชนิดอาจแสดงในทางกลับกัน บางชนิดอาจมีปฏิกิริยาการเรืองแสงเท่าๆ กัน การเรืองแสงของอัญมณีมีประโยชน์ช่วยในการตรวจจำแนกชนิดอัญมณีได้ และในบางครั้งก็มีประโยชน์ช่วยในการตรวจแยกอัญมณีธรรมชาติออกจากอัญมณีสังเคราะห์ ส่วนใหญ่แล้วอัญมณีสังเคราะห์ต่างๆ มักจะมีการเรืองแสงสว่างมาก ในขณะที่อัญมณีธรรมชาติจะไม่ค่อยเรืองแสง เช่น สปิเนล สังเคราะห์สีฟ้าอ่อน ซึ่งทำเทียมเลียนแบบอะความารีน จะแสดงการเรืองแสงสีแดงในรังสีอัลตราไวโอเลตชนิดคลื่นยาวและเรืองแสงสีน้ำเงินอมเขียวในชนิดคลื่นสั้น โดยที่อะความารีนจะไม่เรืองแสงเลย ไพลินสังเคราะห์จะเรืองแสงสีน้ำเงินอมเขียวนวลในชนิดคลื่นสั้นเท่านั้นซึ่งไพลินธรรมชาติมักจะไม่เรืองแสง คุณประโยชน์และความได้เปรียบในการทดสอบอัญมณีโดยทดสอบการเรืองแสง คือทำได้รวดเร็ว ง่าย และไม่ทำให้ตัวอย่างเสียหาย

 

ข้อมูล : วิชาปฎิบัติการวิเคราะห์อัญมณี สาขาวิชา วัสดุศาสตร์ (อัญมณีและเครื่องประดับ) คณะวิทยาศาสตร์   มหาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, About.com
ภาพประกอบ : Khulsey.com, About.com, Gram Faceting

 
หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

คุณสมบัติของแร่ที่เป็นอัญมณี - คุณสมบัติทางกายภาพ

คุณสมบัติของแร่ที่เป็นอัญมณี - คุณสมบัติทางเคมี

3/17/2552 | Posted in , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , | Read More »

ความคิดเห็นล่าสุด

บทความล่าสุด