Loading
250x250 Free Watch

สมัครสมาชิกเพื่อรับข่าวสารทางอีเมล์:

กรุณาตรวจสอบอีเมล์เพื่อยืนยันหลังจากทำการสมัคร

โพสล่าสุด

แบ่งปัน
|

Buy Nothing Day - สุขได้ไม่ต้องซื้อ

เพราะสภาพเศรษฐกิจของบ้านเมืองในช่วงนี้ทำให้ “ขาช็อป” หลายคนถึงกับออกปากว่า “ช็อปไม่ค่อยจะออก” เอาซะเลย ทั้งๆ ที่เทศกาลช็อปปิ้งอย่าง ช่วงวันคริสต์มาสและปีใหม่กำลังใกล้เข้ามา

แต่ถึงอย่างไร “ช็อปเปอร์” (ที่อาจจะคิดมากขึ้นก่อนจะซื้อของแต่ละชิ้น) ก็ยังคับคั่งอยู่ในห้างร้านตลาดต่างๆ ขณะเดียวกันมีคนกลุ่มหนึ่งออกมาเรียกร้องว่า “หยุดซื้อกันบ้างดีไหม?”

เริ่มต้นที่ ‘Buy Nothing Day’

ณ เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา “วันไม่ซื้อ” หรือ “Buy Nothing Day” เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1992 โดยมูลนิธิสื่อแอดบัสเตอร์ ของ Kalle Lasn และ บิลล์ ชมาลซ์ อดีตนักโฆษณาที่เกือบจะสิ้นเนื้อประดาตัวด้วยการช็อปปิ้ง ก่อนที่จะผันตัวเองมาเป็นศิลปินและนักรณรงค์

วันไม่ซื้อของแอดบัสเตอร์ เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการต่อต้านการโฆษณากระแสหลัก ซึ่งมีอำนาจควบคุมและสร้างนิสัยในการบริโภคมากกว่าความจำเป็นให้กับผู้คน และคำว่าไม่ซื้อของพวกเขาไม่ได้หมายความว่า ไม่ซื้ออะไรเลย แต่ให้รู้จักคิดก่อนซื้อ ว่าสิ่งที่ซื้อคือ อะไร จำเป็นไหม ใช้แล้วมีผลกระทบอะไรต่อทั้งตัวเอง สังคม สภาพแวดล้อม ที่สำคัญคือ คุณภาพชีวิตจะดีขึ้นเพราะการซื้อหรือไม่

ด้วยเจตนาเช่นนั้น วันไม่ซื้อจึงถูกกำหนดให้มีขึ้นในช่วงที่ชาวตะวันตกนิยมจับจ่ายใช้สอยมากที่สุด ซึ่งก็คือช่วงวันขอบคุณพระเจ้า (เดือนพ.ย. ของทุกปี) และวันคริสต์มาส (วันที่ 25 ธ.ค. ของทุกปี) นั่นทำให้เกิดผลอีกประการ คือ กระตุ้นเตือนให้ผู้คนได้หยุดคิดถึงความหมายที่แท้จริงของเทศกาลสำคัญเหล่านี้ว่า ไม่ใช่แค่เป็น “วันซื้อแหลก” โดยครั้งหนึ่งทางกลุ่มแอดบัสเตอร์ได้แจกบัตรของขวัญให้ผู้คนในย่านการค้า เพื่อส่งข้อความบอกกับทุกคนว่า ควรมอบเวลาเพื่อเป็นของขวัญให้กับคนที่เรารัก แทนที่จะซื้อของขวัญ

ในมุมมองบวกสุดขั้วเชื่อว่า Buy Nothing Day คือ อย่างน้อยปีละหนึ่งวัน เพื่อทำให้ผู้คนรู้จักคำว่า “พอ”

แนวร่วมกองทัพไม่ซื้อ

16 ปีผ่านไป ปัจจุบันมีแนวร่วมของแอดบัสเตอร์เกิดขึ้นในกว่า 30 ประเทศ รวมถึง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ ปานามา บราซิล อิสราเอล ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฯลฯ ที่ต่างก็มีกิจกรรมรณรงค์วันไม่ซื้อของตนเอง

ในสหรัฐอเมริกา ดินแดนเสรีที่เพิ่งจะมีคนเหยียบกันเสียชีวิตเพราะแย่งกันซื้อสินค้าเซลส์เมื่อเดือนก่อน จอห์น เพอร์รี อดีตนักการตลาดของบริษัท เทคโนโลยีและเพื่อนๆ ในซานฟรานซิสโกซึ่งใช้ชื่อกลุ่มว่า คอมแพกต์ ได้ประกาศร่วมกันว่าตลอดปี 2005 พวกเขาจะไม่ซื้ออะไรใหม่ (ยกเว้นอาหารและชุดชั้นใน) เป็นเวลา 1 ปี เพื่อหยุดยั้งการครอบโดยกระแสบริโภคนิยม ระหว่างนั้นพวกเขาใช้วิธีแลกเปลี่ยน หยิบยืม และซื้อขายของมือสองระหว่างกันในหมู่สมาชิก พวกเขาสามารถผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ โดยมีคนอีกหลายพันคนเห็นด้วยและเข้าร่วม สิ่งที่ได้คือ พวกเขาไม่มีหนี้สิน (มากขึ้น) เก็บเงินได้ (มีเงินให้การกุศลมากขึ้น --- จอห์น เพอร์รี กล่าว) และช่วยสิ่งแวดล้อมด้วยการสร้างขยะน้อยลง เป็นต้น
ขณะที่ จูดิท เลอไวน์ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และนักรณรงค์ด้านเสรีภาพและสันติภาพชาวนิวยอร์ก อดีตนักช็อปผู้ไม่เคยรู้สึกว่า “ฉันมีกระเป๋าและรองเท้ามากเกินไป” เธอสร้างสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น ด้วยการดำรงชีวิตโดยซื้อเฉพาะสินค้าที่จำเป็น หรืออาจจะเรียกได้ว่าสามารถหยุดช็อปได้ตลอดปี 2004 โดยเธอได้นำประสบการณ์ของตัวเองออกมาถ่ายทอดผ่านหนังสือเล่มดังชื่อ Not Buying It-My Year Without Shopping ข้อสรุปหนึ่งที่ จูดิท เลอไวน์ ได้จากทดลองนี้คือ การขีดเส้นกั้นอันชัดเจนระหว่าง “จำเป็น” กับ “ต้องการ”

คิดก่อนซื้อ

การรณรงค์ “ไม่ซื้อ” ในเมืองไทยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว โดยนักรณรงค์กลุ่มเล็กๆ ที่เรียกตัวเองว่า “ต้นกล้า” และ “วีเชงจ์” โดยระหว่างวันที่ 21–28 ธ.ค. นี้ถูกกำหนดให้เป็น “สัปดาห์ไม่ซื้อ” ปีที่ 2

กิตติชัย งามชัยพิสิฐ ผู้อำนวยการสถาบันต้นกล้า องค์กรพัฒนาเอกชนภายใต้มูลนิธิเสถียรโกเศศ นาคะประทีป เล่าว่าความคิดเรื่องสัปดาห์ไม่ซื้อนั้น ได้รับแรงบันดาลใจมาจากวันไม่ซื้อของนักรณรงค์ชาวตะวันตก “หลังจากออกไปรณรงค์วันไม่ซื้อ เราก็ได้พบว่าการรณรงค์ของเราอาจจะเกิดผลกระทบกับพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ปีนี้เราจึงปรับมาเป็นสัปดาห์ไม่ซื้อแทน เพื่อร่วมกันสร้างวิถีการบริโภคที่ใส่ใจ เป็นธรรม และแบ่งปัน”

กิตติชัย ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ความจริงแล้วโครงการนี้ไม่ได้ต้องการให้เกิดการหยุดซื้อโดยสิ้นเชิง เพียงแต่อยากให้ผู้คน “คิด” ก่อน “ซื้อ” “การรณรงค์นี้ ทำให้ผู้คนได้ทบทวนและใส่ใจกับสิ่งของที่พวกเขาจะซื้อว่ามีที่มาอย่างไร ผู้ผลิตเป็นธรรมและถูกต้องหรือไม่ สินค้ามีคุณภาพสมราคาหรือเปล่า นอกจากนั้นยังต้องคำนึงถึงที่ไปคือ สิ่งที่ซื้อมาแล้วจะกลายเป็นขยะเพราะไม่ได้ใช้ หรือใช้แล้วจะทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่”

และเป้าหมายที่นักรณรงค์เหล่านี้พุ่งเป้าไปก็คือ การไม่ซื้อสินค้าจากบรรษัทขนาดใหญ่ ซึ่งมีอำนาจควบคุมชีวิตผู้บริโภคด้วยวิธีการทำให้คนคิดว่า ชีวิตตัวเองมีคุณค่าและแตกต่างจากคนอื่นด้วยการใช้สินค้าแบรนด์เนม “อย่างน้อยที่สุดทุกคนจะได้ทบทวนว่า ชีวิตเราขึ้นอยู่กับบรรษัทขนาดใหญ่แค่ไหน แล้วทางออกคืออะไร เพราะการซื้อทุกครั้งเหมือนเป็นการลงคะแนนเสียง นอกจากจะให้กำไรเขาแล้ว เราก็โหวตให้เขาอยู่ต่อไปเรื่อยๆ และเขาก็จะมีอำนาจควบคุมเรามากขึ้น แต่การซื้อของจากรายย่อย เราจะทำให้พวกเขาเติบโต โดยที่พวกเขาไม่มีอำนาจควบคุมชีวิตเราได้มากเท่ากับบรรษัทขนาดใหญ่ เพื่อให้คนได้คิดว่า ไม่จำเป็นต้องมีแบรนด์เนมก็เท่ได้”

สิ่งหนึ่งที่คนกลุ่มนี้เชื่อคือ ความสุขไม่ต้องหาซื้อ ความสุขไม่เกี่ยวกับรถยนต์ เสื้อผ้า กระเป๋ามียี่ห้อ นอกจากนี้การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ใช่ยารักษาทุกโรค โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมและจิตใจมนุษย์

ไม่ซื้อแล้วทำอะไร

ในมุมมองของผู้นำการรณรงค์สัปดาห์ไม่ซื้ออย่าง กิตติชัย เชื่อว่า การเข้าร่วมสัปดาห์ไม่ซื้อเป็นเรื่องสนุก หากทุกคนลองค้นหาวิธีการที่ไม่บังคับตัวเองจนเกินไป

บางคนอาจจะเลือกไม่ซื้อเฉพาะของที่ไม่เกี่ยวกับปัจจัยสี่ งดของฟุ่มเฟือย อาจจะไม่ซื้อของที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หรือโรงงานที่ทำลายสิ่งแวดล้อม บางคนอาจเลือกไม่เข้าห้างสรรพสินค้า หรือซูเปอร์สโตร์ เข้าแต่ร้านของชำในชุมชน เป็นต้น

“เราไม่ได้ต้องการเสนอให้ไม่มีการซื้ออะไรเลย หรือมีกฎเกณฑ์หยุมหยิมมากมาย เราเพียงต้องการเสนอทางเลือกให้คนสามารถทบทวนกิจกรรมในวิถีชีวิตประจำวัน โดยหวังว่าจะสามารถจุดประกายใหม่ๆ ให้แก่ชีวิต และเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ” กิตติชัย กล่าว

ไม่ว่าคุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อในแนวความคิดของนักรณรงค์ “ไม่ซื้อ” แต่การเข้าไปมีประสบการณ์ในสัปดาห์ไม่ซื้ออาจทำให้คุณ “ได้คิด” บางอย่าง อาจดูเหมือนเป็นการสวนกระแสสังคม ซึ่งอยู่ในภาวะต้องกระตุ้นให้ผู้คนจับจ่ายเพื่อให้วงจรเศรษฐกิจเคลื่อนไหว แต่การแก้ไขปัญหานี้ อาจจะไม่ใช่แค่การบอกให้ผู้คนออกจากบ้านไปช็อปปิ้งอีกต่อไป

จอห์น เพอร์รี ผู้ก่อตั้งกลุ่มคอมแพกต์ให้สัมภาษณ์ว่า “อาจจะดูเหมือนเป็นพวกนอกรีต แต่พวกเราต้องการที่จะสร้างระบบเศรษฐกิจของโลกขึ้นใหม่ เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจจะดำเนินต่อไป เพียงแต่คนจะใช้เงินในแต่ละวันน้อยลงเท่านั้น”

อย่างน้อยที่สุด ปีละหนึ่งวันของ Buy Nothing Day หรือหนึ่งอาทิตย์ของสัปดาห์ไม่ซื้อ จะทำให้ผู้คนได้ขีดเส้นกั้นอันชัดเจนระหว่าง “จำเป็น” กับ “ต้องการ” ได้เรียนรู้คำว่า “พอ” และความสุขที่แท้จริง อาจจะไม่ได้อยู่ที่ “การซื้อ”

อ้างอิง : โพสทูเดย์ - ไลฟ์สไตล์ โดย เพ็ญแข สร้อยทอง

Posted by NonNY~* on 1/04/2552. Filed under , . You can follow any responses to this entry through the RSS 2.0. Feel free to leave a response

1 comments for "Buy Nothing Day - สุขได้ไม่ต้องซื้อ"

  1. ไม่ระบุชื่อ

    ขอบคุณมากค่ะสำหรับข้อมูล

Leave a reply

เชิญร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ความคิดเห็นล่าสุด

บทความล่าสุด