The Real Price of Gold
นิตยสาร National Geographic ฉบับภาษาไทย
ปีที่ 8 ฉบับที่ 90 เดือน มกราคม 2552
นำเสนอสารคดีเกี่ยวกับทองคำ ซึ่งตีแผ่เรื่องราวและแง่มุมที่คุณไม่เคยรู้เกี่ยวกับโลหะล้ำค่าที่ครอบงำจิตใจมนุษย์มาช้านาน ใน “ราคาค่างวดแห่งทองคำ”
เรื่อง บรูก ลาเมอร์ ภาพถ่าย แรนดี โอลสัน
ตัวอย่างบางส่วนจากนิตยสาร…
ควน อาปาซา หลงใหลในทองคำไม่ต่างจากบรรพบุรุษอินคาของเขา ระหว่างที่ไต่ลงไปตามอุโมงค์น้ำแข็ง ที่ความสูง 5,100 เมตร บนเทือกเขาแอนดีส ในเปรู คนงานเหมืองวัย 44 ปีเคี้ยวมวนใบโคคาเพื่อรับมือกับความหิวและความเหนื่อยล้าที่รออยู่เบื้องหน้า ทุกๆเดือนอาปาซาตรากตรำทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างติดต่อกัน 30 วัน ในเหมืองลึกใต้โตรกธารน้ำแข็งเหนือลารินโกนาดา เมืองที่สูงที่สุดในโลก ตลอด 30 วันนี้เขาต้องเผชิญกับภยันตรายที่คร่าชีวิตเพื่อนร่วมอาชีพมาแล้วมากมาย ทั้งระเบิด แก๊สพิษ อุโมงค์ถล่ม เพียงเพื่อค้นหาทองคำที่โลกปรารถนา อาปาซาทำทุกอย่างโดยไม่ได้รับค่าจ้างเพื่อรอวันนี้ วันที่ 31 ของเดือนที่เขาและเพื่อนคนงานจะได้ เข้างานเพียงกะเดียวรวมเวลาประมาณสี่ชั่วโมงหรือนานกว่านั้นเล็กน้อย เพื่อแบกก้อนหินทั้งเล็กใหญ่ให้ได้มากที่สุดเท่าที่ไหล่อันอ่อนล้าจะรับไหวออกจากเหมือง ภายใต้ระบบเสี่ยงโชคดั้งเดิมที่เรียกว่า กาชอร์เรโอ (cachorreo) ซึ่งยังคงใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้ในแถบเทือกเขาแอนดีส กระสอบบรรจุหินเหล่านี้ก็คือค่าจ้างของพวกเขา เพราะอาจมีทองคำปะปนอยู่ในเนื้อหินบ้าง แม้ว่าบ่อยครั้งจะน้อยจนแทบไม่มีเลยก็ตาม อาปาซายังคงรอคอยโชคที่อาจมาถึง เขายิ้มกว้างอวดฟันทองซี่หนึ่งและบอกว่า "ไม่แน่ครับ วันนี้อาจเป็นวันสุดเฮงก็ได้" เพื่อเสริมโชค อาปาซาได้ทำพิธี “เซ่นสรวงแผ่นดิน” ด้วยการวางเหล้าพื้นเมืองปิสโกหนึ่งขวดใกล้ปากทางเข้าเหมือง สอดใบโคคาสองสามใบไว้ใต้ก้อนหิน และเมื่อหลายเดือนก่อนยังมอบไก่รุ่นกระทงตัวหนึ่งให้หมอผีบูชายัญบนยอดเขาศักดิ์สิทธิ์ มาตอนนี้ ขณะมุ่งหน้าสู่อุโมงค์ เขาพึมพำบทสวดในภาษาเกชัวเบาๆเพื่อบูชารุกขเทวดาผู้ปกป้องภูผาและทองคำทั้งหมดที่ซ่อนอยู่ อาปาซาพยักเพยิดไปทางธารน้ำแข็งที่ทอดตัวคดเคี้ยวสูงตระหง่านเหนือเหมือง "นั่นน่ะเจ้าหญิงนิทราของเราเลยครับ ถ้าเจ้าหญิงไม่ประทานพร เราอาจไม่มีวันเจอทองคำและอาจเอาชีวิตไม่รอดจากเหมืองก็ได้"
แม้ที่นี่จะไม่ใช่เอลโดราโด (El Dorado) ดินแดนแห่งทองคำในตำนาน แต่กว่า 500 ปีที่ผ่านมา สายแร่สีทองที่ทอประกายระยิบระยับใต้ธารน้ำแข็งเหนือระดับทะเลห้ากิโลเมตร ได้ดึงดูดผู้คนมากมายมาสู่พื้นที่แห่งนี้ในเปรู หนึ่งในกลุ่มแรกๆที่มาถึงคือชาวอินคา ผู้เปรียบเปรยโลหะอันแวววาวนี้ว่าเป็นดั่ง "หยาดเหงื่อของสุริยเทพ" กลุ่มต่อมาคือชาวสเปนที่ถูกแรงปรารถนาในทองคำและเงินโหมกระพือให้ยึดครองโลกใหม่ แต่เพิ่งจะเร็วๆนี้นี่เองที่ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นอย่างพรวดพราดถึงร้อยละ 235 ในช่วงเวลาแปดปี ที่ล่อใจผู้คนไม่ต่ำกว่า 30,000 ชีวิตให้หลั่งไหลมายังลารินโกนาดา แปรสภาพแคมป์นักแสวงโชคอันเงียบเหงา ให้กลายเป็นชุมชนแออัดบนพื้นที่สูงสุดของโลก ดินแดนอันห่างไกลไร้ผู้คนกลับลุกโชนด้วยโชคลาภและความสิ้นหวัง ทับทวีด้วยมลพิษจากการทำเหมืองและสภาพไร้ขื่อแป ภาพเหล่านี้อาจฟังดูเหมือนยุคมืด แต่ลารินโกนาดาคือหนึ่งในพรมแดนแห่งปรากฏการณ์สมัยใหม่ ขนานแท้ นั่นคือ กระแสตื่นทองในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด ไม่มีแร่ธาตุใด ที่จะยั่วยวนและทรมานจินตนาการของมนุษย์ได้มากเท่าโลหะแวววาวที่มีสัญลักษณ์ทางเคมีว่า Au อีกแล้ว
เป็นเวลาหลายพันปีที่ความปรารถนาครอบครองทองคำได้ผลักดันมนุษย์ไปสู่สถานการณ์สุดโต่งครั้งแล้วครั้งเล่า ตั้งแต่สงครามและการยึดครองดินแดน การปกป้องจักรวรรดิและสกุลเงิน ไปจนถึงการทลายขุนเขาและแผ้วถางป่าจนราพณาสูร หากในความเป็นจริงทองคำหาได้มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ เพราะมีประโยชน์ใช้สอยโดยตรงเพียงน้อยนิด ถึงกระนั้นคุณสมบัติหลักอันโดดเด่นของทองคำ อันได้แก่ ความหนาแน่นและความสามารถในการขึ้นรูปทรง รวมทั้งความแวววาวที่ไม่อาจลบเลือน ทำให้โลหะชนิดนี้กลายเป็นหนึ่งในโภคภัณฑ์ (commodity) ที่โลกต้องการมากที่สุด อีกทั้งเป็นสัญลักษณ์แห่งความงามอันเลิศเลอ ความมั่งคั่ง และความอมตะ ไล่เลียงมาตั้งแต่ฟาโรห์ (ผู้ทรงยืนกรานให้ฝังพระวรกายในสิ่งที่เรียกว่า “เนื้อหนังมังสาแห่งพระผู้เป็นเจ้า”) นักขุดทองรุ่นบุกเบิกเมื่อปี 1849 (ผู้พลิกโฉมดินแดนฝั่งตะวันตกของอเมริกาด้วยความคลั่งไคล้ในกระแสตื่นทองของพวกเขา) ไปจนถึงบรรดานักการเงิน (ผู้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเซอร์ไอแซก นิวตัน ให้ใช้ทองคำเป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจโลก) เกือบทุกสังคมในทุกยุคทุกสมัยต่างหยิบยื่นพลังอำนาจอันลี้ลับให้กับทองคำ ความคลั่งไคล้ในทองคำของมนุษยชาติไม่น่ายืนยงมาจนถึงยุคใหม่ได้ มีวัฒนธรรมเพียงหยิบมือที่ยังเชื่อว่าทองคำนำมาซึ่งชีวิตอมตะ และทุกประเทศทั่วโลกต่างยกเลิกการใช้ทองคำเป็นมาตรฐานเงินตรากันหมดแล้ว (สหรัฐฯเป็นชาติสุดท้ายที่ยกเลิกในปี 1971) ทว่าความลุ่มหลงในทองคำไม่เพียงดำรงอยู่ หากยังแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม อันเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนในระบบเศรษฐกิจโลก ราคาทองคำทะยานจาก 271 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อออนซ์เมื่อวันที่ 10 กันยายน ปี 2001 เป็น 1,023 ดอลลาร์ในเดือนมีนาคม ปี 2008 และอาจพุ่งสูงกว่านี้ได้อีก นอกเหนือจากความหรูหราฟู่ฟ่าแล้ว ทองคำยังฟื้นบทบาทในฐานะสินทรัพย์รองรังชั้นยอดในช่วงวิกฤติอีกด้วย ราคาทองคำที่พุ่งพรวดพราดในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากเหตุการณ์ก่อการร้ายเมื่อ 11 กันยายน ปี 2001 ก่อนจะถูกซ้ำเติมด้วยการอ่อนค่าลงของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และความวิตกกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ล่าสุดเมื่อปี 2007 ความต้องการทองคำมีสูงกว่ากำลังการผลิตของเหมืองถึงร้อยละ 59 ปีเตอร์ แอล. เบิร์นสไตน์ ผู้เขียน อำนาจแห่งทองคำ (The Power of Gold) กล่าวว่า "ทองคำมีมนตร์สะกดเช่นนี้ตลอดมา แต่ดูเหมือนไม่มีใครบอกได้ว่า แท้จริงแล้วเราครอบครองทองคำ หรือทองคำครอบครองเรากันแน่" ขณะที่นักลงทุนหันไปหากองทุนที่มีทองคำหนุนหลัง แต่ความต้องการทองคำของอุตสาหกรรมเครื่องประดับยังคงมีสัดส่วนถึงสองในสาม คิดเป็นมูลค่าถึง 53,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2007 ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ในสหรัฐฯนักรณรงค์เคลื่อนไหวที่ออกมาผลักดันแคมเปญ "ต่อต้านทองคำสกปรก" มีส่วนโน้มน้าวให้ร้านค้าอัญมณีชั้นนำเลิกจำหน่ายทองคำจากเหมืองที่ก่อผลเสียรุนแรงต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทว่าความกังวลดังกล่าวไม่อาจสั่นคลอนชาติที่เป็นลูกค้ารายใหญ่อย่างอินเดีย ที่ซึ่งความลุ่มหลงในทองคำได้ถักทอเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม และจีนที่แซงหน้าสหรัฐฯขึ้นเป็นผู้ซื้อเครื่องประดับทองคำรายใหญ่อันดับสองของโลกในปี 2007
ความล้ำค่าของทองคำนำมาซึ่งหายนะต่อมวลมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ปัจจัยหรือความท้าทายหนึ่งที่ทำให้ทองคำเป็นที่หมายปองก็คือปริมาณที่มีอยู่น้อยนิด ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีทองคำเพียง 161,000 ตันเท่านั้นที่ถูกสกัดออกมา หากคิดเป็นปริมาณก็แทบไม่พอที่จะถมสระว่ายน้ำโอลิมปิก ให้เต็มทั้งสองสระ ในจำนวนนี้กว่าครึ่งเป็นทองคำที่ขุดได้ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ทุกวันนี้แหล่งแร่ทองคำขนาดใหญ่กำลังร่อยหรอลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่แหล่งใหม่ๆนับวันมีแต่จะหายากขึ้นทุกที ทองคำส่วนใหญ่ที่เหลือพอให้ทำเหมืองได้ในปัจจุบันส่วนมากเป็นเพียงสายแร่ที่ฝังตัวในพื้นที่ห่างไกลและเปราะบาง ซึ่งท้ายที่สุดคงไม่ต่างอะไรจากคำเชื้อเชิญที่นำไปสู่การทำลายล้าง ถึงกระนั้นคนงานเหมืองทั้งรายเล็กและรายใหญ่ต่างยินยอมพร้อมใจที่จะตอบรับคำเชิญนั้น ปลายด้านหนึ่งของกระแสตื่นทองยุคใหม่ คือกองทัพแรงงานต่างด้าวผู้ยากไร้ที่ทะลักล้นไปสู่เหมืองขนาดเล็กเช่นที่ลารินโกนาดา รายงานจากองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูนิโด (United Nations Industrial Development Organization: UNIDO) ระบุว่า ทั่วโลกมีแรงงานเหมืองพื้นบ้านอยู่ระหว่าง 10 ถึง 15 ล้านคน แรงงานที่กระจัดกระจายกันอยู่ตั้งแต่มองโกเลียไปจนบราซิลเหล่านี้ใช้วิธีทำเหมืองแบบดั้งเดิม ซึ่งแทบไม่เปลี่ยนแปลงไปเลยตลอดหลายร้อยปี พวกเขาไม่เพียงผลิตทองคำได้ราวร้อยละ 25 ของผลิตผลทองคำในตลาดโลก แต่ยังหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนร่วมร้อยล้านคน นับเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อปากท้องของผู้คนเหล่านี้อย่างยิ่งยวด แต่ก็เป็นอันตรายถึงชีวิตด้วยเช่นกัน
ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในช่วงสิบปีที่ผ่านมา กลุ่มติดอาวุธในพื้นที่ซึ่งรบพุ่งเพื่อควบคุมเหมืองทองและเส้นทางการค้า มักข่มขู่คุกคามและกระทำทารุณกรรมต่อคนงานเหมือง อีกทั้งนำกำไรที่ได้จากทองคำมาซื้ออาวุธและสนับสนุนกิจกรรมของกลุ่ม ในจังหวัดกาลิมันตันตะวันออกของอินโดนีเซีย กองทัพโดยความร่วมมือกับหน่วยรักษาความปลอดภัยของบริษัททองคำแองโกล-ออสเตรเลีย ได้ใช้กำลังขับไล่คนงานเหมืองรายย่อยออกจากพื้นที่ รวมทั้งเผาทำลายบ้านเรือนในชุมชนเพื่อเปิดทางให้การทำเหมืองเต็มรูปแบบ ขณะที่ผู้ประท้วงหลายพันคนที่ต่อต้านการขยายเหมืองในเมืองกาฮามาร์กาของเปรูต้องเผชิญกับแก๊สน้ำตาและการใช้กำลังปราบปรามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะเดียวกันผลกระทบจากสารปรอทก็คุกคามชีวิตคนงานเหมืองขนาดเล็กไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะส่วนใหญ่มักนำสารปรอทมาใช้ในการแยกเนื้อทองออกจากหิน ก่อให้เกิดมลพิษทั้งในรูปแก๊สและของเหลว ยูนิโดประเมินว่าหนึ่งในสามของสารปรอทที่มนุษย์ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมมาจากการทำเหมืองทองพื้นบ้าน ด้วยเหตุนี้เมืองอย่างลารินโกนาโดจึงมีสภาพไม่ต่างอะไรจากนรกบนดิน ดูเหมือนการเสาะแสวงหาโลหะที่เชื่อกันว่านำนำซึ่งความอมตะ กลับกำลังนำพาความตายมาสู่คนงานเหมืองเร็วขึ้น ปลายอีกด้านหนึ่งคือเหมืองเปิดขนาดใหญ่ ซึ่งดำเนินงานโดยบริษัทเหมืองแร่รายใหญ่ที่สุดของโลกหลายราย เหมืองที่ใช้กองทัพเครื่องจักรกลขนาดมหึมาและสร้างบาดแผลลึกให้พื้นปฐพีเหล่านี้ เป็นผู้ผลิตทองคำสามในสี่ของผลผลิตทองคำทั่วโลก ทั้งยังสร้างงาน นำเทคโนโลยี และการพัฒนาไปสู่ดินแดนที่เคยถูกหลงลืม แม้กระนั้นก็ต้องยอมรับความจริงว่า เมื่อเทียบน้ำหนักต่อออนซ์แล้ว การทำเหมืองทองก่อให้เกิดของเสียมากกว่าโลหะอื่นๆ อัตราส่วนที่ต่างกันอย่างสุดขั้วระหว่างทองคำที่สกัดได้กับของเสียที่เกิดขึ้น เห็นได้ชัดเจนจากร่องรอยการขุดเจาะพื้นดินที่มีขนาดใหญ่โตมโหฬารเสียจนมองเห็นได้จากห้วงอวกาศ ทว่าอนุภาคโลหะที่ผู้คนขุดหานั้นกลับเล็กจนแทบมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แม้แต่เหมืองทองคำต้นแบบเช่นเหมืองบาตูฮีเจาในอินโดนีเซียตะวันออกของบริษัทนิวมอนต์ไมน์นิงคอร์ปอเรชัน ที่แม้จะทุ่มงบประมาณมหาศาลถึง 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม เพราะการขุดหาทองเพียงหนึ่งออนซ์หรือเท่ากับแหวนแต่งงานหนึ่งวง จำเป็นต้องขนย้ายหินและสินแร่มากกว่า 250 ตัน
นูร์ เปียห์ หญิงสาวที่เติบโตขึ้น บนเกาะซุมบาวาอันห่างไกลของอินโดนีเซีย ได้ยินได้ฟังเรื่องราวของขุมทองที่ฝังอยู่ใต้ขุนเขากลางป่าดิบชื้นมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ เรื่องราวเหล่านี้เป็นเหมือนตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมา จนกระทั่งนักธรณีวิทยาจากบริษัทนิวมอนต์ไมน์นิงคอร์ปอเรชันของสหรัฐฯ ค้นพบก้อนหินสีเขียวแปลกตาจากภูเขาไฟหมดพลังลูกหนึ่งที่อยู่ห่างจากบ้านเธอ 12 กิโลเมตร ก้อนหินที่มีสีเขียวสดเหมือนมอสส์นี้ชี้ว่ามีแร่ทองแดงผสมอยู่ ซึ่งบางครั้งพบร่วมกับทองคำ จากนั้นไม่นาน นิวมอนต์ก็เริ่มสร้างเหมืองและตั้งชื่อว่า บาตูฮีเจา แปลว่า "หินสีเขียว" นูร์ เปียห์ ซึ่งตอนนั้นอายุ 24 ปี สมัครงานตามใบประกาศของนิวมอนต์ในตำแหน่ง "โอเปอเรเตอร์" โดยคิดว่าบุคลิกและการพูดจาที่ดูเป็นมิตรของเธอคงช่วยให้ได้งานรับโทรศัพท์ แต่ปรากฏว่าเมื่อบุตรสาวของอิหม่ามผู้นี้ไปถึงบริษัทเพื่อเข้ารับการฝึกงาน เจ้านายกลับพาไปดูห้องทำงานซึ่งต่างไปจากที่คิด เพราะกลายเป็นห้องคนขับของรถตักแคเทอพิลลาร์ 793 ซึ่งเป็นรถตักขนาดใหญ่ที่สุดในโลกรุ่นหนึ่ง สูง 6 เมตรและยาว 13 เมตร ใหญ่กว่าบ้านทั้งหลังของเธอเสียอีก ลำพังแค่ล้อรถก็สูงกว่าเธอถึงเท่าตัวแล้ว นูร์ เปียห์ เท้าความหลังว่า “แค่เห็น ก็กลัวแล้วล่ะค่ะ” ยังมีเรื่องให้เธอต้องตกใจอีก เมื่อได้เห็นการขุดเหมืองเป็นครั้งแรก เธอเล่าว่า “นี่เขาขุดเปลือกโลกกันเลยเชียวหรือ ฉันได้แต่คิดว่าอะไรก็ตามที่ทำเช่นนี้ได้ต้องทรงพลังมหาศาล" สิบปีต่อมา นูร์ เปียห์ กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของพลังที่เธอพูดถึง คุณแม่ลูกสองขยับผ้าคลุมหน้าสีชมพูให้เข้าที่ ก่อนจะส่งยิ้มอายๆ ขณะเร่งเครื่อง 2,337 แรงม้าของรถแคเทอพิลลาร์ และเดินหน้าเข้าสู่อุโมงค์ในเหมืองบาตูฮีเจา...
อ่านเรื่องราวทั้งหมดอย่างจุใจได้จาก นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย หรือ อ่านทั้งหมด (ภาษาอังกฤษ)
ข้อมูลและภาพจาก National Geographic Thailand
ขอบคุณคับ
ขอบคุณมากครับ